ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วิกฤต โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สาเหตุคร่าชีวิตคนไทย 73%  หนุนคนไทย ลดวิกฤต NCDs ด้วยนมแม่ ช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ทั้งแม่และลูก ชี้ เด็กกินนมผง เสี่ยงแพ้สาร DHA สาเหตุของโรค”ออทิสซึม”

19 ธ.ค.57 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล แผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ (NCD-net) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเสวนาเชิงวิชาการ เรื่อง “ลดวิกฤต NCDs ด้วยนมแม่” เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ คุณประโยชน์ของนมแม่ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของบุคลากรทางการแพทย์ในการสนับสนุนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

พ.ญ.จุรีพร คงประเสริฐ  รองผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ของกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (non-communicable disease) หรือ โรค NCDs จะมี 4 กลุ่มโรคหลักที่สำคัญ คือ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคมะเร็ง กลุ่มโรคเบาหวาน และกลุ่มโรคปอดเรื้อรัง มีปัจจัยเกิดจาก 4 พฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ สูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม และมีกิจกรรมทางการไม่เพียงพอ ปัจจุบันกลุ่มโรค NCDs เป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลกและของประเทศไทย โดยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากรโลกมากถึง 36 ล้านคนต่อปี หรือคิดเป็น 63% ของการเสียชีวิตของประชากรโลกทั้งหมดในปี 2551 สำหรับประเทศไทยโรค NCDs เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากถึง 73% ของการเสียชีวิตของประชากรไทยในปี 2552

พญ.ชมพูนุท โตโพธิ์ไทย นายแพทย์ชำนาญการ จากสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า  การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรค NCDs ทั้งในแม่และลูก โดยในลูกจะลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนได้ถึง 7-17% และลดไขมันชนิดเลว (LDL) ลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน ความเสี่ยงการเป็นความดันโลหิตสูง และความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว สำหรับแม่ การให้นมแม่กับลูกจะช่วยลดน้ำหนักตัวหลังคลอด ลดความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ และมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่

ดร.ปรียาสิริ มานะสันต์ รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีกล่าวว่า เด็กที่ที่กินนมผงมีความเสี่ยงเกิดอาหารแพ้ ท้องเสีย ท้องอืด ดีซ่านรวมถึงการหยุดหายใจชั่วคราว ซึ่งทำให้เด็กเกิดภาวะออทิสซึมได้ โดยเฉพาะเด็กที่กินนมผงตั้งแต่ยังเล็กมากๆ สาเหตุการแพ้ เกิดจากนมผงมีการเติมสารสังเคราะห์ DHA จากงานวิจัยของประเทศเดนมาร์ก พบว่า เด็กที่กินนมผงตั้งแต่เล็กๆ มีโอกาสจะเป็นออทิสซึมถึง 30% ซึ่งทำให้องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ปฏิเสธการใส่สารสังเคราะห์ DHA ลงไปในนมสำหรับเด็กอ่อน เนื่องจากเห็นว่านมผงสูตรปกติมีกรดไขมันที่สามารถเปลี่ยนเป็น DHA และAHA ได้มากเพียงพอ

รศ.กรรณิการ์ วิจิตรสุคนธ์ ประธานศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และโภชนาการเด็ก คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อแม่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากจะเป็นผู้ให้ข้อมูลและช่วยเหลือแม่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้นปัจจุบันจึงมีหลักสูตรอบรมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตลอดจน อสม. ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

นอกจากนี้ กรมอนามัยอยู่ระหว่างผลักดันร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ระบุบทบาทของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขไว้ว่า ต้องกระตุ้น ส่งเสริมและปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และในกรณีที่จำเป็นต้องใช้อาหารทารกและเด็กเล็กแทนนมแม่ ต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ยังสามารถให้ข้อมูลอาหารทดแทนนมแม่กับแม่ที่จำเป็นต้องใช้ได้ และสามารถดำเนินงานวิจัยที่โปร่งใสเกี่ยวกับอาหารทดแทนนมแม่ได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง