ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสมาคมหมออนามัย จี้ สป.สธ. เร่งแต่งตั้งบุคลากรตามโครงสร้างราชการส่วนภูมิภาค หลังไม่ขยับมานานกว่า 4 ปี ส่งผลการทำงาน รพ.สต.ไม่คล่องตัว เกิดความสับสนในการทำงาน และไม่สะท้อนภารกิจทำงานในพื้นที่ ด้านรองปลัดสธ. ชี้ความก้าวหน้าของข้าราชการ ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับโครงสร้างเพียงอย่างเดียว ยันเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างให้สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ 

กรณีสำนักข่าว Health Focus ได้รับข้อความจาก ข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทวงถามความคืบหน้าเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ตามที่สำนักงานปลัดฯ ได้แจ้งให้ทุกจังหวัดทราบว่า อ.ก.พ. สป.สธ. ได้ประชุมเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2553 ได้มีมติเห็นชอบโครงสร้างใหม่ และให้แจ้ง ก.พ. เพื่อรับทราบ แต่ขณะนี้พบว่าผ่านมากว่า 4 ปี สป.สธ.ยังไม่ได้ดำเนินการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามโครงสร้างดังกล่าว รวมทั้งไม่ได้ประกาศจัดตั้งกลุ่มงานส่วนราชการในสังกัดแต่ประการใด แต่บางจังหวัดได้ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มงานเป็นการภายใน เพื่อรองรังโครงสร้างใหม่แล้ว ทำให้เกิดผลกระทบต่อหลายด้าน ดังนี้

1.ขาดความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ เช่น กลุ่มงานใหม่ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หากดำเนินการจัดตั้งรวดเร็ว สามารถขอกำหนดตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานเป็นระดับชำนาญการพิเศษได้ตามที่ ก.พ. กำหนด

2.ตำแหน่งบางตำแหน่งสามารถมีในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เช่น พยาบาลวิชาชีพที่มีในกลุ่มงานพัฒนาคุณภาพและรูปแบบบริการ สามารถรับย้ายข้าราชการมาปฏิบัติงานได้

3.สถานีอนามัยไม่สามารถใช้ชื่อตามโครงสร้างใหม่ได้ เช่น ตำแหน่งผู้อำนวยการ รพ.สต. แต่ในข้อเท็จจริงตามบัญชีถือจ่ายเงินเดือน ยังคงเป็นหัวหน้าสถานีอนามัย ซึ่งไม่สอดคล้องกัน

นายสาคร นาต๊ะ

นายสาคร นาต๊ะ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านต๋อม จ.พะเยา ในฐานะนายกสมาคมหมออนามัย กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องการแต่งตั้งบุคลากรสังกัด สป.สธ. ตามโครงสร้างใหม่ ตามที่ได้แจ้งไว้ตั้งแต่เมื่อ 4 ปีแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้า และดูเหมือนว่าในระยะหลังเรื่องนี้ไม่ค่อยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง ทั้งที่การปรับโครงสร้างดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยให้การปฏิบัติงานในระดับท้องถิ่นและภูมิภาคมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นสมาคมหมออนามัยจึงต้องการเร่งรัดให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาล เร่งผลักดันให้มีการปรับตำแหน่งบุคลากรสังกัด สป.สธ. ให้เป็นไปตามโครงสร้างใหม่โดยเร็ว เพราะตามโครงสร้างเดิมนั้น ไม่เพียงปัญหาความไม่คล่องตัวในการปฏิบัติงาน ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดความสับสนในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะตำแหน่งผู้อำนวยการ รพ.สต. ที่ตามบัญชีถือจ่ายเงินเดือน ยังคงเป็นตำแหน่งหัวหน้าสถานีอนามัย 

