ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.แจงหลังบอร์ดสปสช.ยังไม่พิจารณาปรับข้อเสนอจัดสรรงบบัตรทอง ถึงเวลาที่ต้องตั้งคำถามแล้วว่าจะตัดสินใจอย่างไร จะคีย์ข้อมูลเพื่อรับเงิน ถูกตัดก็ไม่เป็นไรหรือไม่ ชี้เหลือเวลา 9 เดือนจะเกษียณ หลังจากนั้นจะอยู่กันเหมือนเดิมหรือไม่ เผยตัวเลขเสนอเข้าบอร์ดเห็นชัดว่ามีรพ.ได้รับผลกระทบจากสปสช. และได้เสนอวิธีแก้ปัญหาขาดทุนให้ ชี้ไม่เข้าใจข้อเสนอบัญชีเสมือนว่าจะทำอย่างไร ด้านประชาคมสธ.เตรียมกำหนดท่าที

9 ธ.ค. 57 เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศว่า สิ่งที่กำลังคิด หลังจากมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) ยังไม่พิจารณาปรับปรุงระบบการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ก็คือ หน่วยบริการสังกัดสธ.จะเดินหน้าอย่างไรต่อกับการจัดการงบเหมาจ่ายรายหัว 2,895 บาท หรือจะทำงานตามเดิมด้วยการส่งรายงานให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อย่างเดียวเหมือนในอดีต

“ที่ประชุมบอร์ดสปสช. มีข้อเสนอให้เริ่มข้อเสนอเราในไตรมาสที่ 3 ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว เมื่อล่วงไปถึงไตรมาสที่ 3 ใครจะไปทำ ถึงเวลาที่ทุกคนตั้งคำถามคำถามกับตัวเองว่าจะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร จะคีย์ข้อมูลเข้าไปเหมือนเดิมเพื่อรับเงิน ถูกตัดก็ไม่เป็นไรอย่างนั้นหรือ ผมเหลือเวลาอีก 9 เดือนเท่านั้นก่อนเกษียณ คำถามก็คือหลังจากผมไปแล้วจะอยู่กันเหมือนเดิมหรือ” นพ.ณรงค์กล่าว

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า หลังประชุมบอร์ดสปสช. สื่อลงข่าวว่า “รัฐมนตรีหักปลัด” ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ใช่ข้อเสนอจากปลัดเพียงคนเดียว แต่เป็นข้อเสนอจากสธ.ทั้งหมด รวมถึงอนุกรรมการการเงินการคลัง และผู้แทนกระทรวงการคลัง ในบอร์ดสปสช.ก็เห็นตรงกัน ซึ่งได้เสนอให้บอร์ดสปสช.โหวตเพื่อให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ประธานบอร์ดสปสช.กลับได้ข้อสรุปว่าไม่ให้โหวต อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันว่าทุกหน่วยบริการสังกัดสธ. จะเดินหน้าให้บริการประชาชนตามปกติต่อไป

หลังบรรยายจบ นพ.ณรงค์ ได้เปิดแถลงข่าว ระบุว่า ตัวเลขที่ได้นำเสนอในบอร์ดสปสช.แสดงให้เห็นชัดว่า มีโรงพยาบาลหลายแห่งได้รับผลกระทบจากการจัดการของสปสช. และวิธีการที่นำเสนอจะแก้ปัญหาการขาดทุนได้ เพราะสามารถเกลี่ยงบประมาณภายในเขตให้โรงพยาบาลใหญ่ช่วยโรงพยาบาลเล็กได้ โดยทุกเขตบริการสุขภาพ มีความพร้อมในการทำตามข้อเสนอสธ. และได้ลองปรับเกลี่ยงบประมาณตามข้อเสนอแล้วทุกเขตบริการเป็นเวลาหลายเดือน จนได้ผลเป็นอย่างดี

ส่วนที่บอร์ดสปสช.มีข้อเสนอให้ทำ “บัญชีเสมือน” นั้น ยอมรับตรงๆ ว่าไม่รู้ว่าคืออะไร และต้องปฏิบัติตามอย่างไร ส่วนหลังจากนี้ จะมีแนวทางในการบริหารจัดการอย่างไรนั้น ก็คงต้องแล้วแต่ประธานบอร์ดสปสช.จะตัดสินใจต่อไป

ขณะที่ นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และรักษาการประธานประชาคมสธ. กล่าวว่า การบริหารตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ได้ก้าวล่วงหน่วยบริการทุกระดับ ด้วยการระบุให้หน่วยบริการต้องจัดสรรงบประมาณตามสปสช.เท่านั้น และที่ผ่านมา การทำงานของโรงพยาบาลได้ให้ความร่วมมือทำตามสปสช.มาตลอด แต่เมื่อถึงเวลารับรางวัล ก็เป็นสปสช.ที่ขึ้นไปรับรางวัลทุกครั้ง ซึ่งหลังจากนี้ ประชาคมคงรวมตัวกำหนดท่าทีต่อไป แต่ยืนยันว่าจะไม่ให้กระทบกับประชาชน

ด้าน นพ.สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี และประธานชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กล่าวว่า ผิดหวังกับมติบอร์ดสปสช. เพราะก่อนหน้านี้ได้ให้ความร่วมมือผ่านการเจรจามาโดยตลอด และยืนยันว่าถ้ายังใช้รูปแบบเดิมในการเดินหน้าต่อไปคงจะลำบาก