ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาสูตรต้นตำรับยาสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่เปิดโอกาสให้ผู้ติดเชื้อได้เข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพ มีราคาถูก และตำรับยาสูตรผสมไอโอดีน หรือแม้แต่การก่อตั้งศูนย์ข้อสิทธิบัตรยา และศูนย์ชีวสมมูลที่มีประสทธิภาพในประเทศไทย และในปี 2557 นี้ได้รับการคัดเลือกจากมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม ให้เป็นเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม คือ ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.)

ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี

ภญ.อัจฉรา เล่าว่า หลังจากที่เรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้มา 2 ปี ก็สอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยเลือกคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอันดับ 1 ซึ่งตอนนั้นเองยังไม่รู้ว่า อาชีพนี้ต้องทำอะไรบ้าง แต่คุณพ่อ(นพ.วิสิษฐ เอกแสงศรี) บอกว่า ดี และไม่อยากให้เลือกแพทย์ ด้วยความชอบทำกิจกรรมแต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเด็กกิจกรรม และเคยได้ร่วมเดินขบวนกับนิสิตจุฬาฯ ที่ถนนราชดำเนินในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ซึ่งในขณะนั้นตนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 แต่ผลการเรียนในปีแรกเกรดไม่ดี จึงต้องใจเรียนมากขึ้นจนสามารถคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 มาได้

เริ่มทำงานครั้งแรกในปี พ.ศ.2521 ในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ตรี กองควบคุมคุณภาพ องค์การเภสัชกรรม(อภ.) จนถึงปัจจุบัน ที่ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ถือเป็นลูกหม้อขององค์การเภสัชกรรมที่มีผลงานดีเด่นนานัปการ และมีประโยชน์ต่อสาธารณชนและสังคมเป็นอย่างมาก อาทิ ปี พ.ศ.2544 ร่วมจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสิทธิบัตรยา ของสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม ,พ.ศ.2536-2556 ได้ยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตร 15 ฉบับอนุสิทธิบัตร 73 ฉบับ, พ.ศ.2542-2556 ร่วมการคัดค้าน และการฟ้องเพิกถอนสิทธิบัตร

ด้านการวิจัยและพัฒนายาชื่อสามัญ ทั้งการพัฒนาสูตรต้นตำรับเพื่อทดแทนการใช้ยาต้นฉบับ และการพัฒนาสูตรตำรับยาที่สามารถใช้ได้สะดวก เช่น พ.ศ.2547 ได้พัฒนาสูตรตำรับยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรผสม สะดวกต่อการใช้สำหรับผู้ติดเชื้อ, สูตรตำรับยาสูตรผสมไอโอดีน สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น

“การที่เราทำงานด้วยความสุขและสนุกกับงานจะสามารถทำให้เราทำงานนั้นได้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย สมองปลอดโปร่ง ผลงานก็จะออกมาดี” ภญ.อัจฉรา กล่าวถึงแนวคิดในการทำงาน

แต่ในขณะเดียวกัน หลักการทำงานของเภสัชกรดีเด่นเพื่อนสังคมคนนี้ บอกว่า การงานที่ดีประสบความสำเร็จสำหรับตนแล้วจะต้องมีความรักให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา มีเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายในการทำงานทุกครั้ง

เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหาร มักจะบอกน้องๆ ผู้ใต้บังคับบัญชาเสมอว่า ภารกิจขององค์การเภสัชกรรม คือ การวิจัยและผลิตยาที่จำเป็นให้ประชาชนคนไทยมียาใช้อย่างเพียงพอ ดังนั้นการทำงานอย่างแบ่งขอบเขตการทำงาน ขอให้มุ่งความสำเร็จของงานเป็นเป้าหมาย และให้สนุกกับการแก้ปัญหา เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ตามกำหนดเวลา

ภญ.อัจฉรา กล่าวว่า จากที่ทำงานมาทั้งหมดนี้ เป็นการทำงานที่ไม่ได้มุ่งหวังอะไรจากการทำงาน มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานการวิจัยและพัฒนายาให้กับประชาชน ซึ่งหากประเทศไทยมีระบบยาที่มั่นคงจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในระบบสุขภาพต่อไปในอนาคต

โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2558 ที่ประเทศไทยจะมีการเปิดประชาคมอาเซียน การแข่งขันในตลาดยาจะมีความรุนแรงมากขึ้น ประเทศไทยจำเป็นต้องการพัฒนาเภสัชศาสตร์ในทันการประเทศเพื่อนบ้าน

ด้านชีวิตส่วนตัว แล้ว ภญ.อัจฉรา บอกว่า ตนเองโชคดีที่มีลูกที่ดีไม่สร้างความกังวลใจให้ ทำให้ตนทุ่มเทกับการทำงานได้อย่างเต็มที่ จนบางครั้งลูกๆ จะประท้วงเล่นๆ ว่า ถ้าคุณแม่ไม่เงยหน้า จากคอมพิวเตอร์มา ลูกจะเป็นเด็กไม่ดี ติดเกมส์แล้วนะ แต่นั่นคือสิ่งที่ทำให้ ภญ.อัจฉรา ยิ้มได้ทุกครั้งไป

สุดท้าย ภญ.อัจฉรา บอกถึงวิธีสร้างกำลังใจในการทำงานในกับตนเองคือ มองอุปสรรคในการทำงานให้เป็นการลับสมอง และหาทางออกให้กับปัญหา