ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เอฟทีเอ ว็อทช์ แฉ รองนายกฯยงยุทธ ขวาง ร่าง พ.ร.บ.ยา เข้าครม. สนองบริษัทยาข้ามชาติ ที่ขัดขวาง ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ที่ให้เปิดเผยโครงสร้างราคายา ข้อมูลสิทธิบัตรในการขอขึ้นทะเบียนตำรับยา และไม่ให้ตัวแทนบริษัทยาเป็นกรรมการในคกก.ยา เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งหมดเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาของประชาชน และควบคุมราคายาไม่ให้แพงเกินจำเป็น ถามหาหลักธรรมาภิบาลรองนายกฯ ยุงยุทธ ข้องใจเป็นเพราะมีน้องสะใภ้เคยทำงานบริษัทยาข้ามชาติหรือไม่

ตามที่ก่อนหน้านี้ ภาคประชาสังคมได้ออกมาเปิดโปงการเดินเกมของล็อบบี้ยิสต์อุตสาหกรรมยาข้ามชาติที่ขัดขวางร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับที่กระทรวงสาธารณสุขได้หารือกับสภาวิชาชีพต่างๆ เพื่อร่วมกันแก้ไขข้อบกพร่องจากที่สำนักงานกฤษฎีกาได้ร่างมานั้น โดยขัดขวางไม่ให้เข้าสู่การพิจารณาของ คณะรัฐมนตรีในวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยอุตสาหกรรมยาข้ามชาติมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญคือ ตัดข้อกำหนดการยื่นเอกสารโครงสร้างราคายาและข้อมูลสิทธิบัตรในการขอขึ้นทะเบียนตำรับยา และยอมให้ตัวแทนบริษัทยาเป็นกรรมการในคณะกรรมการยา ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เปิดเผยเอกสารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขที่ 0507 3177 ลงวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญคือ นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯได้สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขนำร่าง พ.ร.บ.ยา กลับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี

“ประเด็นอยู่ที่สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ยาในส่วนการยื่นโครงสร้างราคายาและข้อมูลสิทธิบัตรในการขอขึ้นทะเบียนตำรับยา ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการควบคุมราคายามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาของประชาชน และประเด็นการไม่อนุญาตให้ตัวแทนบริษัทยาเป็นกรรมการในคณะกรรมการยานั้น ก็เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนโดยตรง ซึ่งรองนายกฯ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ คงต้องชี้แจงต่อสาธารณะว่า ตนเองมีผลประโยชน์ทับซ้อนต่อการขวางร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้เข้าสู่ ครม.หรือไม่อย่างไร เพราะน้องสะใภ้ของท่านเคยทำงานเป็นผู้บริหารระดับสูงของสมาคมบริษัทยาข้ามชาติในประเทศไทยที่วิ่งล็อบบี้เรื่องนี้อย่างเข้มข้น ทั้งนี้เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ได้ห้ามเฉพาะนักการเมือง แต่เป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับบรรดาผู้มีอำนาจจากการแต่งตั้งรัฐประหารด้วยเช่นกัน”

ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า สาระการท้วงติงของกระทรวงพาณิชย์เป็นการคัดลอกสาระจากหนังสือของบริษัทยาสหรัฐฯ ที่ได้ทำหนังสือถึง นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯ, ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข,พล.อ.ฉัตรชัย สาริกาลิยะ รมว.พาณิชย์, พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รมต.การต่างประเทศ และนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง อ้างว่า ร่าง พ.ร.บ.ยาที่กำลังแก้ไขอยู่ในขณะนี้มีข้อกำหนดให้รายงานโครงสร้างราคายา ถือเป็นการกีดขวางการวิจัยและพัฒนายาในอนาคต โดยที่กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่ท้วงติงนั้น ไม่เคยรับฟังข้อมูลจากนักวิชาการด้านสาธารณสุขหรือภาคประชาสังคมเลย แต่นำข้อเสนอของบริษัทยาข้ามชาติมาผลักดันต่อ

