ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอวิชัย” เย้ย สธ.ฝีมือบริหารห่วย หากดีจริงไม่เกิด “สปสช.” แยกผู้ซื้อ-ผู้ให้บริการ พร้อมเผยข้อมูลย้อยหลังช่วงบทเฉพาะกาล พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่งงบเหมาจ่าย สธ.จัดการ 3 ปีแรก ทำ รพ.ขาดทุนกว่า 200 แห่ง พร้อมตั้งข้อสังเกตข้อเสนอ สธ.ปรับจัดสรรงบขาลง แต่กลับลงนามโดย “หมอณรงค์” ข้ามหัว รมว.สธ.

นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงปัญหาภาวะขาดทุน รพ.สังกัด สธ.ที่มีถึง 105 แห่ง ในการเสนอปรับการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวขาลงต่อที่ประชุม บอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา ว่า รพ.ขาดทุนเป็นวาทกรรมที่พูดกันมาโดยตลอด หากย้อนไปช่วงเริ่มต้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใน 3 ปีแรก มีรายงาน รพ.ขาดทุนกว่า 200 แห่ง ขณะเดียวกันก็มี รพ.ที่มีสถานะการเงินดีขึ้นถึง 200 แห่งเช่นกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการบริหารของ สธ.เอง เนื่องจากขณะนั้นยังอยู่ในบทเฉพาะกาล พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ให้ สธ.ทำหน้าที่บริหารงบประมาณเอง

ทั้งนี้ หลังจากพ้นบทเฉพาะกาลและส่งมอบให้ สปสช.ทำหน้าที่บริหารงบประมาณ ปรากฎว่าปัญหา รพ.ขาดทุนจริงค่อยดีขึ้น จำนวน รพ.ขาดทุนลดลง ตรงนี้สามารถย้อนดูข้อมูลได้ เนื่องจาก นพ.สงวน นิติยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช.ขณะนั้น ได้เตรียมความพร้อมจัดทำหลักเกณฑ์กระจายงบประมาณไปยัง รพ.ที่ชัดเจน ได้แก่ 1.จำนวนประชาชน 2.ขนาด รพ. 3.จำนวนผู้ใช้บริการ และ 4.ปัญหาพื้นที่และความทุรกันดาร นอกจากนี้ นพ.สงวน ยังให้ประกาศขึ้นเว็บไซต์ในเดือน ต.ค.ด้วยว่า รพ.แต่ละแห่งได้รับงบเท่าไหร่ เพื่อความโปร่งใส่และให้ตรวจสอบได้ ต่างจากการบริหารของ สธ.ที่ไม่มีหลักเกณฑ์ การกระจายงบประมาณขึ้นอยู่ดุลยพินิจผู้บริหาร

นพ.วิชัย กล่าวว่า ปี 2518 ก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รัฐบาลในยุคดังกล่าวได้เริ่มนโยบายรักษาฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่เป็นจุดเริ่มปฏิรูปการรักษาพยาบาลให้ประชาชนเข้าถึง เพิ่มงบประมาณจำนวนมากและมอบให้ สธ.ทำหน้าที่บริหารจัดการ ตั้งแต่ปี 2518-2544 รวมระยะเวลา 26 ปี หากการบริหาร สธ.ทำได้ดี คงไม่เกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและ สปสช.ขึ้นในปี 2545 เนื่องจากสถานะและบทบาทหน้าที่ของ สธ.คือ ผู้บริหาร รพ.ในสังกัด และหน่วยงานดูแลประชาชนด้านการรักษาพยาบาล โดยทำหน้าที่ 2 อย่างพร้อมกันด้วยเงินที่ได้จากรัฐก้อนเดียวกัน ดังนั้นคำถามคือ สธ.จะเลือกดูแลส่วนไหนมากกว่ากัน ต่างจาก สปสช.ที่มีวัตถุประสงค์จัดตั้งชัดเจน มีหน้าที่ดูแลประชาชน 48 ล้านคนให้เข้าถึงการรักษาพยาบาล ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า การทำหน้าที่บริหารงบประมาณหน่วยงานใดที่ประชาชนได้ประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ข้อเสนอของ นพ.ณรงค์ จึงเป็นการถอยหลังเข้าคลองหรือไม่         

“12 ปีที่ สปสช.ได้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดูได้จากผลประเมินความพึงพอใจของประชาชน โดยการสำรวจของสำนักเอแบคโพล ปี 2546 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 80 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงแล้ว แต่ปัจจุบันได้ขยับเพิ่มเป็นร้อยละ 90” กรรมการ สปสช.กล่าว

