ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน : สปสช.ข้องใจปลัด สธ.ฟ้อง นายกฯ สวนทำหนังสือถามเหตุ ผลพร้อมแจงทุกเรื่อง ชง รมว.สธ. ตั้ง กก.แก้ปัญหา รพ.ขาดทุนแล้ว ด้าน 'หมอรัชตะ' ปัดไม่รู้เรื่อง อ้าง สปสช.รายงานทำตาม กม.

หลังจากข้อขัดแย้งระหว่าง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จนเป็นเหตุให้มีข่าวว่าสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รายงานถึงการบริหารจัดสรรงบประมาณของ สปสช.ที่ผิดวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และร้องให้มีการตรวจสอบ สปสช.เนื่องจากส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลจนขาดทุนขั้นวิกฤต 105 แห่งนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) มีการทำหนังสือรายงานไปยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อย่างไรบ้าง จึงไม่ทราบว่าจะชี้แจงเรื่องนี้อย่างไร แต่จากข่าวที่ออกมาทราบเพียงว่า ตั้งข้อสงสัยเรื่องการจัดสรรงบประมาณของ สปสช.ที่จัดสรรให้หน่วยงานอื่น ที่ไม่ใช่หน่วยบริการ (รพ.) เรื่องนี้ได้ชี้แจงไปแล้วว่า งบประมาณดังกล่าว จัดเป็นงบส่งเสริม สนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุข ดำเนินการได้ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่เพื่อความชัดเจนและบริสุทธิ์ใจ ทาง สปสช.จะทำหนังสือถึง สป.สธ.ต่อกรณีที่เกิดขึ้น เพื่อขอรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่รายงานไปยังนายกรัฐมนตรี หากมีการทำหนังสือดังกล่าวจริงจะขอชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อยืนยันว่า สปสช.บริหารงานอย่างโปร่งใส

"เราพร้อมจะชี้แจงทุกประเด็น แต่ผมไม่รู้จริงๆ ว่ากระทรวงรายงานเรื่องอะไรบ้าง โดยปกติที่ สปสช.จะมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) มาประจำที่สปสช.อยู่แล้ว และคอยตรวจสอบบัญชีต่างๆในการบริหาร โดยที่ผ่านมา สตง.เคยทักท้วงบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการบริหารงบในระดับจังหวัด อย่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เรื่องที่ทักท้วง อาทิ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ มาตรา 41 กำหนดในเรื่องจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข ซึ่ง สตง.ท้วงติงว่าการจ่ายเงินตามมาตราดังกล่าวเพราะเหตุใด สปสช.จึงไม่ทำตามมาตรา 42 ที่ระบุว่า สปสช.ต้องไล่เบี้ยหาผู้กระทำผิด เรื่องนี้เราชี้แจงไปแล้วว่า เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือโดยไม่ต้องการหาตัวผู้กระทำผิด ผมไม่รู้ว่าที่ร้องไปทางนายกฯนั้น มีเรื่องอะไรกันแน่" เลขาธิการ สปสช.กล่าว และว่า ที่สำคัญในส่วนของ สตง.นั้น สปสช.ก็ไม่ได้นิ่งเฉย เพราะเมื่อเดือนมีนาคม 2557 ที่ผ่านมา ได้ร่วมกับปลัด สธ.ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อตรวจสอบการบริหารจัดการตามที่ สตง.ท้วงติง ขณะนี้ตรวจสอบไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ทุกอย่างก็มีขั้นตอน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายคนมองว่าเป็นเพราะที่ผ่านมาปลัด สธ.เคยซักถามในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีการพูดเรื่องนี้ในบอร์ด จึงกลายเป็นประเด็นที่ลุกลาม นพ.วินัยกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ในการประชุมบอร์ดที่ผ่านมา วาระที่พิจารณาคือการบริหารจัดสรรงบประมาณ ไม่ใช่เรื่องการตรวจสอบ สปสช. ซึ่งโดยขั้นตอน หากต้องการให้ตรวจสอบจะต้องมีการบรรจุในวาระพิจารณา จริงๆ แล้วหากต้องการให้ตรวจสอบสามารถยื่นในการประชุมบอร์ดครั้งหน้าได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หนังสือดังกล่าวยังร้องว่า สปสช.บริหารจัดสรรงบจน รพ.ขาดทุน นพ.วินัยกล่าวว่า ต้องมาดูสาเหตุจริงๆ โดยขณะนี้ได้ยื่นหนังสือถึง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) แล้ว เพื่อขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบและปรับปรุงสถานะทางการเงินของหน่วยบริการในสังกัด สป.สธ. โดยมี นพ.ยุทธ โพธารามิก เลขาธิการมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) เป็นประธาน และมีกรรมการจากทั้งสปสช. สป.สธ.และกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณเพื่อทำหน้าที่แก้ปัญหาดังกล่าวในระยะยาว ซึ่งจะเสนอตั้งกองทุนสุขภาพชายแดน เพื่อช่วยเหลือ รพ.ชายแดนต่างๆ ด้วย เนื่องจากเป็นปัญหาสะสม จะมาแก้ปัญหาเพียงปีต่อปีไม่ได้

