ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : ที่ผ่านมา ในหลายรัฐบาลมักจะมีเสียงเรียกร้องจาก "ผู้ประกันตน" ในหลายภาคส่วนให้รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงมือ "ปฏิรูป" สำนักงานประกันสังคม (สปส.) อย่างจริงจัง ทั้งการออกมาเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคมของทุกปี รวมทั้งการที่ผู้นำแรงงานในภาคส่วนต่างๆ ขอเข้าพบเพื่อหารือและยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มีหน้าที่ดูแลด้านนี้โดยตรง มาหลายต่อหลายสมัย และทุกคนล้วนรับปากว่าจะนำเรื่องนี้ไปพิจารณา ไปตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษา วิเคราะห์ แต่ภาคประชาชนกลับไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

สปส.เป็นหน่วยงานที่ดูแล กองทุนประกันสังคม กองทุนที่ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเงินในกองทุนกว่า 1.2 ล้านล้านบาท และมีผู้ประกันตนเป็นสมาชิกจำนวนกว่า 11 ล้านคน เรียกได้ว่าเป็นกองทุนที่มีสมาชิกในการดูแลเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย มีหน้าที่ดูแลด้านสวัสดิการของแรงงานในระบบทุกคน รวมไปถึงแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมายในไทยด้วย

หากย้อนไปดูพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 8 ที่กำหนดให้ สปส.มีคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เพื่อดูแลการบริหารงานภาพรวม โดยกำหนดให้ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ มีผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ มีผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการและกำหนดให้เลขาธิการ สปส.เป็นกรรมการและเลขานุการ

จากข้อกำหนดจะเห็นว่า โครงสร้าง สปส.เป็นการบริหารงานแบบ 3 ฝ่ายคือ ภาครัฐ นายจ้าง และผู้ประกันตน แต่จะเห็นว่ากว่าครึ่งของบอร์ด สปส.เป็นข้าราชการประจำ นอกจากนั้น ยังมีตำแหน่งที่ปรึกษาบอร์ด สปส. ซึ่งให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งเข้ามาอีกถึง 5 ตำแหน่ง

นั่นทำให้ประชาชนมองว่าการบริหารงานทั้งหมดตกอยู่ภายใต้การเข้ามามีส่วนร่วมของฝ่ายการเมืองและข้าราชการ ทั้งที่เงินในกองทุนเป็นของผู้ประกันตน และมองว่าข้อมูลการบริหารงานที่ผ่านมาตั้งแต่ตั้ง สปส.มานั้นไม่ถูกเปิดเผยให้เจ้าของเงินกว่า 11 ล้านคน รับทราบ

ทั้งการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน ที่มีข้อกังขาจากผู้ประกันตนว่า เหตุใดประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล การบริการรวมทั้งเรื่องของการจ่ายยา จึงดูจะด้อยกว่ากองทุนรักษาพยาบาลอื่นๆ ของรัฐอยู่ไม่น้อย

นอกจากนี้ เครือข่ายผู้ประกันตนยังเรียกร้องให้เปิดเผยรายละเอียดการลงทุนว่า ในแต่ละปีมีการนำเงินไปลงทุนในภาคส่วนใด ได้กำไร/ขาดทุนเป็นจำนวนเท่าใด และล่าสุดที่ผู้ประกันตนเป็นกังวลคือ แนวคิดการนำเงินกว่า 60,000 ล้านบาท ออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อให้ได้กำไรที่มากกว่าการลงทุนภายในประเทศ

เนื่องจากผู้ประกันตนไม่มีความมั่นใจในการบริหารงานของทีมงานว่าจะมีความเป็นมืออาชีพหรือมีความสามารถเพียงพอหรือไม่ ซึ่งการบริหารงานที่ขาดความเป็นมืออาชีพอาจส่งผลต่อความมั่นคงของกองทุน และยังไม่มั่นใจว่าการบริหารงานมีความโปร่งใสหรือไม่

