ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิด 6 ประเด็นสำคัญเพื่อผลักดันสู่นโยบายสาธารณะในเวทีสมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 7 24-26 ธ.ค.นี้ ภายใต้แนวคิด “เดินหน้าสมานฉันท์ ร่วมกันปฏิรูป สังคมสุขภาวะ”

24 ธ.ค.57 นายเจษฎา มิ่งสมร ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2557 (คจ.สช.) เปิดเผยว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 พ.ศ.2557 จัดระหว่างวันที่ 24-26 ธ.ค. ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด “เดินหน้าสมานฉันท์ ร่วมกันปฏิรูป สังคมสุขภาวะ” ใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัว จากปัจจัยเสี่ยง 2.การจัดการสเตอรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทย 3.การพัฒนากระบวนการประเมินและการตัดสินใจใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ 4.การกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน 5.การจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของประเทศไทย และ 6.ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ

ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจในลานสมัชชาสุขภาพซึ่งแบ่งเป็น 6 โซน อาทิ กรณีศึกษาการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ, การเสวนาหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ สุขภาวะชาวนา สุขภาวะเด็กเร่ร่อน รวมถึงเวทีสาธารณะเรื่อง “การเดินหน้าสมานฉันท์ ร่วมกันปฏิรูป สังคมสุขภาวะ” โดยเชิญตัวแทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)มาร่วมในเวที ด้วย

นพ.ณรงค์ศักดิ์  อังคะสุวพลา ประธานกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ  กล่าวว่า จากการประชุมสมัชชาสุขภาพมาแล้วจำนวน 6 ครั้ง มีมติฯ ทั้งหมดจำนวน 59 มติ ซึ่งมติเหล่านั้นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

สำหรับในปีนี้มีมติที่ต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อที่ประชุม จำนวนทั้งหมด 10 มติ โดยมีมติที่น่าจับตามอง ได้แก่ (1) การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน (2) การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล  และ (3) การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

ด้าน นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ประธานอนุกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้กล่าวถึงรางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติซึ่งริเริ่มขึ้นในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 โดยมีหลักการสำคัญคือ การยกย่อง เชิดชูเกียรติ และสร้างขวัญ กำลังใจ และสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับภาคีเครือข่ายที่นำเครื่องมือ ธรรมนูญสุขภาพ  สมัชชาสุขภาพ และ เอชไอเอ (การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ) ไปใช้ในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม โดยรางวัลดังกล่าว แบ่งเป็น รางวัล 1 จังหวัด, รางวัล 1 พื้นที่ และ รางวัล 1 กรณี

นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกล่าวว่า กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมที่เน้นการเชื่อมโยงทั้ง 3 ภาคส่วน ทั้งภาคประชาสังคม ภาควิชาการและภาครัฐ ในส่วนที่ให้น้ำหนักกับภาคประชาสังคม หรือภาคประชาชนเนื่องจากว่า คนตัวเล็กตัวน้อยหรือเครือข่ายต่างๆ ก็สามารถที่จะทำนโยบายสาธารณะได้ กระบวนการนี้เปิดโอกาสให้กลุ่มเครือข่ายได้เสนอประเด็นที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะ ในขณะเดียวกันมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติซึ่งเป็นนโยบาย ก็สามารถนำไปขับเคลื่อนได้จริงในพื้นที่  เพราะฉะนั้นประโยชน์ของประชาชนในความหมายของภาคประชาสังคม คือการได้เสนอนโยบายสาธารณะ ได้ใช้มติสมัชชาสุขภาพฯ ไปขับเคลื่อนการทำงานกับส่วนต่างๆ ได้อย่างจริงจังและยั่งยืน