ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นที่ทราบกันดีว่า รพ.อุ้มผาง เป็นหนึ่งในรพ.ชายแดนหลายแห่ง ที่อยู่ในกลุ่มพื้นที่พิเศษ เนื่องจากประชากรในพื้นที่กว่าครึ่งไม่มีสิทธิประกันสุขภาพใดๆ ซึ่งรพ.อุ้มผางได้แบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและให้บริการรักษาพยาบาลเฉพาะในรพ. ไม่รวมการดูแลภายนอกรพ. ที่มีโครงการเชิงรุก ในรพ.สต. หรือในสุขศาลาพระราชทาน เป็นค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า “ค่าใช้จ่ายสังคมสงเคราะห์” ประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี และรพ.จะมีหนี้ต่างๆ สะสมขึ้น ซึ่งการบริหารจัดการภายในรพ.นั้น จะใช้หลักการว่า จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไรให้คุ้มค่า ประหยัด และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อทำแล้ว จึงค่อยไปขอรับการช่วยเหลือจากคนอื่น

“ผมเป็นหมอ จะให้ผมทำยังไง เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลก็เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งหมด ชาวบ้านเค้าก็เป็นคนเหมือนเรา เจ็บป่วยมา เค้าไม่มีสิทธิ แล้วไม่รักษา คงจะไม่ได้หรอก เราต้องรักษา ผมต้องช่วยคน อย่าว่าแต่คนเลย หมาคลอดลูกไม่ออก เราก็ผ่าตัดทำคลอดให้”

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์

เป็นคำกล่าวของ นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก แพทย์ชนบทดีเด่น ที่มาบอกเล่าเรื่องราวการทำงานในอ.อุ้มผาง

นพ.วรวิทย์ เล่าถึงบริบทของประชากรในพื้นที่ว่าในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดตาก มิใช่จะมีแต่เพียงคนที่มีเลข 13 หลักที่มีสัญชาติเป็นคนไทยเท่านั้นที่อาศัยอยู่ ยังมีกลุ่มคนอีก 2 กลุ่มอาศัยอยู่ ได้แก่ 1.กลุ่มที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ซึ่งในทางทะเบียนราษฎรจัดอยู่ในกลุ่ม ท 99 ซึ่งคนกลุ่มนี้กำลังจะได้สถานะเป็นคนไทย เพียงแต่ยังไม่ได้สิทธิ 100 % และ 2.กลุ่มคนที่ไม่มีหลักฐานทางราชการอะไร เช่น ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่าลึกๆ พ่อแม่ไม่ได้มาแจ้งเกิด เนื่องจากอยู่ไกล หากจะเดินทางมาแจ้งเกิดต้องใช้เวลาเป็นวันๆ ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่มีเลข 13 หลัก แล้วมาถูกตีความว่า ไม่ใช่คนไทย ไม่มีสัญชาติ เมื่อเจ็บป่วยมารับการรักษา จะไม่รักษาเพียงเพราะไม่มีเลข 13 หลัก ไม่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพใดๆ ทั้งที่เขาเหล่านั้นเป็นมนุษย์เหมือนกัน คงทำไม่ได้

นพ.วรวิทย์ เล่าว่า จากการสำรวจพบว่า อำเภออุ้มผางมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 67,800 คน เป็นผู้ที่มีหลักประกันสุขภาพ ได้แก่ ข้าราชการ ประกันสังคม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ ท 99 ครึ่งหนึ่ง ประมาณ 34,000 คน อีกครึ่งหนึ่งไม่มีสิทธิใดๆ ที่เรียกกันว่า คนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติ คนเหล่านี้เสมือนเป็นคนชายขอบ เกิดจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ได้มีการแบ่งอาณาเขตระหว่างไทยกับพม่า มีการตีเส้นอาณาเขตแบ่งพื้นที่ โดยผ่ากลางผ่านรัฐที่คนกลุ่มนี้ที่เรียกกันว่า ปกาเกอะญอ หรือ กะเหรี่ยง ถ้าอาศัยอยู่ในฝั่งไทยเรียก คนกะเหรี่ยงไทย ซึ่งจะอาศัยอยู่บนป่าบนดอย ไม่มีบัตรประชาชน ถ้าเป็นฝั่งพม่าจะอาศัยอยู่ตามตะเข็บชายแดน มีการข้ามไปมารับจ้างฝั่งโน้นฝั่งนี้ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ

