ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ขณะนี้มีความพยายามอย่างเป็นระบบในการที่จะล้มร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.....โดยบริษัทที่ปรึกษาข้ามชาติสองบริษัท บริษัทหนึ่งเป็นบริษัทที่วิเคราะห์และรวบรวมข้อมูล  อีกบริษัทหนึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญการประชาสัมพันธ์  โดยทั้งสองบริษัทนี้มีฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่ได้รับการว่าจ้างส่งคนเข้ามาทำงานอย่างเป็นระบบ ด้วยเป้าหมายที่จะยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ......  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขอยู่ในระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

น่าสังเกตว่า การเคลื่อนไหวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่ออกหน้าโดยสมาคมการค้ายาสูบไทย ซึ่งสนับสนุนโดยบริษัทบุหรี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ฟิลลิป มอร์ริส แต่เคลื่อนไหวในนามของผู้ค้าปลีก 700,000 ราย ทั้ง ๆ ที่สมาชิกของสมาคมเองมีเพียง 1,200 ราย และมีออฟฟิตเป็นบ้านอยู่แถวปทุมธานี ที่เวลากรมควบคุมโรคหรือผู้สื่อข่าวติดต่อไปตามที่อยู่ที่ปรากฏในเว็บ คนที่มารับโทรศัพท์กลับเป็นคนในบ้านที่ไม่ค่อยรู้รายละเอียดอะไร  และตัวผู้บริหารสมาคมที่ออกมาคัดค้านผ่านสื่อต่างๆ แต่กลับปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์หรือออกสื่อพร้อมกับเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค จึงน่าคิดว่าสมาคมนี้เคลื่อนไหวด้วยหน้างานขนาดนี้ได้อย่างไร

ในความเป็นจริงร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะส่งผลกระทบต่อร้านค้าปลีกแต่ละรายน้อยมาก เพราะสมาคมการค้ายาสูบไทยเองระบุว่ามูลค่าการค้าสินค้ายาสูบ เท่ากับร้อยละ 10 ของมูลค่าร้านค้าปลีกแต่ละราย ดังนั้นหากร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่มีผลทำให้ขายบุหรี่ได้ลดลงร้อยละ10 ก็จะส่งผลให้กำไรของร้านค้าปลีกลดลงน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้รวม

คิดกันง่ายๆ หากร้านค้าปลีกมีกำไรทั้งหมด 100 บาท จากการขายสินค้าทั้งหมด 10 บาทจะมาจากการขายบุหรี่ ถ้าหากกฎหมายฉบับใหม่ทำให้ร้านค้าปลีกมีกำไรลดลงร้อยละ 10 ของ 10 บาท ก็คือกำไรจากการขายบุหรี่ลดลงจาก 10 บาท เหลือ 9 บาท  ซึ่งในความเป็นจริง ยากที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะสามารถทำให้ยอดขายบุหรี่ลดลงได้ถึงร้อยละ 10 หากดูข้อมูลย้อนหลังยี่สิบปีที่พบว่ายอดขายบุหรี่ยังคงที่อยู่ที่ 2,000  ล้านซองต่อปี  และจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงจาก 12.3 ล้านคน เหลือ 10.9 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน

จึงเกิดคำถามว่า ในเมื่อผู้ค้าปลีกยาสูบไม่ใช่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากร่าง พ.ร.บ.ยาสูบฉบับใหม่มากมายอย่างที่กล่าวอ้าง แล้วสมาคมการค้ายาสูบไทย จริงๆ แล้วเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของใครกันแน่ และสมาคมการค้ายาสูบไทย มีแหล่งเงินสนับสนุนจากใครในการออกสื่อ (ซื้อสื่อ) ได้ทุกสัปดาห์ สามารถที่จะขึ้นบิลบอร์ดขนาดยักษ์ใจกลางกรุง มีคอลัมน์นิตส์ (มือปืน) เขียนข่าวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ด้วยข้อมูลที่บิดเบือนในหนังสือพิมพ์เกือบทุกวัน เมื่อทางกรมควบคุมโรคติดต่อไปถึง บก.หนังสือพิมพ์ ก็ได้รับคำตอบว่าเป็นพื้นที่ขายโฆษณา