นพ.วิชัย กล่าวว่า แม้ว่าในการเสนอปรับการจัดสรรงบครั้งนี้ สธ.จะอ้างถึงการพัฒนาเขตบริการสุขภาพ ที่มีการปรับประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลในระบบ สธ. แต่คนที่จะทำหน้าที่บริหารเขตได้ดี ต้องมีคุณสมบัติ 4 ข้อ คือ 1.ต้องเป็นคนที่เก่งมาก 2.ซื่อสัตย์สุจริต 3.เป็นธรรม และ 4.ทุ่มเทให้กับงานอย่างหนัก ในจำนวนผู้ตรวจทั้งหมดมีกี่คนที่มีคุณสมบัติครบทั้ง 4 ข้อนี้ ซึ่งที่ผ่านมาเพิ่งมีผู้ตรวจราชการ สธ.ถูกให้ออกไป 1 คนจากปัญหาสอบทุจริต อีกทั้งบางคนมาจากสายกรมไม่มีความรู้การบริหารหน่วยบริการ นอกจากนี้การบริหารโดยแยกเป็น 12 เขต คำถามคือหากแต่ละเขตใช้มาตรฐานการจัดสรรงบที่ไม่เหมือนกันจะเกิดอะไรขึ้นกับหน่วยบริการ

นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า หากวิเคราะห์ถึงปัญหาการขาดทุนของ รพ. มีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุ ทั้งพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ประชากรน้อย มีรายได้ทางเดียวจากงบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่มีรายได้จากระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการหนุนเสริม และมีคนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิเข้ารับบริการมาก กลายเป็นภาระที่ รพ.ต้องแบกรับ โดย รพ.เหล่านี้ไม่ว่าอย่างไรก็ขาดทุน ขณะที่รายจ่ายถูกขยับเพิ่มขึ้น ทั้งเงินเดือน ค่าตอบแทน ยาและเวชภัณฑ์ ทั้งงบประมาณปี 2558 ยังคงในอัตราเดียวกับปี 2557 ขณะที่มูลค่าเงินลดลงจากอันตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้รายได้และรายจ่ายไม่สมดุลกัน

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากประสิทธิภาพการบริหารของ ผอ.รพ. เช่น การจัดซื้อครุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็น การจ้างบุคลากรมากไป และการรั่วไหลของงบประมาณ ซึ่ง ผอ.รพ.บางส่วนก็ไม่มีความเชี่ยวชาญการบริหาร ทำให้เกิดปัญหา รพ.ขาดทุนเช่นกัน ทั้งนี้หากดูจากข้อมูล พบว่าในกลุ่ม รพ.ขาดทุน ส่วนใหญ่เป็น รพ.เปิดใหม่จากการแตกเป็นกิ่งอำเภอ อีกทั้งยังอยู่พื้นที่ห่างไกล ทำให้ได้งบรายหัวประชากรน้อย อย่างไรก็ตามหากดูภาพรวม รพ.สังกัด สธ. ในส่วนเงินบำรุง รพ. ในช่วงเริ่มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2546 สธ.มีเงินบำรุงเพียงแค่กว่าหมื่นล้านเท่านั้น แต่ปี 2556 สธ.มีเงินบำรุงเพิ่มเป็น 4-5 หมื่นล้านบาท แต่กลับมาบอกว่าขาดทุน

 นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอการปรับจัดสรรงบเหมาจ่ายขาลงของ สธ.นั้น นอกจากการดำเนินงานที่ผิดหลักเกณฑ์และขั้นตอนแล้ว เนื่องจาก สธ.นำเสนอข้อมูลล่าช้า ทำให้บอร์ด สปสช.ไม่มีเวลาพิจารณารายละเอียดล่วงหน้าทั้งที่เป็นเรื่องที่กระทบคนถึง 48 ล้านคนแล้ว ยังเป็นการนำเสนอข้อเสนอ สธ.ที่ลงนามโดย นพ.ณรงค์ ซึ่งต้องถามว่าขณะนี้ใครเป็นเจ้ากระทรวงที่ต้องเป็นผู้ตัดสินใจ นพ.ณรงค์ หรือ รมว.สาธารณสุข ดังนั้นข้อเสนอที่ออกจาก สธ.ที่เป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้ควรต้องลงนามโดยใคร แต่กลับมีการส่งข้อเสนอที่ข้ามหัวเจ้ากระทรวงมา

ส่วนกรณีที่ นพ.ณรงค์ ออกมาเปิดข้อมูลการบริหาร สปสช. ที่มีการโอนงบไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่ไม่ใช่หน่วยบริการที่เป็นการนำงบประมาณไปใช้ผิดวัตถุประสงค์นั้น ไม่เป็นปัญหา เพราะ สปสช.ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน.