ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ส่งทีมหมอครอบครัวดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่อยู่ในบ้าน ชุมชน ในพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพดีขึ้น รมช.สธ.ชี้นโยบายทีมหมอครอบครัวเป็นการสร้างฐานการดูสุขภาพประชาชนในระยะยาว ตั้งแต่ยังมีสุขภาพดีจนถึงเจ็บป่วยก่อนเสียชีวิต สร้างความมั่นใจระบบบริการปฐมภูมิ เชื่อมโยงหน่วยงานอื่นๆ ที่อยู่ในชุมชน ท้องถิ่น

วันนี้ (21 มกราคม 2558) ที่จ.ปัตตานี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการทีมหมอครอบครัว ทั่วตานี คนสุขภาพดี ไม่ทอดทิ้งกัน ของสำนักสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ที่โรงแรมปาร์ควิว อ.เมือง จ.ปัตตานี และให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนในการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข ลดความเหลื่อมล้ำสังคม และสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนใต้คือสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งมีเหตุการณ์ความไม่สงบมากกว่า 10 ปี เช่นที่ปัตตานีมีครอบครัวได้ผลกระทบกว่า 1,000 ครอบครัว ทั้งสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน ความพิการ สุขภาพจิต จะต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือต่อเนื่อง

ในปี 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดนโยบายจัดทีมหมอครอบครัวเป็นของขวัญปีใหม่ เพื่อให้มีทีมหมอครอบครัวประจำตัวทุกครัวเรือน ซี่งเป็นทีมสหวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงอสม. ชุมชน ภาคประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแลสุขภาพประชาชนที่บ้าน หมอฯ 1 คนรับผิดชอบประชากร 1,250-2,500 คน และมีแพทย์จากโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์เป็นที่ปรึกษา

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทีมหมอครอบครัวจะให้การดูแล ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาทุกครอบครัว ประดุจญาติมิตร ช่วยลดทุกข์เพิ่มสุขให้ครอบครัวและชุมชน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ในช่วง 4 เดือนแรกนี้ ดำเนินการ 250 อำเภอ ทุกจังหวัด ประมาณ 30,000 ทีม มุ่งเน้นกลุ่มที่ต้องให้การดูแลก่อนลำดับแรก 3 กลุ่มได้แก่ 1.ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ติดเตียงซึ่งมีจำนวน 163,860 คนหรือร้อยละ 1.4 จากผู้สูงอายุทั้งหมด 9.1 ล้านคน 2.ผู้พิการจำนวน 1,580,525 คน และผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตจำนวนปีละ 27,785 คน และจะขยายเต็มพื้นที่ทุกจังหวัดในเดือนกันยายน 2558 ซึ่งจะมีทีหมอครอบครัวไม่ต่ำกว่า 60,000 ทีม

“ทีมหมอครอบครัว เป็นการสร้างความเข้มแข็งการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าในระดับอำเภอ เป็นทิศทางการจัดบริการเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า การร่วมดูแลสุขภาพประชาชนเป็นทีมสหวิชาชีพดีกว่าทุกอย่างต้องเริ่มต้นและจบลงที่แพทย์ ขณะนี้อัตราแพทย์ไทยยังขาดแคลน เฉลี่ยแพทย์ 1 คนต่อประชากร 2,893 คน ขณะเดียวกันปัญหาการเจ็บป่วยสุขภาพของประชาชนขณะนี้ร้อยละ 80 ไม่รุนแรง ป้องกันได้ มีเพียงร้อยละ 20 ที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ทีมหมอครอบครัวนี้ จะเป็นการวางฐานการดูแลสุขภาพระยะยาว ตั้งแต่สุขภาพยังดี จนถึงเจ็บป่วยแล้ว สร้างความคุ้นเคยประชาชน จนทุกครอบครัวอุ่นใจว่ามีอะไรก็ช่วยได้ ซึ่งจากการติดตามการทำงานหลายพื้นที่ พบว่าทั้งญาติและผู้ป่วยพึงพอใจมาก” นพ.สมศักดิ์กล่าว

นพ.บรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ที่ปัตตานีมีทีมหมอครอบครัวทั้งหมด 142 ทีม เฉลี่ยตำบลละ 1 ทีม แต่ละทีมประกอบด้วยบุคลากรการแพทย์ เช่นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด อสม. เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เช่นนายอำเภอ เจ้าหน้าที่เกษตร พัฒนากร เจ้าหน้าที่กศน. เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งจะมีการประสานทำงานดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวอย่างใกล้ชิดทุกเรื่องฟรี จากการสำรวจมีผู้ป่วยพักฟื้นอยู่ที่บ้านขณะนี้ 1,717 คน ได้แก่ ผู้สูงอายุติดเตียง 1,002 คน ผู้พิการช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และมีผู้ป่วยระยะสุดท้าย 129 คน ในเบื้องต้นนี้มีศูนย์ประสานการดูแลผู้ป่วยที่รพ.ปัตตานี รพ.ยะหริ่ง รพ.กะพ้อ รพ.หนองจิก รพ.ยะรัง มีเครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์ ที่จำเป็นเพื่อนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เช่นเตียง อ๊อกซิเจน รถนั่ง ชุดทำแผลฯ ต่อไปจะขยายครอบคลุมทุกอำเภอ