ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ฮิปโปเครติส (Hippocrates) ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ผู้ให้กำเนิดวิชาแพทย์” หรือ “บิดาแห่งการแพทย์” (The Father of Medicine) เนื่องจากเป็นแพทย์คนแรกที่ได้ศึกษา ค้นคว้า นำวิธีการรักษาโรคแบบใหม่มาเผยแพร่ และมาใช้กับคนไข้ที่มารับการรักษาจากเขา ทั้งเป็นคนแรกที่ได้ปฏิรูปวงการแพทย์ด้วยการปฏิเสธไม่นำการรักษาแบบเก่า ที่เป็นการรักษาด้วยหมอพระมาใช้อย่างสิ้นเชิง โดยได้นำวิธีการรักษาแบบใหม่มาใช้แทน คือ วินิจฉัยถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคก่อนแล้วจึงทำการรักษา ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้

ภาพจาก wikipedia

ฮิปโปเครติส ถือกำเนิดขึ้นประมาณ 460 ปีก่อนคริสต์ศักราช (ประมาณ พ.ศ. 83) เป็นชาวกรีกโดยกำเนิด เนื่องจากเกิดที่เกาะคอส (Island of Cos หรือ Kos) แห่งกรีซ ซึ่งเป็นเกาะอยู่นอกชายฝั่งทะเลเอเจียน (Aegean Sea) ฮิปโปเครติสเป็นบุตรของเฮราคลิดัส (Heraclidas) ซึ่งเป็นทั้งพระและแพทย์ และประมุขของสมาชิกในกลุ่มของตระกูลเอสคลีปิเอด (Asclepiade) ที่เชื่อกันว่าสืบเชื้อสายโดยตรงมาจากเทพเจ้าเอสคิวเลปิอุส (Aesculapius หรือ Asclepios) ผู้เป็นเทพเจ้าผู้ทรงเวช คุ้มครองรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งตระกูลนี้พำนักอาศัยประจำอยู่ ณ สำนักวัดเอสคิวเลปิอุส (Temples of Aesculapius) อันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นวัดที่มีสถานพยาบาลอันมีชื่อเสียงมากในการรักษาพยาบาลคนเจ็บไข้ได้ป่วย และเป็นสำนักฝึกอบรมวิชาแพทย์ให้แก่เยาวชนเพื่อสืบสานต่อไป

ตระกูลเอสคลีปิเอด มีประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา คือ บุตรชายของสมาชิกในตระกูลทุกคน จะต้องเข้ามาฝึกฝนอบรมวิชาแพทย์เบื้องต้นจากสำนักแพทย์ของวัดอันศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่ยังเยาว์วัย ซึ่ง ฮิปโปเครติสเช่นกัน ได้เข้ามาศึกษาอบรมวิชาแพทย์เบื้องต้น จากบิดาและครูผู้เป็นหมอพระองค์อื่นๆ ด้วยความเฉลียวฉลาด ทำให้บิดาได้ส่งฮิปโปเครติสไปเรียนกับเดโมคริตุส (Democritus) ผู้เป็นเพื่อนรัก และเป็นปรัชญาเมธีผู้เปรื่องปราดคนหนึ่งของกรีก ที่มีความรู้ความสามารถเป็นอย่างยิ่งในวิชาธรรมชาติวิทยา (Natural Sciences) คณิตศาสตร์ (Mathematics) เรขาคณิต (Geometry) ปรัชญา (Philosophy) วิจิตรศิลป์ (Fine Arts) และอื่นๆ และการที่ฮิปโปเครติสได้เดินทางท่องเที่ยวไปยังเมืองต่างๆ ทั่วดินแดนของกรีซและประเทศใกล้เคียงในคาบสมุทรเมดิเตอร์เรเนียน จึงทำให้มีประสบการณ์และความรู้กว้างขวางมากขึ้น

