ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.วชิระ เผย สธ.ทำตามมติบอร์ด สปสช. ที่ให้ยกเลิกให้ สสจ. เป็น สปสช.สาขาจังหวัด ตั้งแต่ 1 ต.ค. 57 ทำให้ สสจ.ไม่มีอำนาจเป็นนายทะเบียนบัตรทองอีกต่อไป จึงต้องคืนอำนาจให้ สปสช. ตามบทบาทที่ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดไว้ โดยจะขยายเวลาเพื่อให้สปสช.จัดระบบรองรับถึง เม.ย. 58 ยันไม่กระทบประชาชนผู้มีสิทธิ ยังสามารถใช้บริการรักษาพยาบาล รวมทั้งการขอย้ายโรงพยาบาลได้ตามปกติ และยินดีร่วมมือส่งข้อมูลให้สปสช.พิจารณาขึ้นทะเบียนสิทธิผู้รับบริการ

วันนี้ (28 ม.ค. 58) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ส่งหนังสือราชการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 58 เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติ ภายหลังคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีมติเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 57 ให้ ยกเลิกสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สาขาจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 57 ทำให้ สสจ.ไม่มีอำนาจดำเนินการภารกิจแทน สปสช.ได้ จึงจำเป็นต้องยุติการทำหน้าที่ดังกล่าว ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นการปรับระบบบริหารจัดการภายในระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสปสช. ให้เป็นไปตามหลักการและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ไม่มีผลกระทบต่อประชาชนในการเข้ารับบริการแต่อย่างใด ยังสามารถใช้บริการรักษาพยาบาล การส่งเสริมป้องกันควบคุมโรค การขึ้นทะเบียน ย้ายสิทธิ์และสถานพยาบาลได้ตามปกติ และยินดีร่วมมือส่งข้อมูลให้สปสช.พิจารณาขึ้นทะเบียนสิทธิผู้รับบริการ จึงขอให้ทุกฝ่ายสบายใจได้

นพ.วชิระกล่าวต่อว่า ในการปรับระบบบริหารจัดการครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้จัดบริการ ได้หารือกับสปสช.ในฐานะผู้ซื้อบริการ อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับบทบาทให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และมีมติร่วมกันว่า จะยังคงบทบาทของ สสจ. ในการดำเนินการตามมาตรา 41 เพื่ออำนวยความสะดวกให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากบริการทางการแพทย์ในพื้นที่ ไม่ต้องไปติดต่อที่สปสช.เขต แต่เนื่องจากระเบียบวิธีการของ สสจ. ในฐานะส่วนราชการ แตกต่างจากระเบียบวิธีการของ สปสช. ซึ่งเป็นองค์การมหาชน ทำให้การดำเนินงานใน ม.41 อาจมีปัญหาอยู่บ้าง ซึ่งกระทรวงฯ ได้พยายามแก้ไขโดยได้ ขอหารือกระทรวงการคลัง เพื่อปรับระบบการเบิกจ่ายเงิน ให้สามารถทำได้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์วิธีการที่สปสช.กำหนด และขอย้ำว่าเรื่องนี้เป็นการปรับกระบวนการบริหาร ไม่มีผลกระทบใดๆกับประชาชนเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้กำหนดบทบาทของ สปสช. ไว้ใน มาตรา 26 อาทิการขึ้นทะเบียนผู้รับบริการ หน่วยบริการ และเครือข่ายบริการ การขอเปลี่ยนหน่วยบริการ การจ่ายเงิน และกำหนดบทบาทของหน่วยบริการ ส่วน สธ.ก็มีหน้าที่ตามมาตรา 45 ในการจัดบริการที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ เช่น การให้บริการทางการแพทย์ การจัดระบบข้อมูลบริการ เป็นต้น ดังนั้นการทำหน้าที่เป็นนายทะเบียน การรับขึ้นทะเบียน และขอเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาลนั้น จึงเป็นหน้าที่ของ สปสช.โดยตรง สธ.จึงจำเป็นต้องแจ้งแก่ สสจ. และ สปสช. เพื่อดำเนินการคืนภารกิจให้ตรงตามกฎหมายกำหนด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 30 เม.ย. 58