ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน-ช่วงคาบเกี่ยวระหว่างเดือนมกราคมเมื่อปี 2556 กับเมื่อปี 2557 กับช่วงคาบเกี่ยวระหว่างเดือนธันวาคมกับเดือนมกราคมของปี 2557 กับปี 2558

ไม่เหมือนกันยิ่งกล่าวสำหรับ อธิการบดีอย่าง นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน กับ ปลัดกระทรวงอย่าง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์

ยิ่งไม่เหมือนกัน

เพราะในช่วงระหว่างเดือนธันวาคมกับเดือนมกราคมเมื่อปี 2556 กับเมื่อปี 2557 มากด้วยความคึกคัก มากด้วยความเข้มข้น

เตรียมตัวเข้าสู่มาตรการ "ชัตดาวน์"ขณะที่ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคมกับเดือนมกราคมของปี 2557 กับปี 2558 กลับมากด้วยความขัดแย้ง มากด้วยความแตกแยก

ฮึ่มฮั่มเข้าใส่กันทั้งๆ ที่ท่านเหล่านี้เคยร่วมเป่านกหวีด เคยร่วมเคลื่อนไหวภายใต้ร่มธง กปปส.ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แล้วเหตุใดมาถึง ณ วันนี้ กลับกลายเป็นฮึ่มฮั่มเข้าใส่กัน

น่าคิด น่าศึกษา

คล้ายกับว่าการได้รับแต่งตั้งให้เป็น"สนช." ประสานกับการได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการ

จะเป็น "บำเหน็จ"เป็นบำเหน็จรองรับการเข้าร่วมเป็นคอหอยลูกกระเดือกกับเหล่า "อธิการบดี"ทั้งหลายในการออกมาบ่อนเซาะเครดิตของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ในที่สุดก็กลับกลายเป็น "ทุกขลาภ"เพราะแรกที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น "รัฐมนตรี" ก็มีคณบดีบางคนเอาปี๊บมาคลุมหัวแสดงการประท้วง แสดงความรังเกียจ

จนจำใจต้องสละตำแหน่ง "อธิการบดี"ยิ่งกว่านั้น เมื่อเดินเข้าสู่กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้รับความร่วมมืออย่างสันถวมิตรอันสนิทสนม

ทั้งๆ ที่ปลัดกระทรวงก็อยู่ในระดับ "นกหวีดทองคำ"

ในที่สุด โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขก็ประกาศ "แข็งเมือง" ตั้งตนเป็นอิสระจากอำนาจของ "รัฐมนตรี" กลายเป็นประเด็นขัดแย้ง แตกแยก อันฉาวโฉ่ ครึกโครมขึ้นมา

เดินไปไหนก็ต้อง "อับอาย" ก็ต้อง "ขายหน้า"

ต้องยอมรับว่า การผลักรุนให้คนระดับ "อธิการบดี" คนระดับ "ปลัดกระทรวง" ออกมาต่อกรกับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เป็น "มือพิเศษ" เป็นมือระดับ "ไม่ธรรมดา"

หากไม่ทรงอิทธิพล หากไม่มากด้วยพลานุภาพ คงไม่สามารถทำให้เหล่า "อธิการบดี" ถึงกับออกมาจัด "ม็อบ" ได้

ไม่ว่าเมื่อเดินไป "อุรุพงษ์" ไม่ว่าเมื่อปักหลัก "แยกปทุมวัน" ขณะเดียวกัน หากไม่ทรงอิทธิพล หากไม่มากด้วยพลานุภาพ คงไม่สามารถทำให้บุคคลระดับ "ปลัดกระทรวง" กล้าแข็งขืนกับ "รัฐบาล" กับ "นายกรัฐมนตรี" "นกหวีดทองคำ" อันได้จาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จึงเท่ากับ "การันตี" กระนั้น ภายในการเคลื่อนไหวย่อมมิได้ดำเนินไปในลักษณะ "จิตอาสา" ไม่ปรารถนาการตอบแทนใดๆ เพราะเมื่อสำเร็จเสร็จสม ทหารออกมา "เทกแอ๊กชั่น" ตามคำเรียกร้อง การส่งบิลย่อมต้อง ติดตามมา

เมื่อไม่ได้ "ดั่งใจ" ก็ย่อมนำไปสู่ "การตีรวน"

หลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ก็เป็นเช่นนี้ เหตุไฉนหลังรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 จะไม่เกิดขึ้นเล่า

นี่คือเรื่องฉาวโฉ่ที่จะอึกทึกในห้วงต้นปี 2558

การสร้าง "พันธมิตร" ใน "แนวร่วม"ก่อนการทำรัฐประหารมีความจำเป็น มีความสำคัญยิ่งยวด

มือการเมืองที่เคลื่อนไหวในเรื่อง "แนวร่วม" ทรงความหมาย มากด้วยบทบาท แต่เมื่อไม่สามารถตอบแทนได้ครบถ้วน ตามความมุ่งมาด ปรารถนา ปัญหาก็จะปะทุปรากฏขึ้น

เหมือนกรณีของ "หมอจ๊ะ" เหมือนกรณีของ "หมอจย๋า"

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 30 ธันวาคม 2557