ภายหลังจากที่ฮิปโปเครติสกลับจากการไปเสาะแสวงหาความรู้และศึกษาทางการแพทย์แล้ว ได้มาเปิดสถานพยาบาล (Clinic) และตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นที่เกาะคอส (Cos) เพื่อรักษาคนไข้ และฝึกฝนอบรมสั่งสอนวิชาแพทย์แผนใหม่ให้แก่เยาวชนชาวกรีก เพื่อจะให้ออกไปเป็นแพทย์รักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างมีคุณภาพและเชื่อถือได้ ซึ่งฮิปโปเครตีสต้องการที่จะเปลี่ยนแนวความคิดของคนในสมัยนั้นที่เชื่อว่า อาการเจ็บป่วยเกิดจากการดลบันดาลของเทพเจ้า โดยอธิบายว่า อันที่จริงแล้วอาการเจ็บป่วยอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เป็นต้นว่า ความผิดปกติ หรือความบกพร่องของร่างกาย อาหาร อากาศ และเชื้อโรค เป็นต้น ดังนั้นวิธีการรักษาโรคควรจะต้องวินิจฉัยสาเหตุของโรคว่าเกิดจากสาเหตุใด แล้วจึงหาวิธีการรักษาต่อไป

ฮิปโปเครตีสใช้เวลาในการศึกษาการรักษาผู้ป่วยจากผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยแต่ละคนก็แตกต่างกันไปทั้งอาการของโรคและวิธีการรักษา เขาจะดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และจดบันทึกเกี่ยวกับผู้ป่วยอย่างละเอียด ทั้งประวัติส่วนตัว อาการ สาเหตุของโรค รวมถึงวิธีการรักษาด้วย วิธีการรักษาผู้ป่วยของฮิปโปเครตีสจะเป็นไปอย่างละเอียดทุกขั้นตอน ซึ่งถือว่าเป็นตำราที่ใช้ในการรักษาโรคสืบต่อกันมา ในการรักษาโรคนั้น ฮิปโปเครติสจะใช้ยาที่รักษาผู้ป่วยที่เป็นยาที่ไม่รุนแรงและใช้เฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะเขาเชื่อว่าธรรมชาติของคนนั้นสามารถรักษาตัวเองได้ โดยผู้ป่วยทุก ๆ คนต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ทั้งเรื่องอากาศ ผู้ป่วยควรอยู่ในที่ ที่มีอากาศบริสุทธิ์ อาหารควรได้รับประทานที่เหมาะสม คืออาหารอ่อนที่รับประทานง่าย เช่น ข้าวต้ม ซุป เป็นต้น เพราะร่างกายของผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ เรื่องความสะอาดก็เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งความสะอาดของร่างกาย ของใช้ทั้งของผู้ป่วยเอง และอุปกรณ์การแพทย์ยิ่งต้องรักษาความสะอาดมากเป็นพิเศษ นอกจากการรักษาโรคแล้ว ฮิปโปเครตีสยังให้ความสนใจเรื่องการรักษาสุขภาพด้วยเช่นกัน เขาคิดว่าคนที่มีสุขภาพแข็งแรงจะไม่เจ็บป่วยได้ง่าย ซึ่งวิธีการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ คือ การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และการทำจิตใจให้ผ่องใส

ภาพจาก wikipedia

นอกจากจะสอนในเรื่องวิชาการแพทย์แล้ว ฮิปโปเครติสยังได้พร่ำสอนให้สานุศิษย์ของเขาทุกคนเป็นผู้มีคุณธรรม มีศีลธรรมจรรยา ประพฤติปฏิบัติต่อคนไข้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาแพทย์อย่างเคร่งครัด ดังจะเห็นได้จาก “คำปฏิญาณอันเป็นจริยธรรมของแพทย์” ซึ่งเรียกว่า “Hippocratic Oath” ที่ฮิปโปเครติสได้บัญญัติขึ้น เพื่อให้แพทย์ลูกศิษย์ของเขาได้ประพฤติปฏิบัติและเป็นคำกล่าวสัตย์สาบานก่อนที่จะออกไปประกอบอาชีพแพทย์ ซึ่งฮิปโปเครติสเองได้เคยกล่าวไว้ต่อหน้าเทพเจ้าแอสเคลปิอุส (Asclepius) ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งการแพทย์ของกรีกเช่นกัน   ซึ่งคำปฏิญาณนี้ บรรดานักศึกษาแพทย์ผู้สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิต จากสถาบันการแพทย์เกือบทั่วโลกยังคงกล่าวคำปฏิญาณนี้ ในวันรับปริญญาตลอดมาจนทุกวันนี้

“ข้าขอสาบานต่ออะพอลโล เทพแห่งแพทย์ ‘เอสคิวเลเพียส, ไฮจีเอีย, แพนาซีอา และทวยเทพทั้งมวล ได้โปรดเป็นพยานว่าข้าจะปฏิบัติงานด้วยพลังความสามารถและดุลพินิจทั้งมวลที่มีให้สมดั่งสัตย์สาบานและสัญญาต่อทวยเทพ

