ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.ชูวิทย์ ประธานอปสข. เขต 4 สระบุรี เปิดประชุมชี้แจงการบริหารงบบัตรทองปี 58 เผยบทบาทอปสข.ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณบัตรทองตามที่บอร์ดสปสช.กำหนด ขณะที่ผู้เข้าร่วมประชุมมีข้อเสนอ ต้องการทราบรายละเอียดการหักลบงบประมาณกองทุนย่อยที่ยังไม่เข้าใจวิธีการของ สปสช. และต้องการให้เพิ่มจำนวนกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงให้ สปสช.เขต เป็นพี่เลี้ยงในการติดตามงาน

นพ.ชูวิทย์ ลิขิตยิ่งวรา

นพ.ชูวิทย์ ลิขิตยิ่งวรา ประธาน อปสข.เขต 4 สระบุรี กล่าวในการประชุมชี้แจงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2558 ถึงบทบาท อปสข.ต่อการบริหารจัดการระบบสุขภาพในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 และหน้าที่ของสปสช.เขต คือการจัดสรรงบประมาณตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด ส่วนหน้าที่สาธารณสุข คือให้บริการประชาชน ทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสภาพ ตลอดจนพันธภิจของ อปท., เครือข่ายภาคประชาชน ก็จะต้องมีการบูรณาการใน อปสข. รวมพลังเงิน พลังคน พลังความคิด โดยยึดอะไรที่สำคัญต้องเป็นนโยบาย วิธีการเป็นตัวนำ คน เงิน ของ เป็นพลังขับเคลื่อนจึงจะเรียกว่าบูรณาการแบบสมดุล ฉะนั้นเวลาทำงานต้องเอาพันธกิจของทุกหน่วยงานมารวมกัน ด้วยวิธีการร่วมกันคิด

นพ.ชลอ ศานติวรางคณา 

ด้าน นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า งบบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2558  โดยเฉพาะงบเหมาจ่ายรายหัวเท่าเดิมจากปี 2557 จำนวน  2,895.09 บาทต่อประชากร เนื่องจากเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2558 ไม่ครอบคลุมต้นทุนค่าแรงลูกจ้างชั่วคราวของหน่วยบริการ ในส่วนที่ปรับเพิ่มกรณีค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และกรณีปริญญาตรีไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน และค่าแรงที่จะเพิ่มขึ้นจากการปรับลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานข้าราชการของ สธ.  การได้รับค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัวเท่าปีที่ผ่านมาและไม่ได้รับงบประมาณตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น

1) ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุน โดยต้องการดำเนินการมาตรการต่างๆ ที่ช่วยลดต้นทุนการบริการให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา  

2) ต้องเพิ่มประสิทธิภาพที่ระดับหน่วยบริการ เพื่อควบคุมต้นทุนบริการให้เหมาะสม    

กรณีที่จำนวนบริการมากกว่าเป้าหมายที่ได้รับงบประมาณ ทั้งที่มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุนและหน่วยบริการแล้ว ให้ใช้เงินคงเหลือตามระบบบัญชีเงินกองทุนรายการ “รายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสม” มาจ่ายได้ หรือให้ของบประมาณเพิ่มเติม หากมีเงินเหลือเมื่อสิ้นปีงบประมาณ ให้จัดสรรเงินที่เหลือนั้นให้หน่วยบริการตามจำนวนประชากรหรือผลงานการให้บริการ

ทั้งนี้ในการประชุมชี้แจงดังกล่าว ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีข้อเสนอ อาทิ ต้องการทราบรายละเอียดการหักลบงบประมาณกองทุนย่อยที่ยังไม่เข้าใจวิธีการของ สปสช. ขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมประชุมต้องการให้เพิ่มจำนวนกลุ่มเป้าหมาย และต้องการให้ สปสช.เขต เป็นพี่เลี้ยงในการติดตามงาน เป็นต้น