ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ปรียนันท์” ลุ้นศาลฎีการับฟ้องทางแพ่ง คดี รพ.เอกชน ทำคลอดลูกคนแรกแต่พิการ หลังต่อสู้ยาวนานกว่า 23 ปี ย้ำไม่ได้เอาผิดทางอาญา แต่ต้องการให้เกิดการสืบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น 23 ปีที่แล้ว ชี้ถ้าศาลไม่รับฟ้องคงต้องทำใจว่าแม่ได้ต่อสู้เพื่อลูกอย่างถึงที่สุดแล้ว

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา

10 ธ.ค.57 นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการฟ้องร้องทางแพ่งต่อศาลในกรณีรพ.เอกชนแห่งหนึ่งทำคลอดลูกคนแรกเมื่อปี 2534 หรือเมื่อ 23 ปีที่แล้วทำให้ทารกเกิดความผิดปกติ ว่า ในวันพรุ่งนี้ (11 ธ.ค.57) ศาลฎีกาจะพิจารณาว่าจะรับฟ้องคดีดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งหากศาลรับฟ้องก็จะต้องดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 23 ปีก่อนต่อไปตามกระบวนการ แต่ถ้าศาลไม่รับฟ้องก็คงต้องทำใจ เพราะตนได้ต่อสู้เพื่อลูกอย่างถึงที่สุดแล้ว แต่จะหาช่องทางในการดำเนินการเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด

นางปรียนันท์ กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อ 23 ปีก่อน จนทำให้ต้องตัดสินใจฟ้องทางแพ่งรพ.เอกชนที่ให้บริการทำคลอดแก่ตนเอง เพราะตนตั้งท้องลูกคนแรกซึ่งได้ไปฝากท้องกับรพ.ดังกล่าว เข้ารับการตรวจครรภ์ตามนัดหมายตลอด พบว่าลูกก็แข็งแรงสมบูรณ์ดีทั้งแม่และทารกในครรภ์ แต่ตัวเองค่อนข้างมีความเสี่ยงอยู่เพราะ 1.เป็นท้องแรก 2.ทารกมีน้ำหนักตัวมาก 4,050 กรัม และ 3.อยู่ในท่าคลอดที่ผิดปกติ คือท่านอนหงาย เป็นต้น ซึ่งเมื่อช่วงเย็นวันที่ 29 ม.ค.2534 ตนมีอาการน้ำเดินจึงได้ไปหารพ.เพื่อรอคลอด แต่เนื่องจากช่วงเวลานั้นแพทย์ติดภาระต้องตรวจคนไข้หลายรายไม่ได้มาดูแลจึงไม่ทราบว่าทารกอยู่ในท่าที่ผิดปกติ แต่สั่งเจ้าหน้าที่รพ.ให้ยาเร่งคลอดกับตนผ่านโทรศัพท์ จากนั้นประมาณ 5 ทุ่มแพทย์ได้เอาเครื่องดูดหัวทารกออกจากครรภ์มาใช้ แต่ด้วยความที่ทารกอยู่ในท่าที่ผิดปกติเครื่องจึงดูดไปที่บริเวณท้ายทาย แต่ก็ดูดไม่ออก แต่บริเวณท้ายทอยเกิดการห้อเลือดก้อนใหญ่ขึ้น

ต่อมาแพทย์ได้เปลี่ยนวิธีการทำคลอดมาเป็นการผ่าตัด ซึ่งหลังการผ่าตัดแล้วก้อนห้อเลือดละลายแต่ทารกตัวเหลืองมาก รักษาด้วยการส่องไฟก็ไม่ลด กุมารแพทย์จึงทำการถ่ายเลือดผ่านทางสายสะดือ แต่หลังการถ่ายเลือดแล้วเด็กเกิดภาวะติดเชื้ออย่างรุนแรง เม็ดเลือดขาวขึ้น 20,200 ตัวและมีไข้สูง ต้องเช็ดตัวเพื่อลดไข้ทุกวัน น้ำหนักตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และสะดือแฉะ มีหนอง ร้องไห้ตลอดเวลา แต่แพทย์ไม่ได้ให้ยาปฏิชีวนะทำให้หนองเข้าไปกินข้อสะโพกซ้ายจนเสียหายไปหมด รวมไปถึงทำความเสียหายต่อข้อแขนซ้าย ตรงกับตำราแพทย์ที่ระบุว่าการถ่ายเลือดทางสายสะดือให้ระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อที่ข้อสะโพก โดยเฉพาะทารกที่มีประวัติการทำคลอดยาก จนทำให้ลูกของตนกลายเป็นเด็กที่ไม่มีข้อสะโพกซ้าย ข้อแขนซ้าย เดินกะเผลก ขาสั้น ยาวไม่เท่ากัน กระดูกสันหลังคด และกระดูกต้นแขนหัก นั่งขัดสมาธิไม่ได้ ปวดขาเรื้อรังต้องทุบแรง ๆ ให้ทุกคืนก่อนนอนนานนับ 10 ปี แขนซ้ายสั้นกว่าแขนขวา อ่อนแรงกว่าและแกว่งในระดับ 360 องศาไม่ได้

