ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ใช้ชื่อ แพทย์รพ.ชุมชน โต้ นพ.วิชัย ยันคนในสธ.ทุกคนเห็นด้วยกับ กฎหมายหลักประกันสุขภาพ และเห็นด้วยกับแนวคิดดูแลประชาชน แต่เวลา 12 ปีที่ผ่านมา ก็มีปัญหาที่เกิดขึ้นและสะสมไว้ จึงน่าจะถึงเวลาสะสางได้แล้ว ซึ่งสปสช. และกรรมการสปสช.ต้องเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลง คิดบนพื้นฐานที่ต้องการเห็นการพัฒนาที่ดีขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

13 ม.ค.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้รับข้อความจากบุคคลที่ใช้ชื่อว่า แพทย์โรงพยาบาลชุมชน เขียนตอบกรณีที่สำนักข่าว Health Focus ได้เผยข่าวเรื่อง หมอวิชัยเย้ยสธ. ฝีมือบริหารห่วย หากดีจริงไม่เกิดสปสช. (ดูที่นี่) โดยเนื้อหาเป็นการชี้แจงระบบสาธารณสุขของประเทศไทยก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่า ผ่านการบ่มเพาะและพัฒนามายาวนาน จนสามารถทำให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ รวมทั้งยังระบุด้วยว่า

“การมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพนั้น คนใน สธ. ทุกคนเห็นด้วยกับแนวคิดในการดูแลประชาชน ซึ่งเป็นแนวคิดเรื่องเดียวกัน การต่อต้านจึงไม่เกิดขึ้นตั้งแต่ในอดีต แต่ปัจจุบันเวลาล่วงเลยมา 12 ปี ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นและสะสมไว้ของระบบการทำงาน การจัดสรรงบบัตรทอง น่าจะถึงเวลาในการสะสาง ซึ่ง สปสช. และกรรมการสปสช.ต้องเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลง ท่านต้องคิดบนพื้นฐานที่ทุกคนต้องการเห็นการพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนรวม ถึงเวลาที่ต้องปรับแก้กฎหมาย การจัดงบบัตรทอง การผูกเงินเดือนข้าราชการไว้กับงบบัตรทอง
ที่มาของคณะกรรมการ อายุคณะกรรมการ อายุการดำรงตำแหน่ง ควรเป็นซ้ำ หรือควรเว้นวรรคบ้าง การจัดเขตบริการสุขภาพ การจัดสรรงบบัตรทองลงเขตสุขภาพ คณะกรรมการตรวจสอบการทำงานของผู้ถือกฏหมาย มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่”

ทั้งนี้เนื้อหาจากข้อความดังกล่าวเป็นเนื้อหาชุดเดียวกับที่มีการเผยแพร่ทางกลุ่ม LINE ในแวดวงระบบสาธารณสุขในขณะนี้ด้วย
โดยมีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้

กรณี หมอวิชัย โชควิวัฒน แกนนำอาวุโส แพทย์ชนบท เย้ย สธ.  

"ผมเองไม่ได้คิดวัดรอยเท้า อ.วิชัย  ผมไม่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเหมือนอาจารย์ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมีไม่เหมือนท่านคือการสำนึกรักบ้านของตัวเอง ไม่เคยคิดเผาบ้านตัวเอง เพื่ออาศัยแสงเพลิงจากการเผาบ้านของตัวเองส่องทางเดินเพื่อการเจริญเติบโต อำนาจ บารมี ให้กับตัวเองและพวกพ้อง อาจจะแรงไป แต่ผมคิดว่าอาจจะยังไม่สาสมกับพฤติกรรมดูถูกดูแคลน คนในกระทรวงสาธารณสุข กว่า 3 แสนคน ด้วยซ้ำ

จากคำให้สัมภาษณ์ของ อ.วิชัย รู้สึกว่าท่านจะโอ้อวด สปสช.ดั่งเทพเจ้า โอ้อวด ฤทธาเก่งกล้า อะไรจะปานนั้น แต่ท่านเคยได้ตระหนักถึงตรรกะในการพัฒนาหรือไม่ว่า วันนี้ที่ท่านมี คือวันวานที่ผ่านการบ่มเพาะและพัฒนา (Development) มาก่อน มันจึงมีวันนี้ 