ประเด็นหนึ่งที่บริษัทที่ปรึกษาพีอาร์ข้ามชาติที่รับจ็อบคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ทิ้งกลิ่นอายของคนที่คิดแบบฝรั่งมังค่า ผ่านฝ่ายที่ออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ด้วยการเรียกร้องว่ารัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ควรที่จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ ควรจะคอยให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีสภาผู้แทน และวุฒิสภาพิจารณาอย่างรอบคอบ อ้างว่าเป็นกฎหมายที่ส่งผลกระทบคนจำนวนมาก นี่ย่อมไม่ใช่ความคิดของคนไทยในการคัดค้านกฎหมายอย่างแน่นอน

สมาคมชาวไร่ยาสูบก็ออกมาเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง ไม่แพ้สมาคมการค้ายาสูบไทย ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่  ไม่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับชาวไร่ยาสูบ หรือการค้ายาสูบเลย มีการอ้างว่าชาวไร่ยาสูบ 52,000 ครอบครัวจะเดือดร้อนสาหัสจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ทั้งๆ ที่กว่าครึ่งหนึ่งของชาวไร่ยาสูบปลูกยาสูบเพื่อส่งออก และเมื่อได้รับการอธิบายว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่เป็นการควบคุมการโฆษณาและการตลาดของบริษัทบุหรี่ไม่มีอะไรเกี่ยวกับชาวไร่ยาสูบ ประเด็นที่สมาคมชาวไร่ยาสูบออกมาคัดค้านก็กลายเป็นว่า หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่กระทบผู้ผลิตบุหรี่ (ปลายน้ำ)  ก็จะส่งผลไปกระทบชาวไร่ยาสูบซึ่งเป็นต้นน้ำ และเมื่อเครือข่ายประชาชนลงไปคุยกับสมาคมชาวไร่ยาสูบในจังหวัดทางภาคเหนือที่ขึ้นป้ายคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ก็ได้ความจริงมาว่ามี “บริษัทเอกชน” สนับสนุนเงินเป็นแพคเกจสำหรับการเคลื่อนไหวคัดค้านร่างกฎหมายฉบับใหม่รวมถึงการขึ้นป้ายคัดค้านตามริมถนน

ถ้าร้านค้าปลีกและชาวไร่ยาสูบจะได้รับผลกระทบน้อยมากจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ แล้วการเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างเอาเป็นเอาตายที่กำลังเป็นอยู่ ที่ใช้บริษัทที่ปรึกษาข้ามชาติสึงสองบริษัทกำกับการคัดค้านอยู่  ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

การวิเคราะห์หาผู้ที่จะได้รับผลกระทบที่แท้จริงจากร่าง พ.ร.บ.ใหม่คิดได้ไม่ยาก บริษัทบุหรี่ที่ทำธุรกิจใหญ่ๆ ในเมืองไทยมีเพียงสองบริษัทคือ โรงงานยาสูบไทยที่มีกำไรปีละ 6,000 ล้านบาท และบริษัทฟิลลิป มอร์ริสที่มีกำไรปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ทำให้กำไรลดลงร้อยละ 10 โรงงานยาสูบไทยกำไรจะหายไป 600 ล้านบาท ขณะที่บริษัทฟิลลิป มอร์ริสกำไรจะหายไป 300 ล้านบาทต่อปี

แต่โรงงานยาสูบไทยในยุค คสช.เป็นไปได้หรือที่จะเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาข้ามชาติสองบริษัทมาบริหารจัดการคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ โดยบอร์ดโรงงานยาสูบชุดปัจจุบันแต่ตั้งโดย คสช.

บทสรุปคือบริษัทบุหรี่โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติอยู่เบื้องหลังการสนับสนุนสมาคมผู้ค้ายาสูบและสมาคมผู้บ่ม ผู้เพาะปลูก และผู้ค้าใยบาสูบไทย ให้ออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยาสูบฉบับใหม่ โดยอ้างความเดือดร้อนของร้านค้าปลีกและชาวไร่ยาสูบ แต่แท้ที่จริงแล้วเพื่อปกป้องผลกำไรของบริษัทบุหรี่เอง

รูปแบบการคัดค้านกำกับการดำเนินการโดยบริษัทที่ปรึกษาข้ามชาติ ส่วนบริษัทบุหรี่ไหนอยู่เบื้องหลังขบวนการทั้งหมด คงไม่ยากเกินกว่าที่จะจินตนาการต่อได้

ที่เรารู้แน่ๆ คือบริษัทฟิลลิป มอร์ริสว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษากฎหมายข้ามชาติ Tilike & Gibbons เป็นที่ปรึกษาในการฟ้องกระทรวงสาธารณสุขต่อศาลปกครองเพื่อล้มประกาศภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ขนาด 85% และขณะนี้คดียังไม่สิ้นสุด

ผู้เขียน : ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่