ทั้งนี้ลูกชายต้องเข้ารับการผ่าตัดข้อสะโพกซ้ายตั้งแต่อายุได้ขวบกว่าถึง 3 ขวบครึ่งหลายครั้ง ต้องใส่เฝือกตั้งแต่หน้าอกถึงปลายขานาน 5-8 เดือนหลายครั้ง ได้รับความทุกข์ทรมานมาก อนาคตต้องผ่าตัดใส่ข้อสะโพกเทียม ต้องผ่าทุก 10 ปี และการที่มีประวัติเคยติดเชื้อที่กระดูกจึงไม่สามารถใส่ข้อเหล็กในสิทธิบัตรทองได้ จะต้องใส่ข้อไททาเนียมหรือข้อเซรามิกที่มีราคาสูง ซึ่งไม่ได้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) ทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุให้ตนต้องถามหาความรับผิดชอบจากรพ. การดำเนินการคือร้องเรียนทุกหน่วยงานในประเทศไทย รวมถึงแพทยสภา ใช้เวลาในการพิจารณา 3 ปี ซึ่งต่อมาชี้ว่าคดีไม่มีมูล แพทย์ให้การรักษาตามมาตรฐานแล้วโดยที่ไม่เคยเรียกตนเข้าไปให้ข้อมูลเลย แต่เชื่อตามรายงานเท็จของรพ.ที่ระบุว่าทารกเป็นปกติ

รพ.ปฏิเสธการรับผิดชอบหลังจากที่ตนอุ้มลูกไปหาเขา 4-5 ครั้ง ร้องเรียนทุกหน่วยงานก็ไม่สามารถทำให้รพ.รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจนตนได้ไปร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ใช้เวลาในการพิจารณา 5 ปี และตัดสินว่ารพ.มีความผิดจริง แพทยสภาก็มีความผิดด้วย แต่เนื่องจากกรรมการสิทธิไม่มีอำนาจไปบังคับให้รพ.รับผิดชอบได้ ตนจึงฟ้องรพ.ต่อศาลชั้นต้นเมื่อปี 2539 ต่อสู้คดี 8 ปี ทั้งสามศาลยกฟ้องเนื่องจากคดีหมดอายุความทางแพ่ง โดยที่ตนยังไม่ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริง หลังจากนั้นจึงได้เรียกร้องความเป็นธรรมมาตลอด ซึ่งต่อมาเมื่อรพ.เอกชนแห่งนั้นเปลี่ยนเจ้าของ จึงได้สั่งให้ฟ้องอาญาตนกลับ ใช้เวลาในการต่อสู้คดีนาน 5 ปีศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องว่าตนไม่มีความผิด นอกจากนี้ยังฟ้องแพ่งตนฐานทำให้รพ.เสียชื่อเสียง โดยเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวน 310 ล้านบาท แต่ลดให้เหลือเพียง100 ล้านบาท สู้คดีนาน 11 ปี ศาลชั้นต้นยกฟ้องว่าไม่มีความผิด

“พอลูกพี่อายุได้ 18 ปี ปวดหลังร้าวลงไปที่ขารุนแรงกว่าเดิม พอทำสแกนพบว่ากระดูกสันหลังทรุดลงมากดทับไขสันหลังและเส้นประสาท ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลกันของขาทั้ง 2 ข้าง เมื่อเกิดความเสียหายเพิ่ม ตนจึงได้ไปฟ้องรพ.ต่อศาลอีกครั้ง ตามมาตรา 13 ของพ.ร.บ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค พ.ศ.2551 เมื่อปี 2552 ศาลชั้นต้นพิจารณาว่าเป็นการฟ้องซ้ำ คดีหมดอายุความจึงให้ยกฟ้อง ต่อมาปี 2554 ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่าไม่ได้เป็นการฟ้องซ้ำ แต่คดีหมดอายุความไปแล้วจึงให้ยกฟ้อง ตอนนี้ 5 ปีกว่าแล้ว พรุ่งนี้ศาลฎีกาจะพิจารณาว่าจะรับฟ้องหรือไม่ฟ้องครั้งใหม่นี้ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แม่ก็ต่อสู้เพื่อลูกจนสุดกำลังแล้ว” นางปรียนันท์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตลอดระยะเวลาที่ฝากครรภ์แพทย์น่าจะทราบว่าทารกมีน้ำหนักตัวมาก มีความเสี่ยงในการทำคลอดทำไมจึงไม่คลอดด้วยวิธีการผ่าตัดตั้งแต่แรก นางปรียนันท์ กล่าวว่า ตลอดเวลาการฝากครรภ์ได้สนทนากับแพทย์แบบถามคำตอบคำ ไม่เคยบอกตนว่าลูกตัวโต ไปพบก็มีแต่จ่ายยาให้ และทักว่าท้องของตนแตกลายงาแล้วเท่านั้น อย่างไรก็ตามตนได้สอบถามแล้วว่ากรณีนี้ต้องผ่าคลอดหรือไม่ ซึ่งแพทย์ก็ตอบกลับมาว่าเด็กกลับหัวแล้ว เชิงกรานตนกว้างพอ คลอดธรรมชาติก็ได้ แต่พอเบิกความแพทย์กลับให้การว่าตนไม่ยอมผ่าตัด ยืนยันว่าจะคลอดเองตามธรรมชาติ และเบิกความว่าตนสั่งให้เอาเครื่องมาดูด ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะตอนนั้นตนไม่มีความรู้เรื่องนี้ ว่าตามแพทย์ทุกอย่าง ตนค่อนข้างรับไม่ได้ที่แพทย์โยนความผิดให้ผู้ป่วย แต่ไม่ได้ต้องการเอาผิดทางอาญา หวังว่าศาลจะดำเนินทางแพ่ง เพราะไม่อยากให้มีใครติดคุก