ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.ไพโรจน์ โพสต์ FB เสนอความเห็นร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหาย กรณีแพทย์ยังกังวลที่กฎหมายเปิดช่องให้ผู้เสียหายฟ้องอาญาได้ แม้จะได้รับเงินชดเชยจากกองทุนแล้ว แจงกฎหมายอาญาถือว่าเมื่อได้รับเงินแล้วจะไม่มีเหตุผลในการฟ้องอาญาได้อีก ถ้ายังมีการฟ้องเพื่อเรียกเงินจากหมอถือว่าผิดเจตนาการฟ้องอาญา เสนอทางออก เพิ่มมาตราให้แพทย์เลือกได้ว่าจะใช้กองทุนชดเชยฯหรือไม่ หากเกิดความเสียหายทางการแพทย์ขึ้น หรือจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เชื่อแพทย์คงคิดได้

12 ม.ค.57 นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน อดีตรองเลขาธิการแพทยสภา ได้โพสต์ใน facebook ส่วนตัว เกี่ยวกับความเห็นต่าง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ นั้น ยังมีประเด็นที่แพทย์กังวลกันมากคือแม้จะมีการจ่ายค่าชดเชยไปแล้ว แต่ก็ยังเปิดช่องให้มีการฟ้องอาญาได้อยู่ โดยระบุว่าคล้ายเป็นการฟ้องอาญาเพื่อเรียกเงินจากหมอเพิ่มเติม ตรงนี้ขอเรียนชี้แจงว่า เมื่อผู้เสียหายได้รับเงินชดเชยจากทางกองทุน และมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จึงไม่มีหนี้ต่อกันแล้ว ถือว่าเกิดข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความแทน ในทางกฎหมายอาญาผู้เสียหายจะไม่มีเหตุผลในการฟ้องอาญาเพื่อเรียกเงินหมออีก แต่ถ้ามีการฟ้องอาญาเพื่อเรียกเงินจากหมอ ก็จะผิดเจตนาของการฟ้องอาญา ดังนั้นจึงจะต้องเก็บหลักฐานว่ามีการขู่เรียกเงิน หรือมีพยานบุคคล แจ้งให้ศาลทราบศาลจะยกฟ้อง

ซึ่งกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการกรรโชกทรัพย์ ก่อให้เกิดผลคือจำกัดเสรีภาพ ขู่ว่าจะฟ้องคดีเป็นการขู่ว่าจะให้เกิดการจำกัดเสรีภาพ ถ้าฟ้องคดีแล้ว ต้องสู้ด้วยหลักฐานดังกล่าว ศาลจะยกฟ้อง เพราะเจตนาฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องทรัพย์ ไม่ใช่เจตนาเอาคนผิดมาลงโทษ หมอยังสามารถฟ้องกลับฐานกรรโชกทรัพย์ ฟ้องทนายความรับจ้างโจทก์เป็นตัวการร่วมด้วย ถ้าทนายความเป็นผู้ดำเนินการในขั้นตอนการกรรโชกทรัพย์แทนโจทก์ และฟ้องสภาวิชาชีพทนายความได้ด้วยครับ

ขณะเดียวกัน ยังได้เสนอทางเลือกว่า หากแพทย์ยังกังวลในประเด็นนี้กันมาก เสนอให้เพิ่มอีกมาตราให้แพทย์สามารเลือกได้ว่า เมื่อรักษาคนไข้แล้วเกิดความเสียหายขึ้น แพทย์จะเลือกใช้กองทุนหรือจะไม่เลือกใช้ แต่เลือกเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติก็ได้

มีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้

“ฝากถึงคุณหมอที่ยังต่อต้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ขออธิบายเพิ่มเติมว่า แพทย์ที่ยังเป็นห่วงเรื่องการฟ้องอาญา แม้ว่าแพ่งจะยุติด้วยสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โดยอ้างว่าเมื่อผู้ป่วยตกลงรับเงินชดเชยจากกองทุนแล้ว ยังจะฟ้องคดีอาญาเพื่อเรียกเงินจากหมอเพิ่มเติมอีก จะทำอย่างไร

ในทางกฎหมายอาญาได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า เจตนาของการฟ้องคดีอาญาของผู้เสียหายต้องเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงและเจตนาเอาคนผิดมาลงโทษ

กรณีฟ้องคดีเองต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องโดยศาลก่อน

กรณีให้อัยการฟ้องต้องแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน

การร้องทุกข์ต้องเป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมายเจตนาเอาคนผิดมาลงโทษ

การที่กองทุนจ่ายค่าชดเชยเพียงพอ และผู้ป่วยพอใจแล้วจึงเซ็นสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นกรณีจ่ายค่าชดเชยโดยบุคคลที่ 3 คล้ายบริษัทประกันจ่ายแทนแพทย์จากการทำประกันวิชาชีพ

ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าชดเชยโดยบริษัทประกันภัย หรือจากกองทุนฯ และมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จึงไม่มีหนี้ต่อกันแล้ว เกิดข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความแทน ผู้เสียหายจะไม่มีเหตุผลในการฟ้องอาญาเพื่อเรียกเงินหมออีก แต่ถ้ามีการฟ้องอาญาเพื่อเรียกเงินหมอก็จะผิดเจตนาของการฟ้องอาญา

ดังนั้นจึงจะต้องเก็บหลักฐานว่ามีการขู่เรียกเงิน หรือมีพยานบุคคล แจ้งให้ศาลทราบศาลจะยกฟ้องครับ

กรณีดังกล่าวเป็นการกรรโชกทรัพย์ การฟ้องคดีเป็นการกระทำเพื่อก่อให้เกิดผลคือจำกัดเสรีภาพ ขู่ว่าจะฟ้องคดีเป็นการขู่ว่าจะให้เกิดการจำกัดเสรีภาพ ถ้าฟ้องคดีแล้ว ต้องสู้ด้วยหลักฐานดังกล่าว ศาลจะยกฟ้อง เพราะเจตนาฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องทรัพย์ ไม่ใช่เจตนาเอาคนผิดมาลงโทษ

หมอยังสามารถฟ้องกลับฐานกรรโชกทรัพย์ ฟ้องทนายความรับจ้างโจทก์เป็นตัวการร่วมด้วย ถ้าทนายความเป็นผู้ดำเนินการในขั้นตอนการกรรโชกทรัพย์แทนโจทก์ และฟ้องสภาวิชาชีพทนายความได้ด้วยครับ

ถ้ายังกังวลมากผมเสนอให้เพิ่มอีกมาตราให้หมอเลือกก็ได้ว่า เมื่อรักษาคนไข้แล้วเกิดความเสียหายขึ้น หมอจะเลือกใช้กองทุนหรือจะไม่เลือกใช้ แต่เลือกเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติก็ได้ดีไหมครับ

ผมเชื่อว่าหมอคงคิดได้นะครับ”