“ในกลุ่ม ท 99 ที่รอสถานะเป็นคนไทย มีจำนวนประมาณ 5,000 คน ซึ่งยังต้องผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การพิสูจน์สัญชาติ ทั้งต้องใช้กระบวนการทางกฏหมาย ซึ่ง รพ.อุ้มผางได้รับความกรุณาจาก ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการก่อตั้ง “คลินิกกฎหมาย” เพื่อช่วยให้คนกลุ่มนี้ พ้นจากภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ทำให้มีสิทธิเป็นพลเมืองรัฐตามกำเนิด” นพ.วรวิทย์ ระบุ และอธิบายต่อว่า แต่ทั้งหมดก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้คนกลุ่มนี้ได้สัญชาติเป็นไทยทั้งหมด จะมีนักกฎหมายมาทำการสอบสวนพื้นเพเรื่องราว หากเป็นพลเมืองพม่า จะทำการขึ้นชื่อไว้ เมื่อพม่ามีระบบทะเบียนจะส่งชื่อไปให้ ก็จะได้เป็นพลเมืองพม่า แล้วจะขอวีซ่ามาอยู่ที่ไทย ก็แล้วแต่ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ถูกต้อง 

สำหรับการจัดการดูแลสุขภาพให้กับกลุ่มคนต่างๆ ของรพ.อุ้มผางนั้น นพ.วรวิทย์ เล่าว่า ได้ให้เหตุผล 2 ประการแก่ ผู้ใต้บังคับบัญชา แพทย์ พยาบาล ในการดูแลรักษากลุ่มคนต่างๆ ทั้ง 3 กลุ่ม ในเวลาที่เจ็บป่วยและเข้ามารับการรักษาที่รพ.อุ้มผาง ทั้งผู้ที่มีบัตรประชาชนและได้รับการคุ้มครองจากกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือกลุ่มที่เป็น ท 99 ที่ได้รับเงินจากกลุ่มประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข และกลุ่มที่ไม่มีเลขบัตร จึงไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิจากหลักประกันสุขภาพใดๆ ด้วย

ประการแรก ได้แก่ การยึดตามแนวกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ไม่ให้มีสองมาตรฐานในเรื่องเดียวกัน และประการที่ 2 คือ การที่เป็นลูกหลานของสมเด็จพระราชบิดา

นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า เหตุผลที่คนเราทุกคนต้องได้รับการรักษา ข้อแรก คือ การมีมนุษยธรรม ซึ่งจรรยาบรรณวิชาชีพนั้น เป็นเพียงแค่ประเด็นย่อยๆ ของหลักมนุษยธรรมเท่านั้น ตัวอย่างเช่น  คนมาคลอดลูก เมื่อมาถึงรพ. แล้วรพ.ขอดูบัตรประชาชน ถ้าไม่มีบัตรประชาชน จะให้ไปคลอดลูกอยู่หน้ารพ. อย่างนั้นหรือ เหตุผลข้อที่สอง โรคที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นกัน ส่วนใหญ่จะเป็นโรคติดเชื้อและอันตรายถึงชีวิต และข้อสำคัญคือ โรคเหล่านี้สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้ หากเราไม่รักษา จะไม่สามารถควบคุมโรคเหล่านี้ได้ จะแพร่กระจายไป เช่น มาเลเรีย วัณโรค

เหตุผลข้อที่ 3 สถานการณ์ประเทศไทยในปัจจุบัน อาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน มาทำงานในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ก่อสร้าง ประมง แม้แต่รพ.อุ้มผาง ยังมีการจ้างกลุ่มคนที่ไม่มีเลข 13 หลักมาเป็นพนักงานทำความสะอาด ดังนั้นถือว่า การดูแลพวกเขาเหล่านี้ ถือว่าเป็นการคืนกลับให้กับประชาชนที่มาจากฝั่งเพื่อนบ้านด้วยงานสาธารณสุข ซึ่งเป็นการคืนกลับที่สง่างาม มีน้ำใจและมีมนุษยธรรม

ทั้งนี้ ภาระค่าใช่จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดูแลรักษาพยาบาลนั้น นพ.วรวิทย์ เล่าต่อว่า รพ.อุ้มผางแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและให้บริการรักษาพยาบาลเฉพาะในรพ. ไม่รวมการดูแลภายนอกรพ. ที่มีโครงการเชิงรุก ในรพ.สต. หรือในสุขศาลาพระราชทาน รพ.อุ้มผางมีค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า “ค่าใช้จ่ายสังคมสงเคราะห์” ประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี และรพ.จะมีหนี้ต่างๆ สะสมขึ้น ซึ่งการบริหารจัดการภายในรพ.นั้น จะใช้หลักการว่า จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไรให้คุ้มค่า ประหยัด และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อทำแล้ว จึงค่อยไปขอรับการช่วยเหลือจากคนอื่น โดยปลายปีงบประมาณทุกปี กระทรวงจะมีงบประมาณเหลือ จะโอนเงินมาช่วยจังหวัดตากๆ จะจัดสรรเงินมาให้รพ. ซึ่งจะเอาไปใช้หนี้ค่ายาที่ค้างไว้ เพราะมีการค้างค่ายาไว้นานเป็นปี จนบริษัทไม่ส่งยามาให้ ต้องฝากรพ.อื่นสั่งยาให้แทน

“ความคิดของผม การจัดสรรอย่างเป็นธรรม มี 2 แบบ คือ ความเป็นธรรมแบบคณิตศาตร์ ที่มีหลักการในการแบ่งกันตรงๆ เช่น มีเงิน 100 บาท มีคน 10 คน ก็หารไปเท่าๆ กัน อันนี้คือความเป็นธรรมแบบคณิตศาสตร์ แต่ความเป็นธรรมแบบมนุษยธรรมนั้นไม่ใช่ ต้องออกแรงมากหน่อยไปสืบค้นปัญหาของแต่ละคน แล้วอาจจะพบว่าคน 50 คนอาจไม่ต้องการความช่วยเหลืออะไรเลย คนที่ต้องการความช่วยเหลืออีก 50 คน อาจต้องการความช่วยเหลือไม่เท่ากัน คนขาดมากควรได้มาก คนที่มีเหลือแล้วควรจะมาช่วยเหลือคนอื่น แบบนี้ถึงจะเรียกว่า เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เราพยายามทำแบบนี้ให้เกิดขึ้น”

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลที่ประเทศไทยมีการสูญเสียที่เกิดจากการที่ผู้ป่วยทิ้งยาดีไว้ที่บ้าน หลังจากไปรับยามาแล้วกินหรือใช้ไม่หมด ถึงเวลาไปพบแพทย์ได้รับยาใหม่มากิน ปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท ทำให้ นพ.วรวิทย์ คิดว่า ที่รพ.อุ้มผางซื้อยาปีละประมาณ 12 ล้านบาท คิดเป็น 1.2 % จาก 1,000 ล้านบาท หาก รพ.ขอยาดีที่ทิ้งไว้บ้าน คืนจากทั่วประเทศ เพียง 1.2% รพ.อาจไม่ต้องซื้อยา ทำให้นพ.วรวิทย์จัดทำโครงการรับบริจาคยาขึ้น นอกจากเพื่อแบ่งเบาภาระค่ายาแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์หลักคือ หากทุกรพ.ช่วยกันขอรับยาดีคืนเพียงครึ่งเดียว ประเทศไทยจะประหยัดงบประมาณถึง 500 ล้านบาทต่อปี ทั้งจะช่วยให้ประเทศไม่ต้องเสียเงินออกนอกประเทศด้วย เพราะประเทศไม่สามารถผลิตยาได้เอง ต้องซื้อผงยาเม็ดจากต่างประเทศมาตอกเม็ดในประเทศ ซึ่งในปีงบประมาณ 2557 ที่ผ่านมา รพ.อุ้มผางได้รับยาใส่กล่องส่งมาให้ทางไปรษณีย์คิดเป็นเงิน 1.7 ล้านบาท

“ผมพยายามหารูรั่วที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ขอรับบริจาคของใหม่ๆ เวลาขอบริจาคจะบอกว่า อะไรก็ได้ในบ้านที่เราไม่ใช่แล้วคิดว่าจะป็นประโยชน์แก่คนอื่นได้ เช่น เสื้อผ้า รบกวนซักทำความสะอาด เพื่อที่จะได้นำมาแจกเลย แล้วส่งมาให้ที่ผม จะเอาไปแจกให้ ชาวบ้านผมไม่เรื่องมากหรอก ต้องการแค่ปัจจัย 4 เท่านั้น เค้ายากจนขาดแคลน ไม่เรื่องมากอยู่แล้ว”

ในมุมมองของพื้นที่ การจะช่วยเหลือให้ผู้ที่ไม่มีสถานะและสิทธิให้เข้าถึงบริการสุขภาพตามนโยบายของรมต.สาธารณสุขนั้น นพ.วรวิทย์ ให้ความเห็นว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้น ต้องทำให้รพ.ของรัฐสามารถดำเนินการได้ ด้วยการได้รับงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอ เนื่องจากที่ผ่านมา รพ.ของรัฐได้รับการจัดสรรเงินในรูปแบบความเป็นธรรมด้านคณิตศาสตร์ มีการคิดเพิ่มจาก differential capitation ประมาณ 5% 10% ซึ่งไม่พอต่อการนำไปจัดบริการสุขภาพ เนื่องจากเงินที่ได้รับจัดสรรมาเพื่อการรักษามีจำนวนน้อยกว่าที่จ่ายจริง รพ.ที่ตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร อยู่ห่างไกล ต้นทุนบริการจะสูงทำให้รพ.ขาดทุนอยู่เสมอ เพราะงบที่ได้มาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

“เวลาออกมาประชุมให้เบิกต้นสังกัด ต้นสังกัดจะเอางบมาจากไหน ค่าน้ำมันรถ ค่าไฟฟ้าของรพ. ยังไม่มีเลย  ไม่มีงบอะไรมาช่วย งบที่ให้มาเป็นค่ารักษาพยาบาลก็มีต้นทุนค่าบริการอยู่แล้ว ท่านปลัดถึงออกมาให้ข้อมูลว่า มันขาดทุนจริงๆ รพ. 300 แห่ง รพ.อุ้มผางเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น อาจจะเป็นรพ.ที่ขาดทุนระดับต้นๆ ด้วย อยากให้อาจารย์ที่สปสช.ฟังข้อมูลของกระทรวงบ้างว่า มันมีปัญหาจริงๆ รพ.ผมมีปัญหามาตลอด 10 กว่าปีนี้ ผมรู้จักอาจารย์ทั้งสองผ่าย เป็นคนดีทั้งสองฝ่าย เพียงแต่ว่าท่านไม่ค่อยได้คุยกัน ไม่ได้เอาปัญหามาเป็นตัวตั้งอย่างแท้จริง ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยดีอยู่แล้ว คุณหมอสงวน ท่านมองถึงความเท่าเทียมกันของคน ท่านมีมนุษยธรรมสูงมาก”

นพ.วรวิทย์ เล่าให้ฟังถึงความภาคภูมิใจของตน คือ การที่ได้รับรู้ว่าการทำตามหลักมนุษยธรรมของตนที่ผ่านมานั้นถูกต้องแล้ว จากเหตุการณ์ เมื่อต้นปี 2557 ที่ได้เข้าเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาที่บ้านแม่กองคี อ.อุ้มผาง วันนั้น นพ. เกษม วัฒนชัย ได้นำเรียนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาว่า รพ.อุ้มผางได้มีการไปตั้งสุขศาลาในเขตพม่า

“ซึ่งท่านได้สอบถามผมว่า แล้วคุณหมอไปทำได้อย่างไร จึงได้กราบบังคมทูลว่า ขอรับบริจาคไม้จากชาวบ้านไปสร้างสุขศาลา ขอรับบริจาคเงินไปซื้ออุปกรณ์ก่อสร้าง เช่น ตะปู ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ได้ตรัสกับท่านผู้หญิงที่ตามเสด็จว่า คุณหมอไปเปิดสุขศาลาที่ฝั่งโน้นแล้วนะ คงต้องใช้ยารายเดือนจำนวนมาก ให้หาทางส่งยามาให้คุณหมอ”

ซึ่งนอกจากจะสร้างความปลื้มปิติให้แก่ นพ. วรวิทย์ เป็นอย่างมากแล้ว ยังเป็นการสร้างกำลังใจในการทำงานให้แก่นพ.วรวิทย์ ต่อไปด้วย