หลักประกันสุขภาพประชาชาชนมีมานานแล้ว ตั้งแต่งบสงเคราะห์ประชาชนผู้มีรายได้น้อย(สปร.) และพัฒนามาเป็นบัตรประกันสุขภาพแบบครอบครัวและแบบบุคคล ซึ่งเป็นการร่วมจ่าย (co-payment) เกิดเมื่อปี 2518-2544 รวม 26 ปี แห่งการมีหลักประกันสุขภาพ และการร่วมจ่ายการดูแลสุขภาพของประชาชน จากวันนั้นจึงกลายมาเป็น พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ในวันนี้ เป็นการพัฒนาของระบบที่มีพื้นฐานที่เหมือนกันคือ การที่ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการด้านสุขภาพ โดยรัฐบาลใช้เงินภาษีของประชาชนมาดูแลประชาชนผ่านระบบ นายหน้าค้าประกัน คือ สปสช. นั่นเอง เป็นนายหน้าที่ไม่มีวันขาดทุน เพราะกำหนดกฏเกณฑ์ให้สถานบริการสาธารณุขของรัฐทุกแห่งต้องขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการด้านสุขภาพ โดยนายหน้าจ่ายค่าประกันให้ตามที่นายหน้ากำหนดเอง โดยไม่เคยถามราคาที่จ่ายให้เหมาะสมหรือไม่ หน่วยบริการจะขาดทุนหรือกำไร ไม่สนใจ ครั้นเมื่อหน่วยบริการขาดทุนจะไม่รับบริการก็ไม่ได้เนื่องจากมีกฏหมายบังคับให้ต้องเป็นหน่วยบริการ นี่คือหลักนิติธรรมแห่งกฏหมายใช่หรือไม่ ระบบที่ดีเมื่อมีผู้ได้ประโยชน์ ต้องไม่มีผู้เสียประโยชน์ ระบบจึงเดินต่อได้ 

พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 เริ่มครั้งแรกเป็นความฉลาดแยบยลของคนทำ ให้กระทรวงสาธารณสุขบริหารลองผิดลองถูกไปก่อน ซึ่งในยุคนั้น ไม่มีใคร(น่าจะรวมถึง อ.วิชัย โชควิวัฒน ด้วย) ที่เคยมีประสบการณ์การจัดสรรงบประมาณแบบนี้มาก่อน ประสบการณ์ของ สธ. ที่ทำอยู่ในขณะนั้นแนวคิดคือแบ่งพื้นที่อย่างไรไม่ให้กระทบกับฐานะทางการเงิน การบริการ และประชาชน นี่คือโจทย์ที่คิดกันในวันนั้น

เมื่อ 2 ปีผ่านไป ประสบการณ์ ปัญหามากมายถูกสะท้อนกลับมา เป็นบทเรียน และแนวทางที่ดี ทำให้เมื่อ สปสช.มาบริหารต่อ ดูเหมือนทำได้ดี แต่อย่าลืมว่า ท่านทำได้ดีจากการนำปัญหามาปรับแก้ ต้องชื่นชมท่านเลขาธิการสปสช. ท่านแรกคือ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ท่านเป็นคนดีที่มุ่งมั่นทำงาน คนในกระทรวงสาธารณสุขทุกคนยอมรับในความสามารถ การคิดการตัดสินใจ การประสานงาน ทำให้ช่วงนั้นปัญหากระทบกระทั่ง ของ สปสช. กับ สธ. มีน้อยมาก หลายคนพูดว่าถ้าไม่มี อ.สงวน ในวันนั้น อาจไม่มี สปสช. ในวันนี้ และอาจไม่มีคนชื่อ อ.วิชัย ที่มานั่งด่าคนใน สธ. อย่างในวันนี้อย่างแน่นอน สปสช.ในวันนี้เกิดมาจากการพัฒนาต่อยอดระบบงานหลักประกันสุขภาพเดิมของกระทรวงสาธารณสุข ใช่หรือไม่ ? 

การพัฒนางานให้ดีขึ้นจากพื้นฐานเดิม เป็นสิ่งที่ควรทำ คนที่มีสภาพจิตดี เป็นปุถุชนคนทั่วไป คงไม่มีใครไปตำหนิ ติติงงานเก่าที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาต่อยอด ออกมาวิจารณ์ ยกตนข่มท่าน นอกเสียจากคนที่ไม่ปกติเท่านั้นที่ทำได้ น่าสงสาร สธ. ที่ให้ข้าวให้น้ำ ให้การเจริญเติบโตงอกงามในหน้าที่การงานของบุคลากรซึ่งปัจจุบันได้ดิบได้ดี ในองค์กร ตระกูล ส. มากมาย หาคนที่สำนึกในข้าวแดงแกงร้อน ที่ สธ. ดูแลชุบเลี้ยงมานั้นน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนในองค์กร เหล่านั้น นอกจากไม่สำนึกแล้ว ยังหันกลับมาเผาทำลายอีก น่าสังเวชใจจริงๆ  

พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เป็นกฎหมายที่ สปสช.มักอ้างตลอดว่าทำตามกฏหมาย หรือกฏหมายไม่เอื้อในเรื่องที่สธ. เสนอปรับการจ่ายเงินแบบเขตบริการสุขภาพ การตัดเงินเดือนระดับเขต แต่กลับสามารถนำงบบัตรทองซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้บริการประชาชน ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนด้านการรักษา ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟู  ไปให้กับหน่วยอื่น ซึ่งไม่ใช่หน่วยบริการได้ คนถือกฏหมายบอกว่าทำได้ก็คงต้องฟังเขา แล้วใครที่จะตรวจสอบว่าจริงหรือไม่ถูกต้องหรือไม่ 

หากเมื่อกฏหมายไม่เอื้อต่อการทำงาน การพัฒนาต่อยอดของระบบให้ดียิ่งขึ้นก็น่าจะต้องถึงเวลาในการปรับแก้กฏหมายในช่วงของการฏิรูปครั้งนี้ เพื่อให้ระบบดีๆ สามารถเกิดขึ้นได้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน และไม่เป็นภาระกับงบประมาณแผ่นดิน การตรวจสอบระบบงานของ สปสช.ให้โปร่งใส อะไรที่ทำผิดระเบียบตามที่ สตง. ชี้มูลไว้ก็ควรเร่งหาคนรับผิดชอบชดใช้เงินแผ่นดิน ทั้งการกำหนดเงินเดือนของเลขาธิการสปสช. และการนำเงินสวัสดิการยาจากองค์การเภสัชกรรมไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ตามที่ สตง.ชี้มูลไว้ หาคนรับผิดชอบได้หรือยัง ท่าน อ.วิชัย ที่เคารพ

การมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพนั้น คนใน สธ. ทุกคนเห็นด้วยกับแนวคิดในการดูแลประชาชน ซึ่งเป็นแนวคิดเรื่องเดียวกัน การต่อต้านจึงไม่เกิดขึ้นตั้งแต่ในอดีต แต่ปัจจุบันเวลาล่วงเลยมา 12 ปี ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นและสะสมไว้ของระบบการทำงาน การจัดสรรงบบัตรทอง น่าจะถึงเวลาในการสะสาง ซึ่ง สปสช. และกรรมการสปสช.ต้องเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลง ท่านต้องคิดบนพื้นฐานที่ทุกคนต้องการเห็นการพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนรวม ถึงเวลาที่ต้องปรับแก้กฎหมาย การจัดงบบัตรทอง การผูกเงินเดือนข้าราชการไว้กับงบบัตรทอง

ที่มาของคณะกรรมการ อายุคณะกรรมการ อายุการดำรงตำแหน่ง ควรเป็นซ้ำ หรือควรเว้นวรรคบ้าง การจัดเขตบริการสุขภาพ การจัดสรรงบบัตรทองลงเขตสุขภาพ คณะกรรมการตรวจสอบการทำงานของผู้ถือกฏหมาย มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

ต้องขอบคุณ ปลัดณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ที่กล้าหาญลุกขึ้นมาต่อสู้ ออกมาบอกกับประชาชนให้รับรู้ถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในแดนสนธยาของ สปสช.และองค์กรตระกูล ส. และเสนอแนวทางการพาองคาพยพของ สธ. ก้าวสู่สังคมคุณธรรมจริยธรรม ความโปร่งใสอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ท่านเหลืออายุราชการเพียง 10 เดือนก็เลยถูกคนบางกลุ่มพยายามซื้อเวลารอให้ท่านเกษียนไปก่อน แล้วค่อยหัวเราะทีหลัง  ผมเองเหลืออีก 6 ปี เกษียนอายุราชการเหมือนกัน ผมไม่มีโอกาสได้ทำงานที่ยิ่งใหญ่อย่างท่าน แต่ก็ให้การสนับสนุนและให้กำลังใจในการทำงานของท่านมาโดยตลอด ผมใหัสัญญาว่าเมื่อผมเกษียนอายุราชการแล้ว จะไม่ทำตัวเป็นคนเกเรมาเผาบ้านตัวเองเป็นอันขาด เหมือนใครอีกหลายๆคนแน่นอน สัญญาครับ"

"แพทย์โรงพยาบาลชุมชน"