ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นับจากวันเริ่มจัดตั้ง “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2545” ปัจจุบันก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 13 ที่นำมาสู่การปฏิรูประบบสุขภาพประเทศไทย ไม่เพียงแต่ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลภายใต้ความท้าทายด้านภาระงบประมาณที่จำกัด แต่ยังส่งผลต่อผู้ให้บริการรักษาพยาบาลที่ต้องปรับตัว

ดร.อัมมาร สยามวาลา

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ชั้นแนวหน้าเมืองไทย ไม่เพียงแต่ติดตามนโยบายที่ถูกตีตราว่าเป็นนโยบายประชานิยมในยุคแรกเริ่ม แต่จากประสบการณ์ที่ได้รับเชิญร่วมบริหารจัดการงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในช่วงเริ่มต้น ศาตราจารย์พิเศษ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้สะท้อนถึงการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรวมถึงทิศทางระบบสาธารณสุขประเทศอย่างน่าสนใจ

มีความเห็นอย่างไรต่อกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปัจจุบัน ?

มองว่ายังเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยสำหรับประชาชนที่ได้รับความอุ่นใจค่อนข้างมากในการเข้าถึงการรักษา โดยเฉพาะโรครุนแรง อย่างโรคหัวใจ มะเร็ง  เป็นต้น ซึ่งได้มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่อเนื่อง ช่วยให้ความเจ็บป่วยที่เกิดกับกระเป๋าสตางค์ประชาชนลดลงไปด้วย ลดภาวะการล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล ตรงนี้มีข้อมูลประจักษ์ชัดเจน ผู้ป่วยได้รับการรักษาและมีโอกาสรอดชีวิตจากภาวะความเจ็บป่วยมากขึ้น  

ที่ผ่านมาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นภาระงบประมาณหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมามักมีการพูดถึงประเด็นนี้ ?

เรื่องนี้ไม่ยุติธรรมต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และมองว่าที่ผ่านมายังเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณจำกัดจำเขี่ยมากเกินไป ซึ่งข้อกล่าวหานี้ควรเป็นระบบรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการที่ใช้งบประมาณจำนวนมากเมื่อคิดถัวเฉลี่ยต่อคน และแม้ว่า 3 ปีที่ผ่านมาจะมีความพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายแล้ว แต่ก็ยังสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ขณะที่ความกังวลต่อภาระงบประมาณหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอนาคตนั้น จากการคำนวณพบว่าไม่มากเท่าไหร่ แต่หากจะลดงบประมาณควรดำเนินการในส่วนของสวัสดิการข้าราชการมากกว่า อย่างไรก็ตามเท่าที่ติดตาม พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อภาระงบประมาณนั้น คือ 1.โครงสร้างประชากรที่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ภาระรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น และ 2.เงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร ยกเว้นค่าตอบแทนที่ใช้เงินบำรุงโรงพยาบาล หากรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มเงินเดือน ซึ่งรัฐต้องเพิ่มเติมงบประมาณในส่วนนี้ แต่ที่ผ่านมากลับคงอัตรางบเหมาจ่ายรายหัวคงที่ ส่งผลให้โรงพยาบาลต้องแบกรับภาระงบประมาณเพิ่มเติม

ทิศทางระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากนี้ควรเป็นอย่างไร?

ภาระค่ารักษาโรครุนแรงที่ประชาชนต้องแบกรับได้ทุเลาไปมากโดยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นความสำเร็จที่น่าภูมิใจ แต่ยังมีส่วนที่ต้องพัฒนา อย่างบริการปฐมภูมิโดยเฉพาะเขตเมือง เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ต่างมุ่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ในเมือง ส่งผลให้คนที่อยู่ในเมืองเข้าไม่ถึงการรักษาแม้ว่าจะเจ็บป่วยด้วยโรคพื้นๆ ดังนั้นจึงควรมีการขยายบริการปฐมภูมิในเขตเมืองโดยประสานกับ อปท.หรือเอกชน พร้อมกันนี้ต้องจัดระบบการรักษาพยาบาลที่ดี เพื่อให้คนต่างจังหวัดรักษายังโรงพยาบาลชุมชนมากขึ้น ไม่ใช่ไหลเข้าเมืองทั้งหมด  