วันเดียวกัน ที่โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว แต่ที่ผ่านมาได้หารือกับ สปสช. ถึงเรื่องนี้เช่นกันได้รับรายงานให้ทราบว่าทุกอย่างดำเนินการตามกระบวนการทั้งหมด แต่หากมีอะไรไม่ถูกต้องสามารถตรวจสอบได้ ไม่มีปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีได้พูดคุยถึงความขัดแย้งระหว่าง สป.สธ.กับ สปสช.หรือไม่ ศ.นพ.รัชตะกล่าวว่า ยังไม่มีการพูดคุยใดๆ แต่หากมีและต้องการให้ตรวจสอบสามารถดำเนินการได้ เมื่อถามว่า การเรียกร้องให้แก้ปัญหา รพ.ขาดทุนโดยตั้งกองทุนสุขภาพชายแดน รพ.รัชตะกล่าวว่า ในขณะนี้มีหลายข้อเสนอมาก ต้องมาหารือกัน แต่ล่าสุด สปสช.ทำหนังสือเสนอให้ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหา รพ.ขาดทุน ซึ่งตนเห็นหนังสือนี้แล้ว แต่ยังไม่ได้ลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร แต่คิดว่าไม่น่ามีปัญหา ส่วนข้อเสนอต่างๆ ก็จะรับไว้พิจารณาเช่นกัน

นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า จังหวัดสระแก้วไม่พบปัญหาระบบประกันสุขภาพแต่ประสบปัญหาที่ชาวกัมพูชาตามแนวชายแดนมีฐานะยากจน เมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บหรือเหยียบกับระเบิดที่หลงเหลือจากสมัยสงครามตามแนวชายแดน ชาวกัมพูชาจะนำผู้บาดเจ็บมารักษาตัวที่โรงพยาบาลในพื้นที่ จ.สระแก้ว หรือโรงพยาบาลอรัญประเทศ เนื่องจากการแพทย์มีความก้าวหน้ากว่าฝั่งกัมพูชา เมื่อมีผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บที่เป็นชาวกัมพูชาเดินทางเข้ามารักษา ถึงแม้จะไม่มีเงินเป็นค่ารักษา แต่โรงพยาบาลต้องดูแลตามหลักมนุษยธรรม แต่ละปีทางโรงพยาบาลในท้องที่ จ.สระแก้วจะมีค่าใช้จ่ายให้กับชาวกัมพูชาที่มารักษาตกปีละกว่า 10 ล้านบาท แม้บางปีมีหน่วยงานต่างชาติมอบเงินช่วยเหลือเป็นการแบ่งเบาภาระทางโรงพยาบาลได้ระดับหนึ่งเท่านั้น

นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิธ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ และเป็นแพทย์ชนบทดีเด่น ปี 2552 กล่าวว่า เงินที่ได้รับจัดสรรมาสามารถใช้ได้อย่างเพียงพอในแต่ละปี เนื่องจากว่าชายแดนไทยกัมพูชาด้าน อ.ภูสิงห์ ไม่มีปัญหาเหมือนกับชายแดนด้านอื่น เพราะคนงานชาวกัมพูชาหากเข้ามาใช้บริการที่ รพ.ภูสิงห์จะเตรียมเงินที่จะมาเป็นค่ายาอยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่สามารถจ่ายได้เต็มตามจำนวนเงินที่เรียกเก็บ หากว่าจ่ายเงินได้เพียง 50% ก็ยินดีช่วยเหลือ เพราะหลักมนุษยธรรมจะต้องให้การช่วยเหลืออยู่แล้ว

"ผมเห็นด้วยกับการจัดตั้งกองทุนสุขภาพชายแดน เนื่องจากจะเป็นการให้การสนับสนุนช่วยเหลือทางโรงพยาบาลตามแนวชายแดน สามารถใช้เงินจากกองทุนมาสมทบหรือทดแทนในส่วนที่ขาดเก็บเงินไม่ได้ ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้ได้เป็นอย่างดี" นพ.กิติภูมิกล่าว

นพ.วันชัย เหล่าเสถียรกิจ ผอ.รพ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า กองทุนนี้สามารถช่วยเหลือชาวไทยและชาวต่างชาติตามแนวชายแดน แต่อย่างไรก็ตามจะต้องรอดูนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขก่อนว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 16 ธันวาคม 2557