ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.แถลงปี 2558 รุก 4 นโยบายหลัก ทั้งระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน และพัฒนาการแพทย์แผนไทย ต่อยอดงานรักษาพยาบาล ช่วยประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง

5 ม.ค.58 นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2558 ว่า ในปีนี้ สปสช.จะเดินหน้าผลักดันต่อเนื่องใน  4 นโยบายหลักด้วยกัน คือ 1.ระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) 2.ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 3.การลดความเหลื่อมล้ำระบบรักษาพยาบาล และ 4.การพัฒนาการแพทย์แผนไทย โดยได้มีการจัดทำแผนดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเพื่อรองรับการดูแลรักษาประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

นพ.วินัย กล่าวว่า ในส่วนระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวนั้น ที่ผ่านมา สปสช.ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่องในการจัดทำแผนเพื่อรองรับการดูแลผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี อีกทั้งขณะนี้ประเทศไทยเองได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้สูงอายุมักมีความเจ็บป่วยที่เป็นไปตามสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการดำเนินวิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน นอกพื้นที่ ส่งผลให้มีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งถูกทอดทิ้ง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีระบบรองรับ ทั้งนี้ที่ผ่านมา นอกจากมีการจัดทำโครงการนำร่องในการดูแลผู้อายุแล้ว สปสช.ยังได้สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดตั้งกองทุนต่างๆ อาทิ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่ประสานร่วมกับ อบจ. กองทุนสุขภาพตำบลที่ทำงานร่วมกับ อบต. ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง

ส่วนระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นหนึ่งในนโยบายที่ต้องเร่งพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงระบบบริการโดยเร็ว ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ป่วยฉุกเฉินมีเวลาที่จำกัด มีความเสี่ยงต่อความพิการและชีวิตอย่างรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร่งด่วน ที่ผ่านมาแม้ว่าจะได้มีการประกาศนโยบายระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินแล้ว โดยผู้ป่วยเข้ารับบริการยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ตามสิทธิกองทุนที่ไม่ต้องสำรองจ่าย แต่ยังมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ ดังนั้นจึงต้องเร่งพัฒนาอย่างจริงจัง โดยจะมีการแยกกองทุนรักษาผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในจากเหตุฉุกเฉินออกจากงบรักษาพยาบาลปกติประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท เพื่อให้สามารถจัดการระบบบริการทั้งด้านการรักษาและส่งต่อ โดยเชื่อมโยงระบบกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลเอกชนได้ดียิ่งขึ้น

นพ.วินัย กล่าวว่า ส่วนการลดความเหลื่อมล้ำรักษาพยาบาล โดยเฉพาะในระบบ 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการดำเนินการและมีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง โดยได้นำเสนอต่อ ดร.อัมมาร สยามวาลา ประธานคณะกรรมการประสานระบบสุขภาพ 3 กองทุนแล้ว และอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดวางระบบที่ชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ทั้งการกำหนดสิทธิประโยชน์เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และอัตราการจ่ายค่าบริการที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน โดยมี สปสช.ทำหน้าที่เลขาคณะกรรมการฯ รวมไปถึงการเดินหน้าจัดตั้งศูนย์การจัดการข้อมูลหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ส่วนนโยบายการพัฒนาการแพทย์แผนไทย ในปี 2558  สปสช.ได้จัดงบประมาณเพื่อสนับสนุนการแพทย์แผนไทย โดยเฉพาะการใช้ยาสมุนไพรไทยในการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยร่วมกับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในการขยายบัญชียาสมุนไพรที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมไปถึงการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อให้มีระบบบริการที่ได้มาตรฐานและรองรับมากขึ้น ทั้งนี้ในปี 2558 นี้ สปสช.ยังได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาเพื่อให้ทุกจังหวัดมีโรงพยาบาลที่ผลิตสมุนไพรไทย พร้อมกันนี้จะผลักดันให้การแพทย์แผนไทยจากที่เป็นเพียงแต่ส่วนประกอบในการรักษา โดยจะปรับให้เป็นหนึ่งในการรักษาทางเลือกให้กับผู้ป่วย เพื่อให้เป็นทางเลือกคู่ขนานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งในส่วนนี้ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งคลินิกแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลทุกแห่ง ทั้งนี้เพื่อขยายการแพทย์แผนไทยให้เข้าสู่ระบบมากขึ้น