ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ.ยัน ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องจัดสรรงบบัตรทอง เผยข้อตกลงที่ได้จากการประชุมร่วม สธ.และ สปสช. ยังต้องนำเสนอเข้าอนุฯ การเงินการคลัง และนำเสนอให้บอร์ด สปสช.พิจารณาต่อไป ชี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ต้องผ่านการมีส่วนร่วมทุกระดับ ไม่ใช่เรื่องที่ สธ.จะไปตกลงกับสปสช.ได้เอง

สืบเนื่องจากมีการรายงานข่าวทางสื่อมวลชนว่า ได้มีการเห็นชอบข้อเสนอที่จะให้เขตสุขภาพเป็นผู้จัดสรรงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2558 แล้วนั้น (ดูข่าวที่นี่ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข่าวดังกล่าวมีการรายงานคลาดเคลื่อน ข้อตกลงที่ได้จากการประชุมร่วม 30 ม.ค.นั้น ได้ข้อสรุปว่า ในส่วนของการจัดสรรเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2558 นั้น ยังเป็นไปตามประกาศของบอร์ด สปสช. ไม่ว่าจะเป็น วงเงินระดับเขตของงบผู้ป่วยนอก งบผู้ป่วยใน งบสร้างเสริมสุขภาพ (PP-basic) และการจัดสรรแก่หน่วยบริการสาธารณสุขที่แยกเป็นรายการต่างๆ บนฐานประชากร โครงสร้างอายุ และผลงานบริการ เฉพาะหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ขณะที่ส่วนที่จะนำเสนอในขั้นตอนต่อไป เพื่อการปรับปรุงนั้น มีดังนี้

1.การใช้ตัวเลขเงินเดือนมาหักรายได้ของหน่วยบริการในสังกัด สป.สธ. ใช้ตัวเลข GFMIS (ระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐ) เป็นตัวเลขอ้างอิง และขอปรับเกลี่ยสำหรับบริหารระดับประเทศไม่เกินร้อยละ 1 และระดับเขตไม่เกินร้อยละ 5 โดยมีเกณฑ์การบริหารที่ชัดเจน

2.เพื่อให้ได้ตัวเลขประมาณการรายรับขั้นต่ำของหน่วยบริการ จะมีการจัดการเพื่อไม่ให้มีการตั้งหนี้และหักจากเงินที่จะโอนให้ใหม่ อันเกิดจากผลงานต่ำกว่าประมาณการ โดยจะดำเนินการดังนี้ ประมาณการอัตราจ่ายให้เหมาะสมเพื่อให้มีเงินสำรองไว้เพิ่มเติมให้เป็นไปตามผลงาน และนำเงินที่สำรองไว้ตามจ่ายตามผลงานของ รพ.สังกัด สป.สธ.โดยใช้ผลงานภาพรวมผลงาน รพ.สังกัด สป.สธ.ของแต่ละเขตมาสนับสนุน รพ.สังกัด สป.สธ. ที่ผลงานต่ำกว่าประมาณการขั้นต่ำ ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้จะทำให้ รพ.สังกัด สป.สธ. ได้รับงบไม่ต่ำกว่าการประมาณการรายรับขั้นต่ำ โดยจะมีเงินที่สำรองตามจำเป็นไว้ สำหรับจัดสรรเพิ่มเติมตามผลงานที่แตกต่างจากประมาณการรายรับขั้นต่ำดังกล่าว และสนับสนุน รพ.สต. และศูนย์สาธารณสุขชุมชนในพื้นที่ประชากรเบาบาง

3.ปรับปรุงการทำงานระดับเขต ให้มีคณะกรรมการร่วม (co-committee) ทำงานร่วมกันแล้วเสนอเพื่อขออนุมัติต่อคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) และในส่วน อปสข. อาจจะปรับปรุงองค์ประกอบ โดยจะเสนอเพิ่มผู้แทนหน่วยบริการทุกสังกัด (ไม่ใช่เฉพาะ สป.) จากเดิมที่มี นพ.สสจ.เป็นตัวแทน รพ.สังกัด สป.สธ. ทั้งจังหวัดเท่านั้น

4.รายการบริการกรณีเฉพาะ ให้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายได้ในระดับเขต (regional target) โดยเริ่มรายการผ่าตัดตาต้อกระจก (cataract) และโรคหอบหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Asthma/COPD) และ5.เพื่อให้สามารถบริหารจัดการและพัฒนาการจัดบริการภายในเขตได้อย่างต่อเนื่อง สปสช. จะเสนอข้อมูลบริการให้ระดับเขตอย่างสม่ำเสมอ ตามที่จะตกลงกันต่อไป สำหรับในระยะยาว การมีหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่ธุรกรรมเบิกจ่ายระดับชาติ (national data clearing house) จะเป็นผู้สนับสนุนข้อมูลต่อไป

“ขอยืนยันว่าข้อตกลงดังกล่าวข้างต้นนี้ เป็นข้อตกลงร่วมเท่านั้น ยังไม่ใช่ข้อสรุปที่สามารถนำไปดำเนินการได้ ขณะนี้การดำเนินการทุกอย่างเกี่ยวกับงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 58 ยังยึดตามประกาศของบอร์ด สปสช. ที่ รมว.สธ.ลงนามไปแล้วเท่านั้น ส่วนข้อตกลงที่ได้นี้ จะต้องนำเข้าคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง และเข้าสู่เป็นวาระพิจารณาของบอร์ดสปสช.ต่อไป เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญ ต้องผ่านการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถตกลงได้แค่ระดับ 2 หน่วยงาน คือ สป.สธ. และสปสช. ซึ่งเป็นกลไกตามกฎหมายที่ออกแบบเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง” ศ.นพ.รัชตะ กล่าว