ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ.แจงมอบสปสช.ชี้แจงคตร.ตั้งแต่ 28 พ.ย.57 แล้ว เผยประเด็นที่คตร.ทำหนังสือถามอ้างถึงผลการตรวจสอบของสตง.ต่อกองทุนบัตรทองปี 55-56 ไม่ใช่กรณีความเห็นต่างการบริหารกองทุนบัตรทองที่เกิดขึ้นตอนนี้ เผยเป็นเรื่องดีที่คตร.ตรวจสอบ ทำให้ได้ข้อมูลเป็นจริง เพื่อจะได้แก้ไขบนฐานข้อมูลที่ถูกต้องและเดินหน้าต่อไป ด้านสปสช.เผยอยู่ระหว่างการเข้าพบเพื่อให้ข้อมูลกับคตร.หลัง คตร.เลื่อนนัด 2 ครั้ง เดิมสปสช.ต้องเข้าให้ข้อมูลวันนี้ แต่คตร.แจ้งให้เลื่อนก่อน ยันพร้อมให้ตรวจสอบ

สืบเนื่องจากกรณีมีการรายงานข่าวว่า คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) ได้ทำหนังสือลงวันที่ 9 ม.ค.58 ถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ขอทราบความก้าวหน้าการพิจารณาการปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นั้น

20 ม.ค.58 ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขอชี้แจงว่าประเด็นที่ คตร.ได้ทำหนังสือสอบถามมานั้น อ้างถึงการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ต่อกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2555 และปีงบประมาณ 2556 ไม่ใช่กรณีความเห็นต่างเรื่องการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เกิดขึ้นและอยูระหว่างการแก้ไขในขณะนี้ ส่วนกรณีการชี้แจงกับทางคตร.นั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชี้แจงภายใน 30 วัน และสปสช.ได้รายงานว่า ได้มีการมีนัดหมายเพื่อให้ข้อมูลกับทางคตร.มาโดยตลอด ไม่ได้ละเลยว่าไม่ชี้แจงภายใน 30 วันแต่อย่างใด โดยมีรายละเอียดดังนี้

หลังจากที่คตร.ได้ทำหนังสือลงวันที่ 31 ต.ค.57 โดยอ้างถึงสิ่งที่ส่งมาด้วย คือ ข้อสังเกตประกอบการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เกี่ยวกับสรุปผลการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2555 และ รายงานผลการตรวจสอบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2556 โดยระบุว่าขอให้ตอบใน 30 วัน นั้น ได้มอบหมายให้สปสช.ดำเนินการ ซึ่งสปสช.ได้ทำหนังสือลงวันที่ 28 พ.ย.57 รายงานผลการดำเนินงานตรวจสอบตามข้อร้องเรียน ซึ่งประเด็นการชี้แจงอย่างไรนั้น เนื่องจากหนังสือของคตร.ที่ส่งมานั้น เป็นระดับชั้นลับมาก จึงยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ ต้องรอให้กระบวนการตรวจสอบของคตร.สิ้นสุด แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสตง.ได้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2555 และ 2556

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า ประเด็นนี้เคยเป็นข่าวเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินผิดประเภทและไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของสปสช.สาขาจังหวัด ขณะนั้น สปสช.ในฐานะผู้รับผิดชอบเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และปลัดสธ.ในฐานะต้นสังกัดของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ซึ่งตอนนั้นทำหน้าที่เป็นสปสช.สาขาจังหวัดด้วย จึงได้ร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ตามคำสั่งวันที่ 31 มี.ค.57 โดยมีผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธาน มีการประชุมไปแล้ว 5 ครั้ง และคาดว่าคณะกรรมการฯ ชุดนี้จะมีข้อสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงในเร็วๆ นี้ ส่วนประเด็นที่สตง.เสนอแนะให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) ออกระเบียบเพื่อเป็นกลไกควบคุมกำกับเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั้น บอร์ดสปสช.ได้ออกระเบียบดังกล่าวแล้วตามมติ 10 พ.ย.57

“การที่ คตร.ตรวจสอบการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แม้ว่าจะเป็นประเด็นผลการตรวจสอบของสตง.ปี 55-56 ไม่ใช่ประเด็นที่มีความเห็นต่างในขณะนี้ก็ตาม เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า สถานการณ์ขณะนี้มีความเห็นต่างเรื่องการบริหารจัดการ และอยู่ระหว่างการแก้ไข ซึ่งการตั้งข้อสังเกตและการตรวจสอบไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องปกติที่หน่วยงานของรัฐที่ใช้งบประมาณแผ่นดินต้องถูกตรวจสอบเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีความเห็นต่างเรื่องการบริหารกองทุนในขณะนี้ การที่ คตร.เข้ามาตรวจสอบยิ่งเป็นเรื่องดี ทำให้ได้เห็นข้อมูล ข้อเท็จจริง หลักฐาน เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง มองปัญหาถูกสัดส่วน และเดินหน้าด้วยข้อมูลที่เป็นจริงต่อไป” ศ.นพ.รัชตะ กล่าว  