ล่าสุด ดูเหมือนความพยายามเรียกร้องของผู้ประกันตนจะเริ่มประสบผล เพราะ "บิ๊กเต่า" พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คนล่าสุด ประกาศว่า จะต้องมีการปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อให้ประชาชนพอใจ และต้องเปิดเผยข้อมูลที่ประชาชนอยากทราบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารงาน และมองว่า สปส.ต้องใช้มืออาชีพในการบริหารงาน ซึ่งคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวดูเหมือนว่าจะเป็นแนวคิดที่ตรงใจกับผู้ประกันตนส่วนมาก จึงมอบหมายให้ นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานคณะทำงานศึกษาแนวทางปฏิรูปกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ซึ่งได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนทุกภาคทั่วประเทศไปในเดือนธันวาคม

ผลการศึกษาน่าจะออกมาอย่างน้อย 3 แนวทางดังนี้ 1.ให้กองทุนประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระที่แยกการบริหารงานจากกระทรวงแรงงาน 2.เป็นองค์กรกึ่งอิสระบริหารงานโดยมืออาชีพที่เชี่ยวชาญด้าน การบริหารการลงทุนและการบริหารความเสี่ยงแต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงานตามกฎหมาย 3.ให้บริหารงานแบบเดิม

นอกจากนี้ ยังได้ออกสำรวจ ความพึงพอใจ ของผู้ประกันตนใน 5 ด้าน คือ 1.การรักษาพยาบาล 2.การบริการ 3.สิทธิประโยชน์ 4.ภาพลักษณ์ของสำนักงานประกันสังคม และ 5.สถานประกอบการ โดยการสำรวจจะครอบคลุมสมาชิกประกันสังคมทุกมาตรา ทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ซึ่งจะแบ่งสัดส่วนทางด้านปัจจัยต่างๆ ทั้ง เพศ อาชีพ ระดับการศึกษา และรายได้ให้มีจำนวนเท่ากัน โดยจะออกสำรวจหัวข้อละ 1,000 ตัวอย่าง รวมทั้งนำข้อมูลการร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม มาประกอบ

ผลจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้ประกันตนและการพิจารณาอย่างรอบด้านทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งคณะทำงานจะสรุปรายละเอียดทั้งหมดเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพิจารณาภายในเดือนมกราคม 2558 เพื่อนำไปประกอบการปฏิรูป สปส.อย่างจริงจัง

แต่เบื้องต้น สปส.โดย โกวิท สัจจวิเศษ โฆษก สปส.ได้แถลงข่าวส่งท้ายปี 2557 ว่า นับตั้งแต่ปีใหม่ 2558 เป็นต้นไป ผู้ใดก็ตามที่ต้องการทราบข้อมูลของ สปส.ในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการลงทุน การบริหารจัดการ การจัดซื้อจัดจ้าง ฯลฯ สามารถเดินเข้าไปขอรายละเอียดจาก สปส.ได้ เพราะจะไม่มีการปิดบังข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือการสอบวินัยของเจ้าหน้าที่เท่านั้นที่เป็นความลับ อีกทั้งได้เสนอในชั้นกรรมาธิการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.... เพื่อกำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคม มีตัวแทนที่มาจากผู้ประกันตนอย่างแท้จริงโดยการเลือกของผู้ประกันตนเอง โดยไม่กำหนดเพียงตัวแทนจากสหภาพหรือองค์กรลูกจ้างที่ขึ้นทะเบียนกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เท่านั้น

ที่สำคัญ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะปฏิรูป สปส.อย่างแท้จริง สปส.ได้เสนอต่อรัฐนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจากภายนอกในระหว่างที่ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ยังไม่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ผู้ประกันตนต้องรอดูว่า การปฏิรูป สปส.นี้ จะออกมาตรงใจตามที่ พล.อ.สุรศักดิ์ ลั่นวาจาไว้หรือไม่ หากตรงใจก็อาจถือเป็น ของขวัญปีใหม่ชิ้นใหญ่และถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของ "บิ๊กเต่า" และรัฐบาลเลยทีเดียว

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 2 มกราคม 2557