ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวังคุณภาพยาที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ พบผลิตภัณฑ์วิตามินรวมผสมเกลือแร่ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ผิดมาตรฐานร้อยละ 69 ส่วนยาเม็ดไอโอดีนที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม จำนวน 3 รุ่นการผลิต มีคุณภาพมาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนด

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าไอโอดีนเป็นธาตุอาหารที่สำคัญมากชนิดหนึ่งสำหรับมนุษย์ทุกเพศทุกวัย ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ (Thyroid hormone)แหล่งที่มาของไอโอดีนส่วนใหญ่มาจากอาหาร ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคปริมาณไอโอดีนต่อวันคือ 150-200 ไมโครกรัม ขณะที่ทั่วโลกมีประชากรที่ได้รับปริมาณไอโอดีนจากอาหารไม่ถึงเกณฑ์กำหนดรวมถึงประชากรไทยด้วย โดยเฉพาะในช่วงการตั้งครรภ์ หากมารดาขาดสารไอโอดีนจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทของเด็กทารกได้ ดังนั้นกระทรวงสาธาณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมหารือเพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางในการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนอย่างยั่งยืน รวมถึงมีการออกมาตรการทางกฎหมาย เช่น ทางด้านอาหาร มีการปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวกับเกลือบริโภค น้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง และมีมาตรการด้านการควบคุมคุณภาพ สำหรับทางด้านยา ได้มีนโยบายให้องค์การเภสัชกรรมผลิตยาเม็ดไอโอดีนเพื่อแจกให้กับหญิงตั้งครรภ์

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีมาตรการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ยาที่มีสารไอโอดีนเป็นส่วนประกอบโดยสำนักยาและวัตถุเสพติด ได้สำรวจคุณภาพยาเม็ดไอโอดีนทั้งในรูปยาเดี่ยวและผลิตภัณฑ์วิตามินรวมผสมเกลือแร่ตามมาตรฐานสากล พบว่ายาเม็ดไอโอดีนที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมจำนวน 3 รุ่นการผลิตมีคุณภาพมาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนด

ส่วนผลการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์วิตามินรวมผสมเกลือแร่จำนวน 13 ตัวอย่าง ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ พบผิดมาตรฐาน 9 ตัวอย่าง (ร้อยละ 69) ที่สำคัญพบว่าบางตัวอย่างมีปริมาณไอโอดีนในแต่ละเม็ดแตกต่างอย่างมาก ตั้งแต่บางเม็ดยาตรวจไม่พบไอโอดีน จนถึงตรวจพบปริมาณไอโอดีนสูง 40 เท่าของปริมาณที่แจ้งซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไปดำเนินการแล้ว ผลิตภัณฑ์วิตามินรวมผสมเกลือแร่เหล่านี้ มีการใช้เป็นยาบำรุงในหญิงตั้งครรภ์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้รับไอโอดีนในปริมาณที่เพียงพอเช่นกัน  ดังนั้นการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ยาที่มีสารไอโอดีนเป็นองค์ประกอบ โดยเฉพาะที่มีข้อบ่งใช้กับสตรีมีครรภ์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนได้รับยาที่มีคุณภาพมาตรฐาน