ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กมธ.ชงปฏิรูประบบสาธารณสุข ลดเหลื่อมล้ำ รัฐต้องดูแลเยียวยาผู้รับบริการสาธารณสุข หากเกิดความเสียหาย เร่งพัฒนาระบบให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ เผยแม้จะมีหลักประกันสุขภาพ แต่คนชนบทและแรงงานภาคอุตสาหกรรมยังเข้าไม่ถึงการรักษา เน้นพัฒนาแพทย์แผนปัจจุบันคู่ขนานแพทย์แผนไทย เพื่อรักษาภูมิปัญญาไทยพร้อมสร้างรายได้

16 ธ.ค.57 เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ เรื่อง สรุปความเห็นหรือข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ประจำสภา 18 คณะ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว

พญ.พรพรรณ บุญยรัตพันธุ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการสาธารณสุข ชี้แจงข้อสรุปของ กมธ.ว่า มีข้อเสนอ 8 หลัก แบ่งเป็น 4 กลุ่มได้แก่ 1. การปฏิรูประบบสาธารณสุข 2.ข้อแสนอผลกระทบของผู้เข้ารับบริการ 3.หน้าที่พลเมือง และ 4.การพัฒนาระบบสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำจากระบบสาธารณสุข โดยคำนึงถึงความทั่วถึง และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยรัฐต้องจัดสรรระบบบริการที่เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมองค์ความรู้ด้านแพทย์แผนไทยควบคู่ไปกับการรักษาสมัยใหม่

พญ.พรพรรณ กล่าวว่า รัฐต้องดูแลเยียวยาผู้เข้ารับการบริการสาธารณสุข กรณีเกิดความเสียหายสูญเสีย อีกด้านหนึ่งประเด็นหน้าที่พลเมืองต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า บุคคลมีหน้าที่ต้องดูแลสุขภาพ รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมศักยภาพให้ข้อมูลที่ถูกต้องทันสมัยกับประชาชน คุ้มครองสุขภาพที่ยั่งยืน และรัฐมีหน้าที่กำหนดนโยบายพัฒนาประเทศทุกด้านไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพ เน้นกลไกกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ทุกระดับ ถ้าทำได้จะขจัดความเหลื่อมล้ำ กระจายอำนาจ ประชาชน เกิดการคุ้มครองสุขภาพและสุขภาวะ

นายจรัส สุทธิกลบุตร สปช. กล่าวว่า แม้ไทยจะป็นฮับของการรักษาพยาบาลแต่ก็ยังเกิดความเหลื่อมล้ำ ในการเข้ารับการรักษาของคนไทยเจ็บไข้ได้ป่วย คนภาคชนบท หรือ อุตสาหกรรม ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาอย่างทั่วถึง รัฐต้องให้หลักประกันการเข้าถึง แม้ปัจจุบันจะมีระบบประกันสุขภาพที่ดีกว่าหลายชาติ แต่ก็ควรมีประสิทธิภาพที่ดีกว่านี้ ด้วยกระจายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงมากกว่าที่เป็นอยู่ให้สมกับที่ทั่วโลกยกให้ไทยเป็นหนึ่งในการดูแลสุขภาพระดับโลก

พล.ร.อ.ชาญชัย เจริญสุวรรณ สปช. กล่าวว่า กรมพัฒนาการแพท์ยแผนไทย ตั้งมา 12 ปี แต่ช่องว่างแพทย์แผนปัจจุบันห่างไปทุกที วิธีแก้คือทำอย่างไรถึงจะให้ประชาชนได้จดสิทธิบัตรอย่างเป็นรูปธรรมไม่มีอุปสรรค โดยเฉพาะเรื่องตำหรับยา สมุนไพรไทยถูกต่างชาตินำไปจดสิทธิบัตร เช่น กวาวเครือ ถูกเกาหลีแย่งไปจดลิขสิทธิ์ ปัญหาที่องค์ความรู้แพทย์แผนไทยไม่พัฒนาเพราะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมความเชื่อ และได้รับการสนับสนุนน้อยมาก ต่างจากจีนหรืออินเดียให้การสนับสนุนเต็มที่

นอกจากนี้ จากตัวเลขทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2553 มีการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน 1 แสนกว่าล้านบาท นำเข้ายาแผนไทย 300 กว่าล้านบาท มีการส่งออกสมุนไพร 83 ล้านบาท และส่งออกแรงงานนวดแผนไทยไปต่างประเทศ ถ้าเราพัฒนาแพทย์แผนไทยอย่างจริงจังก็จะช่วยระบบเศรษฐกิของชาติได้อย่างมาก รวมทั้งเป็นการรักษาสัญลักษณ์ เอกลักษณ์ ภูมิปัญญาไทย

นายคำนูณ สิทธิสมาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า ประเด็นสำคัญตรงกับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่เริ่มต้นสัมนาว่าต้นตอวิกฤติของปัญหาคือความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนในสังคม จึงจำเป็นต้องลดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้กมธ.จะนำไปพิจารณาบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ทั้ง 4 ประเด็นที่เสนอมา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง