ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช.เตรียมเปิดระดมเห็น “ร่างเขตสุขภาพเพื่อประชาชน” ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 วันที่ 26 ธ.ค. นี้ เคาะครั้งสุดท้ายก่อนนำเสนอ ครม. ปี 58 สู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่

23 ธ.ค.57 นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ภายหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้รับมอบหมายจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการเดินหน้าจัดตั้ง “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการปฎิรูปในระบบสุขภาพ โดยให้ประชาชนและทุกหน่วยงานเข้ามีส่วนร่วม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะทำงาน ซึ่งมี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธาน โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในระบบสุขภาพ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ภาคประชาชน รวมถึงประชาคมสาธารณสุข และได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 ที่เป็นเวทีระดมความเห็นใหญ่ของการเปิดรับฟังความเห็น และนำมาซึ่งการปรับปรุงและสรุปร่างรูปแบบเขตสุขภาพเพื่อประชาชน

นางอรพรรณ กล่าวว่า ในช่วงที่พิจารณาบรรจุเป็นระเบียบวาระในเวทีการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 ทางคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเห็นว่า เรื่องเขตสุขภาพเพื่อประชาชนซึ่งทาง คสช.ได้ประกาศจัดตั้งเรียบร้อยแล้ว ควรจะที่มีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากสมาชิกสุขภาพแห่งชาติอีกครั้ง ซึ่งสมัชชาสุขภาพแห่งชาติถือเป็นเวทีใหญ่ ดังนั้นจึงควรรับฟังความเห็นเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงรูปแบบเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเปิดเป็นเวทีใหญ่เพื่อรับฟังความเห็นเรื่องเขตสุขภาพประชาชน ที่ควบคู่กับการรับฟังความเห็นเพื่อนำไปสู่การสมานฉันท์ ในวันที่ 26 ธันวาคม นี้ ตั้งแต่เวลา 09:00-12:00 น. โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วม

“ขณะนี้ภาพรวมเขตสุขภาพเพื่อประชาชน จากการรับฟังความเห็นส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยกับหลักการ เพราะจะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนด้านสุขภาพให้กับประชาชน ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มให้ความสนใจ และเชื่อว่าจะนำร่างเขตสุขภาพประชาชนที่ได้เสนอต่อ ครม. และนำไปสู่การปฏิบัติได้ในปี 2558 นี้” รองเลขาธิการ สช. กล่าว และว่า ทั้งนี้วาระเขตสุขภาพประชาชนยังมีอยู่ในการเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 

ต่อข้อซักถามว่า ที่ผ่านมา เขตสุขภาพเพื่อประชาชนมักถูกวิจารณ์ว่าเป็นรูปแบบที่เป็นนามธรรม นำไปสู่การปฏิบัติได้ยากนั้น นางอรพรรณ กล่าวว่า เรื่องเขตสุขภาพเพื่อประชาชนไม่ใช่เรื่องไม่ เพราะได้มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่เดิมอาจไม่ได้อยู่ในรูปแบบหรือถูกเรียกว่าเป็นเขตสุขภาพ หรือการดำเนินการอาจไม่ครบองค์ประกอบอย่างที่ทาง สช.กำลังทำอยู่ โดยเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเป็นกระบวนการทำงานงานในรูปแบบสมัชชาที่ไม่มีใครสั่งใคร แต่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะเข้ามาช่วยทำงานด้านสุขภาพ

ทั้งนี้สมัชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 ได้มีระเบียบวาระการประชุม 6 ประเด็น(ดูรายละเอียดที่นี่) ประกอบด้วย 1.การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัว จากปัจจัยเสี่ยง 2.การจัดการสเตียรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทย 3.การพัฒนากระบวนการประเมินและการตัดสินใจใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ 4.การกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน 5.การจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของประเทศไทย และ 6.ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ.