ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เร่งสร้างหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนทุกคนที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทย จัดกองทุนให้ผู้ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่มีทั้งหมดกว่า 5 แสนคน ปีละประมาณ 900 ล้านบาท และเตรียมเสนอขอครม.ขอดูแลเพิ่มในกลุ่มที่ตกสำรวจอีก 170,000 คน ในอัตรา 1,900 บาทต่อคน ให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานการดูแลสุขภาพ เทียบเท่าโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

วันนี้ (15 มกราคม 2558 ) นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย รศ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร สมาชิกสภาปฏิรูป และคณะ เดินทางไปตรวจราชการที่โรงพยาบาลแม่ระมาด อ.แม่ระมาด จ.ตาก เพื่อติดตามการจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ โดยรับฟังการนำเสนอข้อมูลพื้นฐาน การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ข้อมูลสถานการณ์เด็ก นักเรียนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ กับการมีหลักประกันสุขภาพ และร่วมประชุมกับนายอำเภอแม่ระมาด สำนักทะเบียนราษฎร์ อ.แม่ระมาด เพื่อปรึกษาหารือเรื่องบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ จากนั้นได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการจัดบริการคนไร้รัฐ ที่โรงเรียนห้วยปลากอง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขะเนจื้อ อ.แม่ระมาด เพื่อนำข้อมูลจากพื้นที่จริง พูดคุยหารือ ข้อเสนอในการให้หลักประกันสุขภาพแก่คนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการดูแลสุขภาพประชาชนไทยทุกคน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาค เท่าเทียมและทั่วถึง ในภาพรวมขณะนี้คนไทย 64 ล้านคนมีหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน ครอบคลุมเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ สำหรับกลุ่มบุคคลที่เป็นคนไทยแต่มีปัญหาสถานะและสิทธิในประเทศไทย ที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ มีทั้งหมด 507,645 คน ซึ่งมี 2 กลุ่มได้แก่กลุ่มที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับรองให้อาศัยอยู่ถาวร และกลุ่มที่ครม.ผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราว เพื่อรอพิสูจน์สถานะ ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ระนอง กาญจนบุรีและราชบุรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการให้สิทธิ์หรือคืนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 แล้ว โดยในปี 2557 ได้ตั้งกองทุนคืนสิทธิและจัดสรรงบประมาณให้ปีละ 973 ล้านบาท เฉลี่ยคนละ 1,917 บาท ต่อปี งบร้อยละ 70 จัดสรรไปยังพื้นที่จังหวัดต่างๆตามจำนวนที่ลงทะเบียน และอีกร้อยละ 30 เป็นกองทุนกลาง สำหรับกรณีค่าใช้จ่ายสูง เช่นไตวาย โรคเอดส์ รวมถึงยาแพง ผู้ป่วยฉุกเฉินนอกเขตจังหวัด เป็นต้น ซึ่งสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ถือว่าเทียบเท่ากับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีกลุ่มบุคคล ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 แต่ในขณะนั้น กลุ่มเหล่านี้ยังไม่ได้รับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนตามเงื่อนไข จึงยังไม่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว และทราบว่าขณะนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการสำรวจและจัดทำทะเบียนกลุ่มนี้เรียบร้อยแล้ว มีจำนวน 170,000 คน กระทรวงสาธารณสุขจะได้ประสานกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอครม. ให้พิจารณาให้ได้รับสิทธิ์ในปีงบประมาณ 2558 จัดงบรายหัวอัตรา 1,900 บาท ต่อคน

นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและไม่มีสัญชาติไทย แต่อาศัยในประเทศไทย ยังไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับใบเกิด ไม่เคยแจ้งเกิดมาก่อน ซึ่งจำนวนไม่แน่นอ จากการลงไปดูที่โรงเรียนห้วยปลากอง ต.ขะเนจื้อ อ.แม่ระมาด พบว่ามีเด็กนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานร้อยละ 30 ส่วนที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขะเนจื้อ พบผู้ที่ไม่มีหลักฐานร้อยละ 30 ทำให้โรงพยาบาลต้องมีค่าใช้จ่ายรักษาที่เก็บไม่ได้ปีละ 200,000 บาท และมีข้อมูลจากหมู่บ้านห้วยปลากอง มีครอบครัวของคนต่างด้าวเทียมที่เป็นคนไทยไปอยู่พม่าแล้วกลับมาอยู่ในไทยตั้งแต่พ.ศ.2537 จนถึงปัจจุบัน แต่ไม่มีสิทธิใดๆ พบว่าเมื่อมีบุคคลในบ้านป่วย เสียค่ารักษา 80,000 บาท แต่จ่ายได้เพียง 10,000 บาท ส่วนหลานๆในครอบครัว เมื่อป่วยไม่กล้าไปโรงพยาบาล เพราะกลัวเสียเงิน จึงรักษากันเองในหมู่บ้าน ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่จะต้องเร่งแก้ไข เพื่อลดผลกระทบต่อโรงพยาบาล ซึ่งจุดที่เป็นไปได้เพื่อให้ผู้ที่ด้อยโอกาสได้เข้าถึงบริการสุขภาพ อาจใช้จุดตั้งต้นที่โรงพยาบาล โดยการออกใบรับรองการเกิดให้ประชาชนทุกคนที่เกิดทั้งในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาลให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากข้อมูลที่รพ.แม่ระมาด พบว่าผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย ครึ่งต่อครึ่งไม่ได้แจ้งเกิดลูกหลังคลอด การสำรวจนักเรียนที่โรงเรียน และผู้ใหญ่บ้าน เพื่อดำเนินการอย่างเป็นระบบต่อไป