เทิดทูนบูชาผู้สอนสั่งข้าเทียบบิดรมารดา ชีวิตนี้พลีเป็นหุ้นส่วนกับท่านนั้น หากท่านขาดแคลนเงินทอง ข้าพร้อมจะแบ่งปันส่วนที่มี และถือว่าทายาทของท่านดุจพี่น้องร่วมสายธารโลหิตฝ่ายบุรุษ พร้อมจะสอนสั่งสรรพความรู้หากเขาประสงค์จะได้รับ โดยไม่คิดค่าจ้าง ขอให้สัตย์ต่อทวยเทพ ข้าจะแบ่งปันความรอบรู้ พร่ำสอนสั่งชี้แนะวิถีปฏิบัติและความรู้อื่นที่ข้ามีด้วยวาจา เฉพาะต่อบุตรของข้าและบุตรของผู้สอนสั่งและทุกผู้ทุกคนผู้ที่ให้สัตย์สาบานนี้และให้สัญญาต่อทวยเทพ มิใช่ผู้อื่นนอกจากนี้

ข้าจะให้การดูแลเชิงโภชนาการต่อผู้ป่วยด้วยพลังความสามารถและดุลพินิจทั้งมวลที่มี ข้าจะดูแลผู้ป่วยให้รอดพ้นภยันอันตรายและความอยุติธรรม

ข้าจะไม่ให้ยาคร่าชีวิตผู้ใด แม้เขาจะร้องขอ และจะไม่ให้คำแนะนำในทำนองนั้น ในทำนองเดียวกัน ข้าจะไม่ให้ยาขับครรภ์ต่อสตรี

ข้าจักครองชีวิตและศิลปวิทยาในทำนองบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์

ข้าจักไม่ใช้มีด แม้ต่อผู้เจ็บปวดทรมานจากก้อนหิน แต่จะใช้มีดเพื่อดึงหินจากผู้เจ็บปวดนั้น

บ้านหลังใดที่ข้าไปเยี่ยมเยียน จะทำเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยไข้โดยไม่มีเจตนาจงใจใรความอยุติธรรม ไร้ความประสงค์ร้ายโดยเฉพาะในแง่ความสัมพันธ์ทางเพศ ต่อบุรุษหรือสตรี ไม่ว่าผู้ป่วยนั้นจะเป็นเสรีชนหรือทาส

สิ่งใดที่ข้าได้พบเห็นเรื่องราวใดที่ข้าได้ยินในระหว่างการบำบัดรักษาหรือไม่เกี่ยวเนื่องกับการรักษา เรื่องราวของชีวิตมนุษย์ที่ไม่สมควรจะแพร่กระจาย ข้าจะเก็บไว้ในใจตน เก็บซ่อนไว้ประหนึ่งเรื่องน่าอายที่ไม่บังควรกล่าวออกมา

หากข้าปฏิบัติตามสัตย์สาบาน มิได้ละเมิดฝ่าฝืน ขอให้ประสบแต่ชีวิตและศิลปะดีงาม ได้รับเกียรติการยกย่องในหมู่เพื่อนมนุษย์ตราบสิ้นอายุขัย แต่ถ้าข้าตระบัดสัตย์ หรือให้คำสาบานเป็นเท็จ ผลในทางตรงกันข้ามจักเกิดต่อชีวิตข้า”

เอกสารอ้างอิง

1. ทวี มุขธระโกษา.แพทย์เอกของโลก.กรุงเทพมหานคร: สถาพรบุ๊คส์. 2554.

2. สัตย์สาบานฮิปโปเครตีส.[Online], สืบค้นเมื่อ 21 ธันวาคม 2557, จาก https://arztartem.wordpress.com/ /2011/08/08/สัตย์สาบานฮิปโปเครตีส/

3. สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโล. ฮิปโปเครตีส : Hippocrates. Online], สืบค้นเมื่อ 21 ธันวาคม 2557, จาก http://siweb.dss.go.th/Scientist/scientist/Hippocrates.html

4. ประวัติศาสตร์การแพทย์และเภสัช.[Online], สืบค้นเมื่อ 21 ธันวาคม 2557, จาก

www.gpo.or.th/various_pharmacy/history.html

เรื่องที่เกี่ยวข้อง