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ในส่วนการเข้าไปเพื่อชี้แจงข้อมูลกับ คตร.นั้น หลังจาก คตร.ได้ทำหนังสือถึงสปสช. ลงวันที่ 7 ต.ค.57 เรื่องการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และให้สปสช.ให้ข้อมูลในวันที่ 8 ต.ค. ซึ่งสปสช.ได้ไปให้ข้อมูล แต่ทางคตร.ขอเลื่อนการให้ข้อมูลไปก่อน และระบุว่าจะแจ้งมาอีกครั้งว่าจะให้ไปให้ข้อมูลในวันใด ซึ่งต่อมา คตร.มีหนังสือลงวันที่ 15 ม.ค.58 ให้สปสช.ไปชี้แจงในวันนี้ (20 ม.ค.) แต่หลังจากนั้น คตร.มีหนังสือลงวันที่ 16 ม.ค.58 ขอเลื่อนกำหนดชี้แจงไปก่อน ดังนั้นขณะนี้สปสช.จึงยังรอเวลาที่จะไปชี้แจงกับคตร.

เลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่มีการรายงานข่าวว่า หนังสือที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) รายงานต่อ คตร. มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีการโอนเงินให้หน่วยบริการช่วงปลายปีงบประมาณ 2555 และต้นปีงบประมาณ 2556 ก็มีการเรียกคืน รวมถึงการโอนงบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้หน่วยงานที่ไม่ใช่รพ.นั้น ประเด็นนี้สปสช.ได้เคยชี้แจงทั้งโดยการแถลงข่าว และในที่ประชุมบอร์ดสปสช.ไปแล้ว ดังนี้

1.กรณีโอนเงินให้หน่วยบริการ แล้วเรียกคืนนั้น ระบบบริหารสปสช.เป็นการส่งงบล่วงหน้าไปยังหน่วยบริการที่ประเมินจากการให้บริการผู้ป่วยย้อนหลัง ซึ่งยืนยันว่าที่ผ่านมา สปสช.ไม่เคยเรียกเงินคืนจากรพ.แต่อย่างใด แต่ใช้วิธีหักลบกลบหนี้แทน โดยปี 2557 อยู่ที่ 4,000-5,000 ล้านบาท หรือเพียง 4-5% ของงบประมาณ ที่เห็นว่าโอนแล้วเรียกคืนเป็นตัวเลขทางบัญชี และพร้อมให้ตรวจสอบได้

2.การโอนเงินให้หน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยบริการนั้น ขอยืนยันว่าเป็นไปตาม มาตรา 38 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ไม่ได้ผิดกฎหมายอย่างที่เข้าใจผิด มีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 0.5 ของงบเหมาจ่ายรายหัวในแต่ละปี เป็นงบเพื่อพัฒนาติดตามกำกับประเมินผลการจัดบริการ และได้สนับสนุนไปยังสธ.ที่สนับสนุนหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมต่างๆ ของ สธ. สสจ. และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ รวมทั้งสถาบันวิชาการต่างๆ และมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อช่วยพัฒนาเตรียมความพร้อมของบุคลากรในการให้บริการ หรือช่วยในการติดตามกำกับประเมินผลระบบบริการและการเข้าถึงบริการ ในปี 2555-2557 มีจำนวน 610.287 ล้านบาท 75 โครงการ เป็นโครงการของหน่วยงานในสังกัด สธ. 52 โครงการ 500.073 ล้านบาท ยืนยันว่าไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ รพ.ขาดทุนอย่างที่เข้าใจผิดกัน เพราะใช้งบประมาณไม่มากเมื่อเทียบกับงบทั้งหมด

“ขอชี้แจงอีกครั้งว่า สปสช.ยินดีกับการตรวจสอบทุกระดับ และที่ผ่านมา สปสช.ก็มีการตรวจสอบเป็นประจำต่อเนื่องจากสตง. อนุกรรมการตรวจสอบ และกระทรวงการคลังซึ่งมีหน้าที่ประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นกองทุนหมุนเวียนหนึ่งของกระทรวงการคลัง การตรวจสอบทั้งหมดเป็นไปเพื่อควบคุม กำกับ ติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายว่าเป็นไปโดยเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่” นพ.วินัย กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คตร.จี้ 'หมอรัชตะ' แจง 'งบบัตรทอง' ไม่โปร่งใส