ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ทูเดย์ : ศึกในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปะทุขึ้นอีกครั้ง เมื่อ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ตัดสินใจเบรกข้อเสนอของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ที่ให้กระจายเงินกองทุน 30 บาท ลงเขตบริการสุขภาพกลางที่ประชุมบอร์ด สปสช.

รู้กันดีว่าข้อเสนอของหมอณรงค์ถูกปั้นขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ถูกเบรกโดย นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ อดีต รมว.สธ. อย่างไรก็ตาม วันที่หมอณรงค์ยึดอำนาจจากพรรคเพื่อไทย และมีชื่อเป็นแคนดิเดตเบอร์ 1 ในตำแหน่ง รมว.สธ. การดึงอำนาจเงินกองทุน 30 บาท กว่า 1.2 แสนล้าน คืนจาก สปสช. ก็ถูกใช้เป็นประเด็นที่หมอณรงค์ใช้หาเสียงปลุกแนวร่วมภายในกระทรวง

สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น สร้างความผิดหวังให้หมอณรงค์ เมื่อ คสช.เบรกข้อเสนอและให้หันไปเดินหน้าสร้างเขตสุขภาพแบบใหม่โดยไม่ต้องยุ่งกับเรื่องเงินแทน และหมอณรงค์ก็ไม่ได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีอย่างที่หลายคนคาดหวัง

เพราะ คสช.เลือก ศ.นพ.รัชตะ มาเป็น รมว.สธ. และเลือก นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เข้ามาเป็น รมช.สธ. โดยมีเงาของ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ แพทย์ชนบทรุ่นใหญ่ทาบไว้ ซึ่งก็รู้กันดีว่า นพ. สุวิทย์นั้นแนวคิดคนละขั้วกับหมอณรงค์ชัดเจน

กระนั้น คสช.ยังอาศัยคอนเนกชั่น พิเศษกับหมอณรงค์ตั้งแต่ช่วงชุมนุม กปปส. แบ็กอัพเขาอยู่เงียบๆ สถานะของปลัดกระทรวงหมอจึงไม่ใช่เพียงข้าราชการประจำที่ต้องรับนโยบายจากฝ่ายการเมือง หากแต่เขามีสถานะเสมือนเป็นรัฐมนตรีอีกคน ทำงานเป็นเอกเทศ

แน่นอนเมื่อมีสถานะพิเศษค้ำไว้ บวกกับมีข้าราชการอยู่ข้างเคียง การเด้งหมอณรงค์ไปไว้ที่สำนักนายกฯ จึงเป็นเรื่อง ต้องห้าม!

3 เดือน ที่กระทรวงหมอ ชัดเจนว่า หมอรัชตะ-สมศักดิ์ มีนโยบายชุดหนึ่ง ส่วนหมอณรงค์ ก็มีนโยบายของตัวเองอีกชุด โดยเฉพาะการปฏิรูประบบการเงินการคลัง และการเดินสายปลุกใจหมอให้ลุกขึ้นมา ตั้งคำถามกับการบริหารของ สปสช. จนเรียกคะแนนสีกากีเข้ามาเป็นกลุ่มก้อนได้อีกมาก

ระยะหลังมีการเรียกประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งเป็นสายตรงของปลัดฯ ถี่ยิบ โดยมีนัยสำคัญอยู่ที่การเช็กกำลังว่าหากเปิดหน้าชน ใครจะเอาด้วยบ้าง เล่นเอาข้าราชการเริ่มสับสน เพราะขณะที่รัฐมนตรีมีนโยบายปรองดอง ปลัดกลับเดินหน้าลุยชัดเจน

ขณะที่ในฟากโรงพยาบาลชุมชนที่เป็นองคาพยพใหญ่สุดนั้น ชัดเจนว่าส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย นพ.พรเจริญ เจียมบุญศรี ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ถึงขั้นออกหนังสือขอให้ปลัดหยุดสร้างเงื่อนไขสร้างความแตกแยก

คนในกระทรวงหมอวิเคราะห์กันว่า ความขัดแย้งครั้งนี้ ไม่ใช่ต้องการอำนาจเงิน หรืออำนาจจัดการระบบสุขภาพคืน จาก สปสช.เท่านั้น แต่คือความหวังของปลัดฯ ในการเปิดแผลให้กับรัฐมนตรี รัชตะ รวมถึงทีมงานรอบกายรัฐมนตรี ให้ทั้งคนในและคนนอกได้เห็นว่ารัฐมนตรีทั้งสองไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจแก้ปัญหา

นั่นก็หมายความว่า สปสช.เป็นเสมือนตัวแทนรัฐมนตรีเท่านั้น เป้าหมายจริงในการต่อสู้อยู่ที่การขยายแผลเพื่อหัก รมต.มากกว่า!

หากหมากเกมต่อไปเริ่มด้วยการที่ประชาคม สธ. ออกมารวมตัวกันรุก สปสช. ตามที่ปลัดปลุกใจสำเร็จ ก็ชัดเจนว่ายุทธวิธีตั้งรับของรัฐมนตรีไม่ได้ผลอีกต่อไป และสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น ย่อมตามมาด้วยหมัดจากฟากข้าราชการที่หนักหน่วงขึ้นไปตามลำดับ

หมอณรงค์นั้นเหลือเวลาไม่มาก เพราะเขาจะเกษียณภายในปี 2558  และหมอรัชตะก็มีเวลาไม่มากเช่นกัน เพราะตามไทม์ไลน์รัฐบาลประยุทธ์ หากไม่มีอะไรผิดพลาด ต้นปี 2559 ก็ต้องคืนอำนาจให้ประชาชน

เมื่อรัฐมนตรีและปลัดหันหน้ากันคนละทาง สร้างดาวกันคนละดวง ภารกิจ "ปฏิรูประบบสุขภาพ" ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่รัฐบาลคาดหวังจึงอยู่ไกลเกินเอื้อม ผลพลอยได้ของเรื่องนี้กลับกลายเป็นรอยร้าวในแวดวงสาธารณสุขที่มีความเสี่ยงจะปริแตกต่อไป

หากความขัดแย้งยังคงอยู่ในโหมด ปะฉะดะแบบนี้ ก็มีโอกาสได้ว่าไม่คนใดก็คนหนึ่ง อาจถึงเวลาต้องหลุดเก้าอี้ก่อนกำหนดสักคน!

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 11 ธันวาคม 2557