ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขจัดระบบเฝ้าระวังและติดตามผู้ป่วยโรคซิลิโคซิสหรือโรคปอดฝุ่นหินที่จังหวัดสระบุรีอย่างต่อเนื่องระยะยาว เนื่องจากมีเหมืองหิน โรงโม่หิน ย่อยหิน แหล่งใหญ่ของประเทศ เพื่อให้สามารถติดตามปัญหาและทราบขนาดปัญหาได้อย่างชัดเจนรวดเร็ว ช่วยวางแผนป้องกันและรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ขับเคลื่อนกฎหมายสิ่งแวดล้อม ปี 2535 จัดการปัญหาและดูแลสุขภาพประชาชน รองรับการเจริญเติบโตของจังหวัดที่จะเป็นชุมทางการคมนาคมขนส่งคนและสินค้าที่สำคัญของประเทศ

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2558 ที่จ.สระบุรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสระบุรี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพหนองโน และลงพื้นที่เพื่อรับฟังการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมเขตควบคุมมลพิษ ที่เทศบาลตำบลหน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี 2547 โดยมีเหมืองหิน 7 แห่ง  โรงโม่บดหรือย่อยหิน 25 แห่ง กิจการบรรทุกขนส่งหิน แหล่งใหญ่ของประเทศ

ศ.นพ.รัชตะกล่าวว่า จังหวัดสระบุรีเป็นพื้นที่เมืองที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็ว มีโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 1,400 แห่ง  ในอนาคตอันใกล้จะเป็นชุมทางการคมนาคมขนส่งทั้งคนและสินค้า อยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร จำต้องวางแผนการจัดระบบบริการด้านสุขภาพรองรับ โดยเฉพาะผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดระบบเฝ้าระวังสุขภาพผู้ทำงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ตรวจประเมินความเสี่ยงของสถานประกอบการ ตรวจสุขภาพพนักงาน ตรวจสภาพแวดล้อมการทำงาน และชุมชนโดยรอบอย่างต่อเนื่อง โดยที่จังหวัดสระบุรี ได้เฝ้าระวังสุขภาพประชาชนต่อเนื่องในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ทั้งพนักงานและประชาชนโดยรอบๆ สถานประกอบการ ผลการตรวจถึงล่าสุดปี 2557 พบประชาชนเป็นโรคทางเดินหายใจทั่วๆไป ผลการเอ็กซเรย์ปอดพบเป็นโรคหลอดลมอักเสบเพียงร้อยละ 8  ซึ่งไม่ใช่โรครุนแรง ยังไม่พบผู้ป่วยโรคซิลิโคซิส (Silicosis) แต่จะต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง เพราะโรคนี้ก่อตัวช้า ใช้เวลานานกว่า 10 ปีขึ้นไป จึงได้มอบนโยบายให้สำนักสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี จัดทำระบบทะเบียนสุขภาพผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถติดตามปัญหาและทราบขนาดปัญหาได้อย่างชัดเจนรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้วางแผนในการป้องกัน การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น    

ด้านนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการเตรียมการรองรับการเติบโตของจังหวัดสระบุรีด้านสุขภาพ ได้มอบนโยบายให้ดำเนินการอย่างเป็นระบบทั้งโครงสร้าง พื้นฐาน กำลังคนและการจัดบริการ โดยเน้น 3 ส่วน คือ 1.พื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตเมืองใหม่ 2.การจัดระบบเฝ้าระวังผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมจากขยะพิษและมลพิษอย่างต่อเนื่อง โดยให้ตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนดูแลกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้านสุขภาพคือพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ได้หารือกับรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยแล้ว เพื่อใช้เป็นกลไกระดับจังหวัด ในการจัดการปัญหาและดูแลสุขภาพประชาชนและ 3.เพิ่มการจัดระบบดูแลประชาชนที่บ้านที่อยู่ในพื้นที่เขตเมืองเพิ่มขึ้น เพิ่มความครอบคลุมการเข้าถึงบริการ

นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า จังหวัดสระบุรี ได้ตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในเขตควบคุมมลพิษ บูรณาการทำงานร่วมกัน 3 กระทรวง ได้แก่กระทรวงสาธารณสุข อุตสาหกรรมและทรัพยากรธรรมชาติฯ รวมทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เฝ้าระวังในสิ่งแวดล้อม ขณะนี้กรมควบคุมมลพิษได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศตลอด 24 ชั่วโมง รายงานผลผ่านทางเว็บไซต์ มีการประกาศแจ้งเตือนเมื่อมีค่าเกินมาตรฐาน เก็บตัวอย่างดิน น้ำ ส่งตรวจเป็นระยะๆ รวมทั้งการควบคุมป้องกัน และลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก เช่น ล้างทำความสะอาดถนน การเข้มงวดรถบรรทุกหิน  ควบคุมการระบายฝุ่นละอองจากโรงงานอุตสาหกรรม  เช่น พรมน้ำในโรงโม่หิน หรือช่วงระเบิดเหมือง ทำความล้อรถบรรทุกก่อนออกมายังถนน ฯลฯ

ในด้านสุขภาพประชาชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ได้การเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน ในพื้นที่ เทศบาลตำบลหน้าพระลาน และอบต.หน้าพระลาน  แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มพนักงาน และกลุ่มประชาชนโดยรอบ ในปี 2557 ได้ตรวจสุขภาพพนักงานในสถานประกอบการ 10 แห่ง เอ็กซเรย์ปอด 571 คน พบผิดปกติ 43 คน ตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด 258 คน พบผิดปกติ 43 คน ตรวจการได้ยิน 224คน พบผิดปกติ 94 คน ส่วนกลุ่มประชาชนที่อยู่โดยรอบๆ พื้นที่ ได้จัดโครงการตรวจสุขภาพตั้งแต่ปี 2554  เป็นต้นมา ผลการตรวจอยู่ในเกณฑ์ปกติ พบผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตสูงร้อยละ 30- 40 โดยมีผู้ที่มีการทำงานผิดปกติ ปอดมีความจุต่ำร้อยละ 20 ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยกว่าคนทั่วไป ซึ่งจะได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอื่นๆ โดยเฉพาะการเลี่ยงการสูดควันบุหรี่เป็นต้น  นอกจากนี้ ยังได้จัดอบรมให้ความรู้เรื่องการป้องกันตัวเองให้กับท้องถิ่น