ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.อนุมัติสิทธิประโยชน์ด้านยา 6 รายการ ปี 58 ครอบคลุมบัญชียาหลักแห่งชาติเพิ่ม รวมมูลค่า 115 ล้านบาท ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็น แถมช่วยประหยัดงบประมาณ เผยจากการดำเนินนโยบายบริหารจัดการด้านยา ช่วยประยัดงบกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารวมปีละเกือบหมื่นล้านบาท ซ้ำช่วย รพ.ลดภาระค่ายากลุ่มผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาแพง 

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญของการเข้าถึงการรักษาพยาบาลคือการเข้าถึงยาที่จำเป็น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงเน้นให้ความสำคัญต่อนโยบายการเข้าถึงยาตั้งแต่เริ่มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และได้พัฒนาสิทธิประโยชน์ด้านยารวมถึงการบริหารกองทุนยาต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าถึงยาที่จำเป็นได้ โดยเน้นให้ครอบคลุมกลุ่มบัญชียาหลักแห่งชาติทั้งหมด

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น บอร์ด สปสช.จึงได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ด้านยาเพิ่มเติม 6 รายการ ทั้งกลุ่มรายการยาบัญชี ก. รายการยาบัญชี ง. (กลุ่มยากำพร้า) และรายการยาบัญชี จ. เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้แก่

1.ยาลอราซีแพม อินเจกชั่น (Lorazepam injection) เป็นยาพื้นฐานใช้ฟื้นฟูลดภาวะที่สมองจะถูกทำลายและเสียชีวิตจากการชัก มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาประมาณ 3,000-5,000 คนต่อปี มูลค่ายาราว 3 ล้านบาทต่อปี

2.ยาทริแพน บูล (Trypan blue) ใช้ย้อมสีถุงหุ้มเลนส์ตาระหว่างผ่าตัดต้อกระจก และย้อม Internal Limiting membrane กรณีผ่าจอตา มีผู้ป่วยที่ต้องการใช้ประมาณ 10,000 รายต่อปี มูลค่ายาราว 14 ล้านบาทต่อปี

3.ยาอินดอคยาไนน์ กรีน (Indocyanine green) เพื่อใช้วินิจฉัยโรคจุดภาพเสื่อม (Polypoidal choroidal vasculopathy : PCV ) มีผู้ป่วยที่ต้องการใช้ประมาณ 20,000 ราย มูลค่าราว 38 ล้านบาทต่อปี

4.ยาดาคาบาซีน Dacarbazine /Hodgkin’s Lymphoma เป็นยาพื้นฐานเพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮ้อดกิ้นส์ ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับยานี้มีโอกาสหาย มีผู้ที่ต้องรับยานี้ประมาณ 100 คนต่อปี มูลค่ายาราว 14 ล้านบาท

5.Arsenic trioxidel /Relapsed/resistance acute promyelocytic leukemia (APL) ยารักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว ใช้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา All-trans-retinoic acid มีผู้ป่วยที่ต้องได้รับยานี้ประมาณ 1,000 คน มูลค่ายาราว 14 ล้านบาท

6.Factor Vlll และ Factor IX สำหรับผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย A และ B ซึ่งการให้ยานี้กับผู้ป่วยจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการนอนโรงพยาบาลในกรณีเลือดออกรุนแรงได้ปีละ 500,000-600,000 บาทต่อผู้ป่วย 1 ราย ที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง มีผู้ป่วยที่ต้องใช้รับยานี้ประมาณ 1,483 ราย มูลค่ายาราว 32 ล้านบาท

“การพิจารณาอนุมัติยาทั้ง 6 รายการเพื่อให้ผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เข้าถึงนั้น สปสช.ได้ดำเนินการเพื่อให้ครอบคลุมการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการแห่งชาติด้านยาเป็นผู้พิจารณา โดยเริ่มดำเนินการสิทธิประโยชน์ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา” ศ.นพ.รัชตะ กล่าวและว่า ทั้งนี้การเพิ่มสิทธิประโยชน์ยาทั้ง 6 รายการนี้ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 115 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณในส่วนของบริหารจัดการยาที่มีปัญหาการเข้าถึงปี 2558 ยกเว้นยา Factor Vlll และ Factor IX ซึ่งใช้งบค่าใช้จ่ายสูงสำหรับการดูแลผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย ปี 2558

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สปสช.ได้เพิ่มรายการยาเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงอย่างต่อเนื่องในกลุ่มยา 10 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มยาจำเป็นราคาแพงในบัญชียา จ (2) 2.กลุ่มยาต้านไวรัสเอชไอวี 3.กลุ่มยาต้านวัณโรค 4.กลุ่มยาวัคซีนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 5.วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล 6.วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 7.ยาจิตเวช 8.ยาโคลพิโดเกรลสำหรับรักษากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 9.ยาดีเฟอริโพรน หรือยาขับเหล็ก และ 10.กลุ่มยากำพร้า

ทั้งนี้จากนโยบายด้านยาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านอกจากช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาแล้ว จากการบริหารจัดการยาของ สปสช. ส่งผลให้เกิดการต่อรองราคายารวม ไม่เพียงแต่ช่วยประหยัดงบประมาณให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีละเกือบหมื่นล้านบาท และช่วยประหยัดงบประมาณให้กับกองทุนรักษาพยาบาลอื่นด้วย ซึ่งเชื่อว่าการเพิ่มสิทธิประโยชน์ยา 6 รายการข้างต้นนี้จะช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อยาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระค่ายาที่มีราคาแพงให้กับ รพ.ที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาเหล่านี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง