ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดในปี 2558 พบ 6 โรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา โรคไทฟอยด์ โรคเมลิออยโดสิส โรคตาแดง และโรคไข้หวัดนก ส่วนโรคที่คาดว่าจะพบผู้ป่วยจำนวนมาก ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคอาหารเป็นพิษ และโรคมือ เท้า ปาก สำหรับช่วงเทศกาลปีใหม่นี้พยากรณ์จำนวนผู้เสียชีวิตประมาณ 335-384 คน ส่วนช่วงสงกรานต์ประมาณ 292–347 คน    

เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.57 ที่กรมควบคุมโรค นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการแถลงข่าว เรื่อง“กรมควบคุมโรค..พยากรณ์โรคที่ต้องจับตามองในปี 2558” พร้อม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้     

นพ.โสภณ กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการวิเคราะห์สถานการณ์โรคในระบบเฝ้าระวังต่างๆ ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2557 เพื่อดูแนวโน้มของการเกิดโรคในปีพ.ศ.2558 นำมาพยากรณ์โรคโดยใช้รูปแบบจำลองกับชุดข้อมูลรายเดือนและรายปี ตลอดจนดูแนวโน้มของสถานการณ์โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 พยากรณ์โรคติดต่อและโรคติดต่ออุบัติใหม่ ดังนี้

1)โรคที่น่าจับตามอง 5 โรค ซึ่งแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 ในปี พ.ศ. 2558 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2557 ได้แก่ โรคไข้เลือดออก คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงสุดในเดือนสิงหาคมประมาณ 8,300 ราย โดยจะมีจำนวนผู้ป่วยในปี พ.ศ. 2558 รวมทั้งสิ้นประมาณ 45,000 ราย  โรคชิคุนกุนยาเป็นโรคที่มีรูปแบบการเกิดโรคไม่ชัดเจนนัก คาดว่าอาจมีผู้ป่วยสูงสุดในเดือนพฤษภาคมสูงถึงประมาณ 800 ราย และอาจมีจำนวนผู้ป่วยในปี พ.ศ. 2558 รวมทั้งสิ้นประมาณ 2,500 ราย โรคไทฟอยด์ คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงสุดในเดือนกรกฎาคมประมาณ 280 ราย โดยจะมีจำนวนผู้ป่วยในปี พ.ศ. 2558 รวมทั้งสิ้นประมาณ 2,000 ราย โรคเมลิออยโดสิส คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงสุดในเดือนกันยายนประมาณ 240 ราย โดยจะมีจำนวนผู้ป่วยในปี พ.ศ. 2558 รวมทั้งสิ้นประมาณ 3,100 ราย  และโรคตาแดง คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงสุดในเดือนกันยายนประมาณ 87,000 ราย โดยจะมีจำนวนผู้ป่วยในปี พ.ศ. 2558 รวมทั้งสิ้นประมาณ 660,000 ราย

2)โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่น่าจับตามองในปี พ.ศ. 2558 ได้แก่ โรคไข้หวัดนก เนื่องจากในช่วงปี พ.ศ. 2557 การระบาดของเชื้อไข้หวัดนกเกิดขึ้นในหลายประเทศที่อยู่รอบประเทศไทย เช่น จีนและกัมพูชา มีการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในคนและในสัตว์ปีก เวียดนาม ลาว เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และไต้หวัน มีการพบการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกทั้งในสัตว์ปีกและในตลาดค้าสัตว์ปีก ดังนั้น จำเป็นต้องทำการเฝ้าระวังกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจและกลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง รวมถึงติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด 

3)โรคที่มีแนวโน้มการรายงานผู้ป่วยสูงมากขึ้นในปี พ.ศ. 2558 นอกเหนือจากโรคที่ต้องจับตามอง ได้แก่ โรคเท้าช้าง โรคสครับไทฟัส อหิวาตกโรค โรคบิด และโรคไข้หูดับ 

4)โรคที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากและน่าจับตามอง ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงสุดในเดือนกันยายนประมาณ 13,838 ราย โดยจะมีจำนวนผู้ป่วยในปี พ.ศ. 2558 รวมทั้งสิ้นประมาณ 90,000 ราย  โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงสุดในเดือนมกราคมประมาณ 116,523 ราย โดยจะมีจำนวนผู้ป่วยในปี พ.ศ. 2558 รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,030,000 ราย โรคอาหารเป็นพิษ คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงสุดในเดือนมกราคมประมาณ 13,537 ราย โดยจะมีจำนวนผู้ป่วยในปี พ.ศ. 2558 รวมทั้งสิ้นประมาณ 129,000 ราย และโรคมือ เท้า ปาก คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงสุดในเดือนกรกฎาคมประมาณ 5,763 ราย โดยจะมีจำนวนผู้ป่วยในปี พ.ศ. 2558 รวมทั้งสิ้นประมาณ 40,000 ราย

นพ.โสภณ กล่าวต่อไปว่า ในกลุ่มที่ 2 พยากรณ์จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์มีแนวโน้มที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ช่วงระหว่างปี 2549 ถึงประมาณปี 2553 จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน แต่หลังจากปี 2553 จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเริ่มคงที่ประมาณ 321–366 คนในช่วงเทศการปีใหม่ และประมาณ 271–323 คนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สำหรับการพยากรณ์จำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี 2557 และต้อนรับปีใหม่ 2558 คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 335–384 คน และคาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2558 ประมาณ 292–347 คน

ส่วนกลุ่มที่ 3 พยากรณ์จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองมีแนวโน้มเพิ่มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2549 โดยในปี 2556 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง 23,222 คน จากการพยากรณ์จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในปี 2558 จะมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 26,610 คน และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จากการพยากรณ์จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดคาดว่าในปี 2558 จะมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 17,810 คน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการในการดำเนินงานเพื่อปกป้องประชาชนจากโรคและภัยสุขภาพ โดยยึดหลักการที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1.ดำเนินการป้องกันทุกโรคที่ป้องกันได้  โดยการนำวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมาใช้  การพัฒนากฎหมายเพื่อการป้องกันควบคุมโรค  การพัฒนาระบบคัดกรองและการรักษาอย่างรวดเร็ว  การพัฒนาศักยภาพด่านควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันโรคที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน  2.เฝ้าระวังและตรวจจับโรคและภัยสุขภาพให้ได้อย่างรวดเร็ว  โดยดำเนินการพัฒนาระบบข้อมูลสำหรับการเฝ้าระวังบูรณาการ 5 กลุ่มโรค 5 มิติ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการวิเคราะห์ข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์  และ 3.การตอบโต้โรคและภัยอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  ซึ่งรวมถึงการพัฒนานักระบาดวิทยาภาคสนาม และเชี่ยวชาญด้านการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค  การพัฒนาทีมสอบสวนโรคสหสาขาวิชาชีพเคลื่อนที่เร็ว 

“ซึ่งการดำเนินงานทั้ง 3 เรื่องนี้ กรมควบคุมโรคได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ทั้งหน่วยงานในส่วนกลางและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ ที่สำคัญการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคในปัจจุบันจำต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัด โรงเรียน สถานประกอบการเอกชน ประชาชนทั่วไป และผู้ป่วย ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงควรทบทวนบทบาทหน้าที่ และเตรียมพร้อมรับมือกับโรคและภัยที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยการกำหนดมาตรการที่เหมาะสม รวมทั้งการสื่อสารความเสี่ยงเตือนภัยการระบาดของโรคแก่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการป้องกันควบคุมโรคและลดการระบาดที่จะเกิดขึ้นได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422" นพ.โอภาส กล่าว