ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ทูเดย์ : ประชุมแก้ปัญหารพ.ขาดทุนนัดแรกส่อเหลว บิ๊กกระทรวงหมอปฏิเสธเข้าประชุม

การประชุมนัดแรกของคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบและปรับปรุงสถานะทางการเงินของหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งมี นพ.ยุทธ โพธารามิก อดีตรองปลัด สธ. เป็นประธานและได้รับการแต่งตั้ง โดย ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. ในวันนี้ส่อเค้าล้มเหลว เนื่องจากตัวแทน สธ. 5 คน ที่ร่วมเป็นกรรมการปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุม โดยต่างระบุว่าติดภารกิจด่วนหมด

อย่างไรก็ตาม ตัวแทน 5 คน จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยังมาร่วมประชุม

ทั้งนี้ กรรมการที่เป็นตัวแทน สธ. 5 คน ได้แก่ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัด สธ. นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการสาธารณสุข นพ.บัญชา ค้าของ ผู้อำนวยการกลุ่มประกันสุขภาพ และ นพ.สมยศ ศรีจารนัย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และก่อนหน้านี้ฝั่ง สธ. โจมตี สปสช.ในหลายวาระว่าระบบการจ่ายเงินรายหัวของ สปสช. ทำให้โรงพยาบาลจำนวนมากขาดทุน

ก่อนหน้านี้ นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และรักษาการประธานประชาคม สธ. ตั้งคำถามว่าคณะกรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นเพื่ออะไร เพราะมีแนวทางการจัดสรรงบบัตรทองผ่านเขตบริการสุขภาพเพื่อแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนอยู่แล้ว

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช. กล่าวว่า ข้อมูลของประชาคม สธ. ที่ระบุว่า จ.สิงห์บุรี และ จ.นครนายก เหลืองบเหมาจ่ายรายหัวจาก สปสช. เพียง 100-300 บาท/ประชากรนั้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะตัวเลข จ.สิงห์บุรี อยู่ที่ 1,384 บาท/ประชากร และ จ.นครนายก อยู่ที่ 1,257 บาท/ประชากร หลังหักเงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์ อย่างไรก็ตามที่เหลือไม่มากเพราะทั้งสองจังหวัดมีจำนวนประชากรไม่มากนัก แต่มีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก

ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า การใช้จำนวนประชากรเป็นฐานคิดเพื่อของบประมาณบัตรทอง มีจุดประสงค์เพื่อกระจายงบประมาณไปยังประชาชน ไม่ให้กระจุกตัวอยู่ที่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นการพิเศษ เพื่อป้องกันการโยกงบประมาณไปไว้ในพื้นที่ที่มีผลประโยชน์เฉพาะตน ให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 ธันวาคม 2557