ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน -"โรคไวรัสอีโบลา" หรือไข้เลือดออกอีโบลา ชื่อนี้ไม่ได้เพิ่งปรากฏบนโลก แต่เป็นโรคที่ชาวโลกได้รู้จักกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 แต่เมื่อต้นปี 2557 ที่ผ่านมา โรคนี้ก็กลับมาสร้างความหวาดกลัวให้กับมนุษยชาติอีกครั้ง จนถึงขณะนี้ อีโบลาก็ยังเป็นโรคระบาดร้ายแรงที่ยากต่อการเยียวยารักษา

เหตุการณ์เริ่มตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปี 2556 ที่พบผู้ป่วยรายแรกที่ประเทศกินี และเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ทางการประเทศกินีประกาศยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคอีโบลามากกว่า 50 ราย กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดของไวรัสอีโบลาครั้งใหม่ ก่อนที่ในอีกไม่กี่วันต่อมา จะมีรายงานว่ามีผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้ออีโบลา 2 ราย ในประเทศไลบีเรีย และพบผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้ออีโบลาในประเทศเซียร์ราลีโอน กระทั่งในปลายเดือนพฤษภาคม องค์การอนามัยโลก (ฮู) ออกมายืนยันว่ามี ผู้เสียชีวิตจากอีโบลารายแรกในประเทศเซียร์ราลีโอน

หลังจากนั้นชื่อของ "ไวรัสอีโบลา" ก็เริ่มแพร่กระจายไปทั่ว ในนามของไวรัสร้ายที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษา ทำได้เพียงแค่การ "ป้องกัน" และสามประเทศในแอฟริกาตะวันตก ทั้ง กินี, เซียร์ราลีโอน และไลบีเรีย ได้กลายเป็นประเทศที่มีการระบาดของเชื้ออีโบลาอย่างรุนแรง จนต้องประกาศมาตรการในการควบคุมกันอย่างเข้มข้นจนถึงปัจจุบัน

ผู้ป่วยที่ติดเชื้ออีโบลาจะมีอาการไข้ขึ้นสูง ท้องเสียอย่างรุนแรง และอาเจียน นำไปสู่ภาวะเลือดออกในร่างกาย อวัยวะล้มเหลว และ เสียชีวิตในที่สุด ซึ่งเมื่อใดที่มีการสัมผัสกับไวรัสโดยตรงผ่านสารคัดหลั่งของผู้ป่วย อาการก็จะเริ่มให้เห็นอย่างรวดเร็ว โดยระยะการแพร่เชื้อจากคนสู่คนจะเริ่มขึ้นเมื่อปรากฏอาการแล้วเท่านั้น และเนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถแพร่ได้ผ่านทางการสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่ง รวมไปถึงเข็มฉีดยาที่ปนเปื้อน เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยจึงต้องสวมชุดป้องกันอย่างรัดกุม เพราะหากขาดความระมัดระวังที่ดีพอ ก็อาจจะติดเชื้อได้

ด้วยเหตุนี้ ยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากอีโบลาจึงได้ทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการแพร่ระบาดที่แผ่ขยายออกไปยังประเทศไนจีเรีย และพบผู้ติดเชื้อในอีกหลายประเทศ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงทั้งสิ้น และอีกหลายคนเป็นเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ป่วยจนติดเชื้ออีโบลา บางคนรอดชีวิตมาได้ แต่หลายคน "ตาย"

การแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาเป็นสิ่งที่หลายคนไม่คาดคิดว่าจะรุนแรงขนาดนั้น ถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขติดเชื้อกันอย่างกว้างขวาง ประเทศเซียร์ราลีโอนหนึ่งในประเทศที่มีการระบาดของไวรัสอีโบลาอย่างรุนแรง ถึงขั้นต้องมีการประกาศปิดประเทศเป็นเวลา 72 ชั่วโมง เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อทำการเคาะประตูทุกบ้าน ตรวจหาดูว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่ในบ้านไหนหรือไม่ หรือมีการปกปิดซ่อนตัวผู้ตายเอาไว้ในบ้านหรือไม่ เพราะการเก็บซ่อนศพเอาไว้ ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลา เพราะชาวบ้านไม่ยอมนำศพของผู้เสียชีวิตออกมาทำการเผาทิ้ง กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อสำคัญและทำให้เกิดการระบาดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลา ทำให้หลายประเทศต้องหามาตรการในการสกัดกั้นผู้ป่วย ด้วยการคัดกรองเบื้องต้น อย่างเช่น การกรอกข้อมูลของการเดินทางก่อนหน้านั้น หรือการวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้โดยสาร

ท่ามกลางความพยายามในการควบคุมสถานการณ์เอาไว้ทั่วโลก แต่งบประมาณที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วย รวมไปถึงเพื่อการพัฒนายารักษาหรือวัคซีนกลับมีอยู่อย่างจำกัด โดยคณะนักวิจัยจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ตำหนิกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟว่า เป็นต้นเหตุที่ทำให้ประเทศในแอฟริกาตะวันตกที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการระบาดของไวรัส อีโบลา ตกอยู่ในภาวะเดือดร้อน เพราะไม่มีเงินทุนมาช่วยในการควบคุมการระบาดของโรค เพราะมีการตัดงบประมาณในการช่วยเหลือทั้งไลบีเรีย กินีและเซียร์ราลีโอน จนทำให้ทั้งสามประเทศขาดเงินทุน เจ้าหน้าที่และความเตรียมพร้อม