“ผมคิดว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดีอยู่แล้ว การยกเลิกคงเป็นไปไม่ได้ และทางการเมืองไม่มีทางเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อมีแล้วจะมุ่งหน้าอย่างไร ยอมรับว่าหลังมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า งบลงทุนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลดลงไปมาก ส่งผลต่อการบริการประชาชน รัฐต้องใส่งบเพิ่มเติมส่วนนี้ จึงนำมาสู่ข้อเสนอปรับจัดสรรงบเหมาจ่ายขาลง และเกิดช้อถกเถียงระหว่าง สธ. และ สปสช.ขณะนี้ แต่ผมมองว่า ไม่ว่าเงินจะอยู่ไหน ไม่ควรเป็นประเด็นหลัก แต่ควรตั้งโจทย์ว่าจะจัดบริการอย่างไรจึงเหมาะสม และประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด”

ขณะนี้ สธ. และ สปสช.เกิดความขัดแย้งจัดสรรงบ?

เป็นการแย่งอำนาจบริหารมากกว่า ดูแล้วเป็นแบบนั้น และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเพราะ 2 ฝ่ายต่างมีทิฐิ มองว่าเป็นสัมมาทิฐิที่ต่างประสงค์ดี ซึ่งต้องดูว่าทำไม 2 สัมมาทิฐิจึงขัดแย้งกัน จะบริหารอย่างไรไม่ให้ขัดแย้ง ซึ่งควรมีการฟันธงว่าใครเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการงบประมาณ   

“ความขัดแย้งนี้มีคนเคาะได้คือ รมว.สาธารณสุข การเคาะต้องไม่ใช่เหตุผลการเมืองว่าใครมีเสียงข้างมาก แต่ต้องดูว่าการบริหาร สธ.หรือ สปสช. โจทย์คืออะไร และอะไรให้ประโยชน์ประชาชนมากที่สุด

ในแง่การบริหารหากรัฐไม่เพิ่มงบลงทุน ปัญหาขัดแย้งก็จะคงต่อไป?

การลงทุนมีความจำเป็น เป็นตัวหล่อลื่นให้ความขัดแย้งลดลงได้ แต่ต้องไม่ใช่การลงทุนเพื่อเอาใจผู้เสียประโยชน์ ซึ่งขณะนี้ รพ.หลายแห่งต้องการลงทุนเพิ่ม แต่ขณะเดียวกัน สธ.ต้องไม่หวงก้างประชาชน โดยเฉพาะการเก็บผู้ป่วยนอกไว้ในระบบ โดยดึงไว้ที่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) เนื่องจากกลัวงบเหมาจ่ายจะไหลออก แต่ต้องให้ท้องถิ่นและเอกชนมีส่วนร่วมจัดบริการผู้ป่วยนอก ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษามากขึ้น  

มีความเห็นอย่างไรกับเขตบริการสุขภาพ สธ. และข้อเสนอจัดสรรงบเหมาจ่ายไปยังเขต?

เรื่องนี้เป็นการบริหารจัดการ ผมไม่รู้ แต่ผมอยากรู้ว่า สธ.จะทำอะไรให้กับประชาชนจากเขตสุขภาพนั้น และทำอย่างไรให้เกิดผลดี เช่นถ้าผมจะหาเสียงกับประชาชน ผมจะสัญญากับประชาชนว่าเวลาไปหาหมอ ผู้ป่วยจะรอไม่เกิน 2 ชม.และหมอต้องมีเวลาให้ผู้ป่วยอย่างน้อย 15 นาที สธ.ทำได้หรือไม่ เพราะเรามีหมอเต็มบ้านเต็มเมือง จะดึงเขามาช่วยอย่างไร แต่ที่ผ่านมา สธ.มักวิพากษ์วิจารณ์เอกชนไม่ดี ทั้งที่มีอำนาจในการกำกับ ตรงนี้จะทำอย่างไร

“สิ่งที่ผมเห็นตั้งแต่อยู่ สปสช.คือ สธ.วิตกและหวงแหน รพ.ในสังกัด 800 แห่งมากไป โดยในข้อเท็จจริง รพ.บางแห่งต้องดูแล อย่าง รพ.พื้นที่พิเศษ อย่างห่างไกล ทุรกันดาร ประชากรน้อย อย่างเช่นที่ รพ.เกาะยาว หรือที่มีจำนวนประชากรน้อย โดยต้องมีงบประมาณเพื่อดูแลโดยตรง ส่วนที่เหลือต้องผ่องถ่ายออกไปให้กับ อปท. ดูแล หรือปล่อยบริหารอิสระในรูปแบบ รพ.บ้านแพ้ว และเน้นบทบาทในฐานะผู้กำกับสถานพยาบาลมากขึ้น”