ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดข้อเสนอกมธ.ปฏิรูประบบสาธารณสุข เพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะยกร่างรัฐธรรมนูญ 15-17 ธ.ค.นี้ เสนอคงสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญปี 50 เน้นให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มคุ้มครองการให้บริการ และผู้เสียหายจากการรับบริการ ไม่ฟันธงรวมกองทุน

15 ธ.ค.57 ที่รัฐสภา สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ได้ประชุมเพื่อพิจารณารายงานข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญประจำสภาจำนวน 18 คณะ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 ธ.ค.นี้ โดยการประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สำคัญ เนื่องจากคณะกรรมาธิการทั้ง 18 คณะ ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมความคิดเห็น จะนำเสนอความคิดเห็นเรื่องการปฏิรูปประเทศและการยกร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละด้านต่อที่ประชุมใหญ่ ตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนด ก่อนสุดท้ายจะมีการลงมติเห็นควรส่งข้อเสนอทั้งหมดต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยการประชุมทั้ง 3 วัน จะถ่ายทอดสดการประชุมผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

นางพรพันธุ์ บุญยรัตพันธุ์(กลาง)

โดยในส่วนของคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธาณสุข เสนอให้รัฐสนับสนุนและจัดสรรทรัพยากรสำหรับบริการสาธารณสุขให้เพียงพอและยั่งยืน สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจและสังคมโดยคำนึงถึงมาตรฐานความทั่วถึง ความเป็นธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีรายละเอียดตามที่ นางพรพันธุ์ บุญยรัตพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้แถลงถึงข้อสรุปและความเห็นของคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยเสนอแนะให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่คงไว้ ซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ทั้งหมด รวมทั้งเนื้อหาในการปฏิรูประบบสาธารณสุข ที่จะเสนอเพิ่มเติม คือ การขยายความครอบคลุมของการบริการให้ประชาชน สามารถเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่ดูแล และส่งเสริมสุขภาพของตนเองและครอบครัวโดยมีรัฐให้การสนับสนุน ประชาชนตัองได้รับข้อมูลสุขภาพอย่างถูกต้องและทันสมัยต่อเนื่อง กำหนดให้สุขภาพของประชาชนอยู่ในนโยบายพื้นฐาน ที่ทุกรัฐบาลจะต้องพัฒนาและกำหนด นอกจากนี้ รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนการแพทย์แผนไทย คู่ไปกับแพทย์แผนปัจจุบันในระบบบริการสาธารณสุข และต้องเพิ่มการคุ้มครองการให้บริการ และผู้เสียหายจากการรับบริการ

นางพรพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อเสนอในการปฏิรูประบบสาธารณสุข จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความปรองดอง และให้สิทธิการคุ้มครองด้านสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืนส่วนข้อเสนอยุบรวมกองทุนประกันสุขภาพนั้น ขณะนี้ กมธ.ได้พิจารณาในภาพรวม ซึ่งต้องการให้ทุกคนได้รับการบริการที่มีคุณภาพและทั่วถึง ซึ่งมองว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องหารือกันอีกครั้ง