“การที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่เร่งผลักดันปรับตำแหน่งบุคลากรให้เป็นไปตามโครงสร้างใหม่ ทำให้เกิดปัญหาหลายด้าน ไม่เฉพาะค่าตอบแทนของผู้อำนวยการ รพ.สต. แต่ยังรวมไปถึงการปฎิบัติงาน ซึ่งถือเป็นอำนาจผูกผันตามตำแหน่งงาน ทำให้ปัจจุบัน รพ.สต.ไม่มีความคล่องตัว บางจังหวัดหากต้องการซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ ก็ต้องส่งเรื่องให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้อนุมัติ ตรงนี้ถือเป็นปัญหาที่ไม่สะท้อนถึงภารกิจการทำงานในระดับพื้นที่” นายสาคร กล่าว 

นายกสมาคมหมออนามัย กล่าวต่อว่า ในขณะที่กระทรวงสาธารณะสุข ต้องการปรับโครงสร้างการบริหารงานภายในกระทรวงฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการผลักดันเขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขต ทั่วประเทศ ในส่วนของสมาคมหมออนามัยก็ต้องการให้ปรับโครงสร้างตามโครงสร้างใหม่ให้แล้วเสร็จ เพื่อที่การปฎิบัติงานจะได้สอดรับการเขตบริการสุขภาพ สามารถเชื่อมโยงการทำงาน ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ซึ่งไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ จากความคล่องตัวในการปฏิบัติงานแล้ว ยังทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีกำลังใจจากค่าตอบแทน และความก้าวหน้าในวิชาชีพอีกด้วย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ สป.สธ. ได้มีหนังสือตอบกลับ โดย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า 1.การกำหนดตำแหน่งเป็นระดับชำนาญการพิเศษ ก.พ. ตามที่ระบุนั้น การกำหนดตำแหน่งเป็นระดับสูงขึ้น มีผลกระทบทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ก.พ.กำหนดให้ต้องนำตำแหน่งว่างมายุบรวม ซึ่ง สป.สธ.ได้ดำเนินการกำหนดตำแหน่ง เป็นระดับสูงขึ้นให้กับข้าราชการ โดยกำหนดเป็นแผน 5 ปี ระหว่าง พ.ศ.2556-2560 ตามตำแหน่งว่างที่สามารถบริหารจัดการได้ จึงสรุปว่าความก้าวหน้าของข้าราชการไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับโครงสร้างอย่างเดียว ยังมีแนวทางกำหนดความก้าวหน้าในฐานะผู้ปฏิบัติงานด้วย

2.สำหรับตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งไม่ใช่หน่วยที่ให้บริการรักษาพยาบาล ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนภารกิจ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ นโยบายยาเสพติด นโยบายการนำแพทย์แผนไทยผสมผสานเข้ากับระบบบริการสุขภาพและเขตสุขภาพ

3.สป.สธ.ได้มีคำสั่ง ลงวันที่ 2 ก.ค.2553 ยกระดับสถานีอนามัยเป็น รพ.สต. และให้ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสถานีอนามัย เป็นผู้อำนวยการ รพ.สต. แล้ว

นอกจากนี้ นพ.วชิระ ยังให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า เนื่องจาก สป.สธ. เป็นหน่วยงานขนาดใหญ่ มีส่วนราชการในส่วนภูมิภาคเป็นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จำนวน 76 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 96 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 758 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 878 แห่ง สถานีอนามัย 9,720 แห่ง มีข้าราชการในสังกัดราชการบริหารส่วนภูมิภาคทั้งสิ้น 181,293 ราย ประกอบไปด้วย 68 สายงาน จึงมีความยุ่งยากซับซ้อนในการบริหารจัดการด้านอัตรากำลังและโครงสร้างกว่างหน่วยงานอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สป.สธ. กำลังดำเนินการทบทวนบทบาทภารกิจและจัดทำโครงสร้าง เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วอน สป.สธ. เดินหน้าโครงสร้างราชการภูมิภาค ชี้ค้างมา 4 ปี กระทบความก้าวหน้างาน