แต่ไอเอ็มเอฟก็ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหา ดังกล่าว โดยระบุว่าไอเอ็มเอฟได้เพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขให้แก่ทั้งสามประเทศแล้ว เพราะฉะนั้น ข้อกล่าวหาที่ว่าไอเอ็มเอฟเป็นต้นเหตุของการระบาดจึงไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน

ขณะที่ธนาคารโลกได้ตั้งงบประมาณสูงถึงกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือ 3 ประเทศในแอฟริกาตะวันตกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสอีโบลา เพื่อให้ทั้งสามประเทศนำไปใช้เพื่อจ้างเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขทั้งในและจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจตราผู้ติดเชื้ออีโบลา รวมถึงฟื้นฟูหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่จำเป็น เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาที่ระดมทั้งเงินและความช่วยเหลือด้านต่างๆ แก่ประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับการระบาดของอีโบลา

ขณะที่กลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน หนึ่งในองค์กรที่พยายามลุกขึ้นมาช่วยเหลือประเทศที่กำลังได้รับความลำบากจากการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา ตัดพ้อต่อการตอบสนองของสมาชิกสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือประเทศที่กำลังประสบปัญหาการระบาดของอีโบลา และทำให้ปัญหาลุกลามไปจนยากจะควบคุม

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมา ฮูระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสอีโบลา ตอนนี้ ทะลุหลัก 7 พันกว่ารายไปแล้ว โดยเหยื่อส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในแอฟริกาตะวันตก ส่วน ผู้เสียชีวิตในประเทศอื่นๆ นอกจาก 3 ประเทศนี้คือ ที่ประเทศมาลี 6 ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย และไนจีเรีย 8 รายขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อก็เหยียบสองหมื่น หากแต่มาตรการรักษาหรือการควบคุมก็ยังดูไร้วี่แววที่จะหยุดการระบาดได้ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเซียร์ราลีโอ กินีและไลบีเรีย ที่ยังคบพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฮูเชื่อว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อหรือเสียชีวิตนั้น อาจจะมีมากกว่าที่รับรู้กัน เพราะการหลบซ่อนของชาวบ้านในพื้นที่การระบาด

โดยตัวเลขจากฮูระบุไว้ล่าสุดเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า ประเทศที่ขึ้นมาอันดับหนึ่งของการแพร่ระบาดคือ เซียร์ราลีโอน ที่กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด คือกว่า 9,200 คน และเสียชีวิตกว่า 2,655 ราย รองลงมาคือ ประเทศไลบีเรีย ที่มีผู้ติดเชื้อกว่า 7,800 คน และเสียชีวิตกว่า 3,300 ราย อันดับ 3 คือ ประเทศกินี ประเทศที่มีการระบาดของไวรัสอีโบลาเป็นประเทศแรกในรอบนี้ โดยมีผู้ติดเชื้อกว่า 2,600 คน และเสียชีวิตแล้ว 1,650 ราย

ขณะที่เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่ติดเชื้ออีโบลาราว 666 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 366 ราย และด้วยเหตุที่งานนี้บุคลากรด้านสาธารณสุขเป็นกลุ่มบุคคลที่สำคัญในการต่อสู้กับไวรัสอีโบลา นิตยสารไทม์ถึงกับยกให้ "บุคลากรด้านสาธารณสุขรวมทั้งองค์กร ต่างๆ ที่ต่อสู้กับการระบาดของไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก" เป็นบุคคลแห่งปี ประจำปี 2557 ในฐานะผู้ที่ยอมสละตนลงพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ พร้อมกับชื่นชมในความกล้าหาญและเสียสละของบุคคลเหล่านี้ ที่มีจิตใจที่กล้าหาญและเมตตาต่อผู้อื่นอย่างไม่ เหน็ดเหนื่อย

แม้ว่าในหลายประเทศที่เคยมีผู้ติดเชื้ออีโบลา อย่างไนจีเรีย สเปน หรือเซเนกัล ที่เคยพบผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลา จะได้รับการประกาศจากฮูให้เป็นพื้นที่ปลอดไวรัสอีโบลาแล้ว แต่สถานการณ์การระบาดของไวรัสอีโบลาก็ในพื้นที่ 3 ประเทศ ทั้งกินี ไลบีเรียและเซียร์ราลีโอน ก็ดูจะยังคงไม่จบลงง่ายๆ ท่ามกลางความพยายามในการคิดค้นวัคซีนและยารักษาอย่างต่อเนื่อง

และคาดกันว่า ไวรัสอีโบลา จะยังคงระบาดต่อไปจนถึงสิ้นปี 2558 นี้ทีเดียว ?

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 30 ธันวาคม 2557