“ถือเป็นความขัดแย้งในตัวเองอย่างยิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ และคณะรัฐมนตรีเป็นเดือดเป็นร้อนกับข้อวิจารณ์ของผู้ช่วยรัฐมนตรีสหรัฐเรื่องการเมืองและการคงอยู่ของกฎอัยการศึก แต่เมื่อถึงการแทรกแซงกฎหมายไทยและการกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศไทยที่ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน รัฐบาลกลับเดินตามความต้องการของทุนสหรัฐฯแบบต้อยๆ อย่างที่ไม่กล้าแม้แต่จะโต้แย้งด้วยข้อมูลตามหลักวิชาการ”

ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ เรียกร้องให้การพิจารณาของหน่วยงานก่อนการเข้า ครม.นั้นจะต้องมีส่วนร่วมของนักวิชาการและภาคประชาสังคม และขอให้ คสช.และรัฐบาลรักษาหลักธรรมาภิบาลและความไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนตามที่อ้างเสมอ

“สาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ยาที่ บรรษัทยาข้ามชาติเดินหน้าขัดขวางในนามกระทรวงพาณิชย์นั้น ต้องการตัดการแสดงโครงสร้างราคายาและข้อมูลสิทธิบัตรในการขอขึ้นทะเบียนตำรับยานั้น เป็นไปเพื่อแสดงความโปร่งใสและส่งเสริมการเข้าถึงยาที่จำเป็น ทำให้มาตรการควบคุมราคายาเป็นจริงได้ เพื่อประโยชน์และสร้างความเป็นธรรมทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค เหมือนที่กระทรวงพาณิชย์ให้เอกชนแจ้งต้นทุนสินค้าที่มีการควบคุมราคา ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ผงซักฟอก สบู่ เพื่อให้การตั้งราคาขายได้อย่างเหมาะสมเป็นธรรม แต่การที่กระทรวงพาณิชย์สนับสนุนให้ปกปิดโครงสร้างราคายานี้ คำถามคือ เพื่อประโยชน์ใคร ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไม่มีปัญญาในการควบคุมราคายาได้เลย ทั้งที่มีกฎหมายอยู่ในมือ

เรื่องนี้เป็นตามหลักการสากล ซึ่งสอดรับกับนโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ.2554 และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ.2555- 2559 ในยุทธศาสตร์ที่ 1 ว่าด้วยการเข้าถึงยา ซึ่งมีที่มาจากมติของสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 1 ซึ่งมีผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ให้ความเห็นชอบร่วมกัน หากตัดสาระนี้ออกไปบริษัทยาจะสามารถปกปิดโครงสร้างราคาต่อไปและตั้งราคายาตามใจชอบ โดยที่ไม่สนใจว่าจะกระทบต่อชีวิตประชาชนเช่นไร อีกทั้งการต้องการให้ตัวแทนบริษัทยาเป็นกรรมการในคณะกรรมการยานั้นเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และขัดกับหลักธรรมาภิบาลที่ คสช.อ้างมาโดยตลอดว่า รัฐประหารเข้ามาเพื่อต้องการทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น" น.ส.กรรณิการ์ กล่าว

ทางด้าน ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดงานแผนการพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า การปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ยาเป็นเรื่องสำคัญในการคุ้มครองสุขภาพคนไทย ทางแผนการพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยาสนับสนุนร่างของกระทรวงสาธารณสุข แม้ว่าจะเห็นว่า บางประเด็นจะสามารถแก้ไขให้เข้มข้นด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการจัดการกับการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมได้อีกตามร่างกฎหมายฉบับประชาชน ซึ่งทาง กพย.พร้อมที่จะเสนอในการพิจารณาในขั้น สนช. จึงขอให้รัฐบาลอย่างถ่วงรั้งการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชน ขอให้รวดเร็วเช่นที่ออกกฎหมายผลักดันเศรษฐกิจ