ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติเตรียมออกประกาศเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาฉบับแรกของประเทศไทย เพื่อใช้เป็นเกณฑ์กลาง หวังก่อให้เกิดธรรมาภิบาลในระบบยา พร้อมสกัดวิธีการส่งเสริมการขายที่ขาดจริยธรรม กระตุ้นใช้ยาเกินจำเป็นและยังทำให้ราคายาแพงขึ้นไปด้วย

นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2558 ว่า ประเทศไทยประสบปัญหาค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลและค่ายาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยยาที่ใช้บางส่วนไม่สอดคล้องกับหลักการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และยังพบมีการส่งเสริมการขายและการโฆษณายาในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบธุรกิจผลักให้เป็นภาระของผู้บริโภค ทำให้สินค้าหรือบริการนั้นมีราคาสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น และบางส่วนยังเป็นไปในลักษณะขาดจริยธรรม

นายยงยุทธ  กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลการส่งเสริมการขายยาโดยตรง ในขณะที่ระบบการกำกับดูแลกันเองของภาคอุตสาหกรรมยังขาดประสิทธิผล ส่วนสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง แม้มีเกณฑ์จริยธรรม แต่อาจไม่ครอบคลุมเรื่องส่งเสริมการขายยา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติพัฒนาเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาให้เป็นเกณฑ์กลางของประเทศ และศึกษารูปแบบระบบการนำเกณฑ์ดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนรับทราบและนำเกณฑ์จริยธรรมไปใช้ ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติได้มอบให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลรับผิดชอบดำเนินการพัฒนาเนื้อหาเกณฑ์จริยธรรม โดยวิเคราะห์จากเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรมยา จนได้ร่างเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติได้เห็นชอบแล้ว และจะออกเป็นประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง เกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย เพื่อใช้เป็นเกณฑ์กลางของประเทศต่อไป

"เกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทยฉบับนี้ มีเนื้อหาครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้สั่งใช้ยา เภสัชกรซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจ บริษัทยาและผู้แทนยา สถานพยาบาล สถานบริการเภสัชกรรม หรือหน่วยงาน และสถานศึกษา" นายยงยุทธกล่าว

สำหรับหลักการสำคัญ ประกอบด้วย ผู้ประกอบวิชาชีพและผู้เกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดหายาไม่พึงรับสิ่งใดๆ เป็นการส่วนตัวจากการส่งเสริมการขายยาเพื่อประโยชน์ทางการค้า และพึงแสดงความโปร่งใสต่อสาธารณะกรณีที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทยา สถานพยาบาล สถานศึกษา หรือหน่วยงานอื่น พึงมีระบบรองรับในการรับสิ่งของ การจัดกิจกรรม และการสนับสนุนใดๆ จากบริษัทยา/ผู้แทนยา โดยเป็นระบบที่ทุกคนในหน่วยงานรับรู้ มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ด้านบริษัทยาพึงจัดกิจกรรมการส่งเสริมการขายยาที่มุ่งประโยชน์เพื่อผู้ป่วย ไม่พึงให้ข้อมูลหรือคำแนะนำแก่ผู้ป่วยหรือสาธารณชนในเชิงโฆษณาหรือส่งเสริมการขายยา ไม่ว่าเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กฎ หมายกำหนด และบริษัทพึงมีรายละเอียดค่าใช้จ่ายและรายละเอียดกิจกรรมการส่งเสริมการขายยาตามหลักสากล พร้อมได้รับการตรวจสอบ ผู้แทนยาพึงเสนอข้อมูลที่ทันสมัย ถูกต้อง ครบถ้วน มีหลักฐานอ้างอิงทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ ไม่ละเลยข้อมูลผลกระทบหรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก่ผู้สั่งใช้ยาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดหายา โดยแสดงออกหรือปฏิบัติในการเสนอข้อมูลหรือกิจกรรมการส่งเสริมการขายยาตามวัฒนธรรมที่ดีของสังคม และพึงดำรงตนให้พร้อมรับการตรวจสอบจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพจากสภาวิชาชีพและสังคม

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า เพื่อให้เกณฑ์จริยธรรมดังกล่าวมีการนำไปใช้และนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง จึงได้นำเกณฑ์จริยธรรมไปผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาวิชา ชีพ ภาคการศึกษา สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) สมาคมและผู้ประกอบธุรกิจด้านยา สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนสภาวิชาชีพรวม 19 หน่วยงานได้เห็นชอบในหลักการร่วมกันที่จะนำเกณฑ์จริยธรรมนี้ไปสู่การปฏิบัติ และจะได้มีการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงเรื่องการสร้างเสริมธรร มาภิบาลในระบบยาตามเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทยต่อไป