ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

36 องค์กรสาธารณสุขและเครือข่ายแพทย์ชายแดน เรียกร้อง รมว.สธ.เสนอ ครม.เพิ่มคนไทยไร้สถานะ 208,631 คน ที่ยังรอการพิสูจน์สิทธิเข้ากองทุนให้สิทธิรักษาพยาบาลที่สธ.ดูแลอยู่ ตามมติ ครม. 23 มี.ค.53 พร้อมเสนอตั้งกองทุนควบคุมโรคตามแนวชายแดน เผยเสนอให้สธ.รับทราบและได้ประกาศเป็นนโยบายของ นพ.รัชตะ และนพ.สมศักดิ์ ตั้งแต่รับตำแหน่ง ก.ย.57 แล้ว คาดใช้งบเพิ่มปีละ 602.5 ล้านบาท ชี้เป็นมาตรการมนุษยธรรมที่จะช่วยแก้ปัญหา รพ.ชายแดนที่ต้องแบกรับค่ารักษา และช่วยควบคุมป้องกันโรคตามแนวชายแดน

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ นางเตือนใจ ดีเทศน์ และ นางเตือนใจ ดีเทศน์ และนายวิวัฒน์ ตามี่

เมื่อวันที่ 29 ม.ค.58 ที่ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา จ.เชียงราย เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ร่วมกับ 36 องค์กรด้านสาธารณสุขและเครือข่ายแพทย์ตามแนวชายแดน มูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุขไทย และสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) แถลงข่าวการแก้ไขปัญหาสิทธิการรักษาพยาบาลให้กลุ่มคนไทยไร้สถานะ และเสนอตั้งกองทุนควบคุมโรคตามแนวชายแดน

นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีประชากรกลุ่มหนึ่งที่ยังมีปัญหาสถานะและสิทธิ ส่วนใหญ่เป็นประชากรในพื้นที่สูง ตามแนวชายแดน หรือแม้กระทั่งในเขตชุมชนแออัดที่ตกหล่นจากการสำรวจของทะเบียนราษฎร์ หรือที่รู้จักกันดีว่ากลุ่มคนไร้สัญชาติ ซึ่งรัฐบาลก็มียุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เสนอ และครม.มีมติเห็นชอบ 18 ม.ค.48 โดยในส่วนของสิทธิการรักษาพยาบาลนั้น ก็ได้มีมติครม. 23 มี.ค.53 ให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ 457,409 คน โดยกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ดูแล ปัจจุบันประชากรในกลุ่มนี้มีจำนวน 416,648 คน จำนวนที่ลดลง 40,761 คน เป็นกลุ่มบุคคลที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว แต่ก็ยังมีประชากรที่รอการพิสูจน์สถานะและสิทธิที่ยังตกหล่นอยู่ ทางเครือข่ายฯ จึงได้เสนอแนวทางให้ สธ.แก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิสุขภาพให้ประชากรกลุ่มนี้โดยยึดแนวทางตามหลักมนุษยธรรม

นายวิวัฒน์ ตามี่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการให้สิทธิรักษาพยาบาลแก่กลุ่มคนไร้สถานะ 4.5 แสนคนนี้ พบปัญหาว่า รพ.รัฐต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลตามหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งยังมีปัญหาการควบคุมโรค เมื่อรัฐบาลแก้ไขปัญหาให้ได้รับสิทธิรักษาพยาบาล ก็พบว่าช่วยแก้ปัญหานี้ได้ แต่ก็ยังมีกลุ่มบุคคล ซึ่งมีคุณสมบัติตามมติครม. 23 มี.ค.53 จำนวน 208,631 คน ที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากขณะนั้นยังไม่ได้รับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนราษฎร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นญาติกับกลุ่มคนไทยไร้สถานะที่ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลไปแล้ว ดังนั้นทางเครือข่ายฯ จึงได้จัดทำข้อเสนอไปยังสธ. ให้เพิ่มกลุ่มคนไทยไร้สถานะที่รอการพิสูจน์สิทธิ์ 208,631 คนนี้ ให้ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลตามกองทุนที่สธ.ดูแล ตามมติครม. 23 มี.ค.53 เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย.58 ซึ่งจะได้รับงบรายหัวเท่ากับสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค เท่ากับว่าจะเพิ่มขึ้นอีกปีละประมาณ 441 ล้านบาท จากปีละ 900 ล้านบาท จะเป็น 1,341 ล้านบาท สำหรับดูแลสิทธิรักษาคนไทยไร้สถานะ 625,279 คน ส่วนงบประมาณปี 58 ซึ่งทางเครือข่ายเสนอให้เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย.58 นี้ จะใช้งบเพิ่มเพียง 220.5 ล้านบาท โดยขณะนี้ได้เสนอให้สธ.รับทราบและเห็นชอบแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าครม.ต่อไป

นายวิวัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ยังเสนอให้สธ.จัดตั้งกองทุนควบคุมโรคตามแนวชายแดน ตั้งแต่ 1 เม.ย.58 เพื่อดูแลกลุ่มอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุข 1.5 ล้านคน โดยให้ได้รับเท่ากับงบส่งเสริมป้องกันโรคของผู้มีสิทธิรักษาพยาบาล 30 บาทฯ คือ 383.61 บาทต่อคน รวมเป็นเงิน 161.5 ล้านบาท เพื่อให้รพ.รัฐใช้ในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคไม่ให้แพร่เข้าสู่ประเทศไทยต่อไป

“ข้อเสนอเพิ่มกลุ่มคนไร้สถานะอีกประมาณ 2 แสนคน เข้าไปในกองทุนให้สิทธิการรักษาพยาบาลที่สธ.ดูแล ตามข้อเสนอของเครือข่ายฯ นั้น ก่อนหน้านี้ได้ผ่านความเห็นชอบของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ, คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และเป็นหนึ่งในนโยบายของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. และ  นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ. เมื่อรับตำแหน่ง ก.ย.57 ซึ่ง รมต.ทั้ง 2 คน ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะนำเสนอเรื่องนี้เข้าครม. ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของครม. เพื่อเดินหน้าเรื่องนี้เสียที เพื่อให้คนไทยไร้สถานะเหล่านี้ได้รับสิทธิ เนื่องจากมีหลายคนที่ประสบปัญหาเรื่องการรักษาพยาบาล เป็นหนี้รพ. และมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงโดยไม่จำเป็น เพราะไม่กล้าไปรักษาที่รพ. เนื่องจากไม่มีสิทธิการรักษาใดๆ” นายวิวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ การเพิ่มกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ยังตกค้าง ที่ทางเครือข่ายฯ เสนอเพิ่มให้ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลคือ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม จำนวน 208,631 ราย ดังนี้

1) กลุ่มที่มีบัตรประจำตัวประชาชน ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ประเภททะเบียนราษฎร์ ทร.38 ก โดยเลขประจำตัวหลักที่ 6 และ 7 เป็นเลข 8 และ 9 (0-xxxx-89xxx-xx-x) ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติในกลุ่มชนกลุ่มน้อยที่เข้ามา,อยู่ไทยเป็นเวลานาน แต่ตกสำรวจ จำนวน 150,076 คน

2) กลุ่มบุตรของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่เกิดในประเทศไทยและได้รับการแจ้งเกิด มีสูติบัตร ได้เลข 13 หลักเป็นบุคคลประเภท 0 (บุตรของกลุ่มที่ 1) จำนวน 56,672 ราย

3) กลุ่มคนที่ไม่สามารถพิสูจน์สถานะเกิดซึ่งนายทะเบียนได้จัดทำประวัติให้เป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 0 โดยเลขประจำตัวหลักที่ 6 และ 7 เป็นเลข 0 และ 0 (0-xxxx-00xxx-xx-x) จำนวน 1,883 คน

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สำหรับกลุ่มประชากรไทยที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในประเทศไทย มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ครม.รับรองให้อาศัยอยู่ถาวร และกลุ่มที่ครม.ผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราว เพื่อรอพิสูจน์สถานะ ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ระนอง กาญจนบุรี และราชบุรี โดยสสส.สนับสนุนให้คนไทยไร้สถานะกลุ่มนี้ให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นแนวทางตามหลักสิทธิมุนษยชน เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตลอดจนการรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อไม่ให้เป็นภาระด้านงบประมาณแก่ รพ. และเป็นการควบคุมโรคที่ได้ประสิทธิภาพที่สุดอีกด้วย