ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘นพ.เจตน์’ เตรียมตั้งกระทู้ถาม ‘นพ.รัชตะ’ แก้ความขัดแย้ง สธ.-สปสช.ชี้เป็นปัญหาจากระบบ ไม่ได้เกิดจากตัวบุคคล แม้เปลี่ยน รมว. หรือเปลี่ยนปลัด ความขัดแย้งนี้ก็จะยังอยู่ เหตุสำคัญคืองบประมาณไม่พอ บางปียังถูกแช่งแข็งอีก เผยที่ผ่านมาถือว่าสปสช.บริหารได้ดีภายใต้งบจำกัด แต่หากงบยังไม่พอเช่นนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการรักษาพยาบาล แนะ 2 หน่วยงานจับมือ จี้รัฐเพิ่มงบ แก้รากเหง้าปมปัญหา เสนอตั้งคกก.ยุทธศาสตร์ระบบรักษาพยาบาลระดับประเทศให้นายกฯเป็นประธาน

15 ม.ค.57 นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีการนำเสนอผ่านสื่ออย่างต่อเนื่อง จึงได้ตั้งกระทู้ถามต่อ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากเกรงผลกระทบกับประชาชนในการรักษาพยาบาลระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้

ทั้งนี้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ ส่วนตัวเห็นว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากระบบไม่ได้เกิดจากตัวบุคลค เพราะแม้จะเปลี่ยนตัว รมว.สาธารณสุข หรือเปลี่ยน ปลัด สธ. ความขัดแย้งนี้จะยังคงอยู่ต่อไป ซึ่งหากวิเคราะห์ถึงรากเหง้าปัญหาจะทราบว่า สาเหตุสำคัญเกิดจากปัญหางบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่ได้รับในแต่ละปีนั้นไม่เพียงพอ และบางปียังถูกคงอัตรางบประมาณคงที่ต่อเนื่อง ประกอบกับโครงสร้างงบประมาณที่รวมเงินเดือน ส่งผลให้งบประมาณไม่เพียงพอ จึงเกิดปัญหาในการบริหารและนำมาสู่ข้อเสนอการปรับจัดสรรงบเหมาจ่ายขาลงของ สธ. ทั้งการยุบกองทุนย่อยจาก 9 กองทุน ให้เหลือเพียง 4 กองทุน เพื่อให้มีเม็ดเงินลงไปยังหน่วยบริการเพิ่มขึ้น ขณะที่ สปสช.ยืนยันการแยกเป็น 9 กองทุนย่อย เพื่อมุ่งให้เกิดคุณภาพการบริการ

“ผมเสนอญัตตินี้ เพราะเกรงว่าจะเกิดผลกระทบจากความขัดแย้งของ 2 หน่วยงาน และขณะนี้ได้เกิดแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาการบริหาร สปสช.ต้องถือว่าสามารถบริหารได้ดีภายใต้งบประมาณที่จำกัด แต่หากงบประมาณยังคงไม่เพียงพอเช่นนี้ ก็จะเกิดผลกระทบต่อคุณภาพการรักษาพยาบาลแน่นอน ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลต่างๆ ได้ประหยัด โดยเน้นจ่ายยาบัญชียาหลักแห่งชาติ แม้แต่วัสดุทางการแพทย์อื่นๆ ได้เน้นที่ราคาประหยัดงบ เพื่อบริหารงบประมาณให้เพียงพอ และหากระยะยาวสถานการณ์ยังคงแบบนี้ คุณภาพการรักษาพยาบาลในระบบก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นตัวเลขต้นทุนด้านยาทั่วประเทศเริ่มลดลงแล้ว ดังนั้นการตั้งกระทู้ครั้งนี้เพื่อชี้ให้รัฐบาลเห็นปัญหาและนำไปสู่การแก้ไขที่ต้นเหตุ” นพ.เจตน์ กล่าว

นพ.เจตน์ กล่าวว่า ส่วนแนวทางแก้ปัญหา นอกจากภาครัฐที่ต้องเพิ่มเติมงบประมาณเข้าสู่ระบบแล้ว อีกแนวทางหนี่งที่ทางคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขเสนอคือการร่วมจ่าย ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่าข้อเสนอนี้ถูกวิจารณ์ค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้ที่รับฟังไม่เข้าใจ จึงขอชี้แจงว่า ในกรณีที่งบประมาณเพียงพอ ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบ ก็ไม่จำเป็นต้องร่วมจ่าย แต่กรณีที่งบประมาณไม่เพียงพออาจต้องนำวิธีร่วมจ่ายมาใช้ แต่ทั้งนี้ต้องหาวิธีการร่วมจ่ายที่ไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน และหากเป็นไปได้คงไม่มีใครอยากให้มีการร่วมจ่าย เว้นแต่งบประมาณในระบบไม่เพียงพอจริงๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อคุณภาพการรักษาพยาบาล

ต่อข้อซักถามว่าปัญหางบเหมาจ่ายรายหัวไม่เพียงพอ ดูเหมือนว่าเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน จะมีทางออกอย่างไร นพ.เจตน์ กล่าวว่า ข้อเสนอของ กมธ.สาธารณสุข คือให้มีคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ระบบรักษาพยาบาลของประเทศ ที่ดูแลทั้ง สธ.และ สปสช.ที่ยังคงทำหน้าที่บริหารงบประมาณ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อที่จะได้รับทราบปัญหาและให้ความสำคัญ ซึ่งจะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาและทำให้งบประมาณในระบบเพียงพอได้ นอกจากนี้เห็นว่าทั้ง สธ.และ สปสช.ควรจับมือกันเพื่อให้มีการเพิ่มเติมงบประมาณ ไม่ใช้มาขัดแย้งกันเอง

นพ.เจตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับญัตติที่เสนอนั้น ได้บรรจุในวาระการประชุม สนช.แล้ว เพียงแต่รอท่าน รมว.สาธารณสุข จะมีเวลาเข้าร่วมประชุมเพื่อตอบกระทู้นี้