ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน : ก.สาธารณสุขงัดข้อ สปสช.ป่วนอีก สธ.ประกาศยกเลิกรับขึ้นสิทธิบัตรทอง-รับแจ้งย้ายสิทธิ กระทบเด็กแรกเกิด-ผู้ป่วย เครือข่ายผู้ป่วย-หมอชนบท รุมจวก หวังเล่นเกมกดดัน รองปลัดแจงเป็นมติเดิมให้แยกบทบาททำงาน

ความขัดแย้งระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นอกเหนือจากการจัดสรรงบประมาณโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิบัตรทอง ล่าสุดได้เกิดประเด็นปัญหาใหม่ขึ้มมาอีก โดย สปสช.ออกมาระบุถึงหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ลงนามโดย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ.เมื่อวันที่ 15 มกราคม ยกเลิกการทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนและเป็นหน่วยรับลงทะเบียนสิทธิบัตรทองของ สธ. และให้ สปสช.รับหน้าที่นี้ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน เป็นต้นไป ส่งผลให้เกิดกระแสหวั่นวิตกจะเกิดผลกระทบต่อการใช้สิทธิบัตรทองของผู้ป่วย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เฟซบุ๊กของเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ โดยนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่าย โพสต์ข้อความถึงเรื่องดังกล่าว แสดงความกังวลและเป็นห่วงผลกระทบที่จะตกกับผู้ป่วย ส่งผลให้มีผู้ป่วยจำนวนมากต่างเข้ามาโจมตี สธ.เกี่ยวกับการยกเลิกหน้าที่ดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ขณะที่ เฟซบุ๊กชมรมแพทย์ชนบทก็โพสต์ตำหนิการ กระทำที่เกิดขึ้น และกล่าวหาผู้อยู่เบื้องหลัง คือ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. เนื่อง จากอาจต้องการกดดันหรือแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เดิม สป.สธ.ได้ระบุถึงกรณีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด สปสช. ยกเลิกการทำหน้าที่ สปสช.สาขาจังหวัด ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ โดยอ้างว่ามีความซ้ำซ้อน ระหว่างผู้ซื้อบริการคือ สปสช. และผู้ให้บริการคือ สสจ.และโรงพยาบาลในสังกัด แต่ปรากฏว่าหนังสือของ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. ลงวันที่ 15 มกราคม ยกเลิกการทำหน้าที่ขึ้นทะเบียน และแจ้งย้ายสิทธิบัตรทองของหน่วยบริการ ซึ่งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดังกล่าวคือโรงพยาบาลสังกัด สป.สธ.ทั่วประเทศ หากดำเนินการตามประกาศมีผลวันที่ 30 เมษายน จะส่งผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กแรกเกิด ที่ปัจจุบันมีเด็กเกิดใหม่ปีละ 800,000 คน และบุคคลที่มีสิทธิว่าง คือไม่ทราบสิทธิการรักษาตัวเองอีกประมาณ 80,000 คนในปี 2556 รวมไปถึงการแจ้งย้ายสิทธิข้ามโรงพยาบาลต่างๆ

"ที่ผ่านมาเมื่อเด็กคลอดที่โรงพยาบาล ก็จะออกใบรับรองการเกิด โดยญาติหรือผู้เป็นพ่อจะไปแจ้งเกิดตามสิทธิ และต้องมีหน่วยงานขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทองให้ ถึงจะได้สิทธิอย่างถูกต้อง ไม่ได้อัตโนมัติอย่างที่เข้าใจ หากโรงพยาบาลบอกว่าไม่รับขึ้นทะเบียน ก็ต้องส่งผลกระทบต่อประชาชนแน่ๆ หากป่วยไข้ก็ต้องจ่ายเงินเอง รวมไปถึงคนสิทธิว่าง ที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไร เมื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลก็จะมีการแจ้งสิทธิการรักษาให้ แต่ถ้าแบบนี้จะทำอะไรไม่ได้อีก จะไปติดต่อที่ สสจ. ก็ไม่ได้ด้วย เนื่องจากยกเลิกการทำหน้าที่ไปตั้งแต่ปี 2557 ดังนั้นทางออกอยู่ที่ สธ.ว่าจะคิดอย่างไร หากอ้างว่าเป็นภาระงานก็ไม่ใช่สาเหตุจะยกเลิก เนื่องจาก สธ.ต้องดูแลสุขภาพของประชาชน ทางออกคือให้หันหน้ามาทำงานร่วมกันจะดีกว่า" นายนิมิตร์กล่าว

นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา ตัวแทนชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานใน สธ. ทำหน้าที่ดังกล่าวมาร่วม 10 ปีแล้ว ทั้งรับขึ้นทะเบียนและการย้ายสิทธิต่างๆ เหมือนเป็นงานประจำ นอกเหนือจากการให้บริการ เรียกว่าทำเป็น วัน สต๊อป เซอร์วิส ซึ่งมีงบประมาณจาก สปสช.ในการพัฒนาระบบ แม้จะไม่มากและไม่ได้รับทุกปี แต่บุคลากรก็เต็มใจทำงานเพื่อประชาชน การมีคำสั่งแบบนี้เหมือนเป็นการกดดัน สปสช.โดยเอาประชาชนเป็นตัวประกัน การที่มาให้เหตุผลว่าต้องแยกระหว่างผู้ซื้อกับผู้ให้บริการ ขอย้ำว่าไม่ใช่ เพราะการทำเช่นนี้คือวัน สต๊อป เซอร์วิส เพื่อความสะดวกต่อประชาชน

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับประกาศของ สธ. เพราะไม่ต่างจากการถอยหลังเข้าคลอง จะมาอ้างว่าแยกผู้ซื้อและผู้ให้บริการ ทั้งความจริงแยกกันอยู่แล้ว เรื่องนี้คือประโยชน์ต่อประชาชน หากยกเลิกการขึ้นทะเบียนก็ไม่ต่างจากประชาชนที่ไปรักษาพยาบาลไม่รู้สิทธิ ก็ต้องจ่ายเงินเองอยู่ดี

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า กระแสข่าวที่เกิดขึ้นเป็นความเข้าใจผิด หนังสือที่ได้ลงนามไปเป็นการปฏิบัติตามมติบอร์ด สปสช. ที่ให้ยกเลิกการทำหน้าที่นายทะเบียนขึ้นสิทธิบัตรทอง รวมทั้งการทำหน้าที่ผู้อำนวยการ สปสช.สาขาจังหวัดของ นพ.สสจ. ซึ่งได้ยกเลิกหน้าที่ไปตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 แต่ระหว่างนั้น สป.สธ.ก็ช่วยดำเนินการให้มาตลอด เพื่อรอให้ สปสช.หากลไกมาทำหน้าที่นี้แทน แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะให้ สสจ.รับหน้าที่นี้ต่อไปก็ขัดกับบทบาทที่ควรเป็น จึงต้องออกหนังสือดังกล่าว โดยกำหนดว่าตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน จะต้องส่งมอบหน้าที่ที่แท้จริงให้กับทาง สปสช.

"ปรากฏว่าเกิดความเข้าใจผิดไม่จบสิ้น เพราะข้อเท็จจริงแล้วผู้ป่วยยังคงมีสิทธิบัตรทองเหมือนกันหมด ปัญหาที่เกิดขึ้นคือระดับบริหารจัดการ โดยระหว่างนี้ก็จะมีการหารือกับ สปสช.ว่าจะมีกลไกอะไรมาแทนที่ สปสช.สาขา แต่ในส่วนของการรักษาพยาบาลตามสิทธิยังเหมือนเดิม

ผู้ป่วยทุกคนเมื่อมีบัตรประจำตัวประชาชนก็มีสิทธิบัตรทองอยู่แล้ว และการเข้ารับบริการครั้งแรกในโรงพยาบาลรัฐ สามารถเข้ารักษาได้ทุกแห่ง จากนั้นข้อมูลก็จะขึ้นมาว่าเจ้าตัวรักษาที่โรงพยาบาลไหน ส่วนเด็กแรกเกิดเมื่อคลอดที่โรงพยาบาลก็จะมีการแจ้งเกิดและได้รับสิทธิบัตรทองเช่นกัน" นพ.วชิระกล่าว

แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุขกล่าวว่า ขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า หลังจากสำนักงานการตรวจเงินแผนดิน (สตง.) เคยท้วงติงไม่ให้ นพ.สสจ.ทำหน้าที่ซ้ำซ้อน ซึ่ง สปสช.มีการเตรียมพร้อมโดยแนวทางหนึ่งคือ การจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานมาตรฐานและการจัดการสารสนเทศระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ.... ซึ่งสืบเนื่องมาจากนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาทุกโรงพยาบาลโดยไม่ถามสิทธิ ซึ่งปัจจุบัน สปสช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการทำธุรกรรมการเบิกจ่ายและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุข หรือเคลียริ่งเฮาส์ โดยสำรองจ่ายก่อนและเรียกเก็บเงินจาก 2 กองทุน คือ ประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ หากร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ นอกจากจะทำเรื่องเคลียริ่งเฮ้าส์แล้ว ยังทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพภาครัฐอีกด้วย โดยกฎหมายยังเปิดช่องให้มีความเป็นอิสระจาก สปสช. และสามารถตั้งสำนักงานสาขาในแต่ละจังหวัดได้ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาแทนที่ สปสช.สาขาจังหวัด ทั้งนี้ คาดว่าในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จะมีการนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อการประชุมประชาพิจารณ์บัตรทอง ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯด้วย

ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558