ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : นพ.วชิระ ยัน ไม่ใช่หนังสือยกเลิกขึ้นทะเบียนบัตรทอง แต่ต้องการบอกว่า หน้าที่นี้เป็นของสปสช.ตามกม.หลักประกันสุขภาพ หลังบอร์ดสปสช.ยกเลิก สสจ.ไม่ให้เป็นสาขาจังหวัด หากสปสช.มีข้อจำกัดจะขอความร่วมมือกับสธ.เพื่อให้ให้รพ.สธ.ทำหน้าที่ขึ้นะเบียนต่อก็ไม่ขัดข้อง ไม่ได้เอาประชาชนเป็นตัวประกัน และไม่ได้เรียกร้องค่าตอบแทนเพิ่ม ด้าน ผอ.รพ.อุ้มผาง แจงขึ้นทะเบียนที่รพ ประชาชนสะดวกที่สุด รพ.มีระบบรองรับ ดีกว่าไปที่อื่น จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน รพ.ทำมานาน ไม่ได้ถือเป็นภาระหนักหนา วอน สธ.-สปสช. เลิกทะเลาะกัน

นสพ.มติชน : ตามที่เครือข่ายประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพและชมรมแพทย์ชนบท ยื่นข้อเรียกร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ขอให้ดำเนินการเรื่องการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อาจส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลในสังกัด สธ.และประชาชน เนื่องจากข้อเสนอของปลัด สธ.ไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจน ขณะเดียวกันยังขอให้สั่งการปลัด สธ.ยกเลิกคำสั่งที่ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. ให้หน่วยบริการยุติการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทองและย้ายสิทธิตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2558

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า หนังสือที่ออกมานั้นไม่ได้บอกว่าจะยกเลิกการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทอง แต่ระบุว่าจะขอมอบอำนาจหน้าที่ให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เนื่องจากเป็นหน้าที่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และยังเป็นไปตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ขึ้นตรงกับกระทรวงสาธารณสุข ยกเลิกการเป็นนายทะเบียน สปสช.สาขาจังหวัดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 โดยหนังสือที่ออกไปนั้นแค่ต้องการย้ำว่า หน้าที่จริงๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ สปสช. ไม่ใช่หน่วยบริการหรือ สป.สธ.ต้องมาดำเนินการแทนตลอดไป และไม่ได้หมายความว่า รพ.จะไม่รับหน้าที่นี้ เพียงแต่ว่าอยากให้ สปสช.ทราบถึงหน้าที่ และหากมีข้อจำกัดในการดำเนินการ จะขอความร่วมมือมากับทาง สธ.เพื่อให้โรงพยาบาลต่างๆ ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนบัตรทองต่อไป ทาง สธ.ก็ไม่ขัดข้อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าเรื่องนี้แค่ต้องการให้ทราบหน้าที่ให้ชัด ไม่ได้มีเงื่อนไขว่าต้องมีค่าตอบแทนในการดำเนินการ นพ.วชิระกล่าวว่า สธ.ไม่มีเงื่อนไขว่าต้องการมอบหน้าที่ให้ สปสช.เพราะภาระงานหนัก หรือเพราะต้องการค่าตอบแทนใดๆ รวมไปถึงต้องการเอาประชาชนเป็นตัวประกัน เพราะข้อเท็จจริงไม่ใช่เช่นนั้น หากต้องการเอาประชาชนเป็นตัวประกัน คงไม่มีการแจ้งหรือออกหนังสือเช่นนี้ และคงยกเลิกไปตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 แต่จนบัดนี้ รพ.ต่างๆ ก็ยังทำหน้าที่ต่อไป เรื่องนี้ไม่ได้มีอะไร เป็นเรื่องของการบริหารภายในระหว่าง สป.สธ. หน่วยบริการ และ สปสช. แต่กลับถูกนำไปตีเป็นประเด็นว่าจะยกเลิกการดำเนินการ จะเอาผู้ป่วยเป็นตัวประกัน

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ตนและปลัด สธ.หารือถึงเรื่องนี้ว่าจะมีทางออกอย่างไร ล่าสุดได้ตั้งทีมหารือเรื่องนี้ โดยทางฝั่ง สป.สธ.เสนอ นพ.บัญชา ค้าของ ผอ.กลุ่มงานประกันสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่ฝั่ง สปสช.เป็น นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ประธานกลุ่มภารกิจสนันบสนุนสาขาเขตและการมีส่วนร่วม สปสช. เพื่อหารือว่าจะใช้กลไกอะไรเพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน เบื้องต้นจากการพิจารณา พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 อาจใช้ช่องทางทางกฎหมาย โดยมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯระบุว่า บุคคลใดประสงค์จะใช้สิทธิให้ยื่นคำขอลงทะเบียนต่อสำนักงาน หรือหน่วยงานที่สำนักงานกำหนด เพื่อเลือกหน่วยบริการเป็นหน่วยบริการประจำ กล่าวคือ สปสช.สามารถใช้ช่องทางของกฎหมายดังกล่าวในการให้ รพ.ในสังกัด สป.สธ.ทำหน้าที่รับลงทะเบียนสิทธิบัตรทองได้

ด้าน นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก และหนึ่งในแพทย์ที่ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า เรื่องการขึ้นทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) นั้น โรงพยาบาลมีระบบในการดำเนินการอยู่แล้วเป็น 10 ปี ถือเป็นหน่วยบริการที่สะดวกที่สุดสำหรับประชาชน โดยเฉพาะเด็กแรกเกิด เมื่อคลอดออกมา ทาง รพ.ก็จะออกใบรับรองการเกิดและทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนบัตรทองให้ทันที เนื่องจาก รพ.แต่ละแห่งจะมีระบบรองรับอยู่แล้ว ดังนั้น มองว่าไม่ควรยกเลิกหน้าที่นี้ แม้หลายคนอาจมองว่าเป็นภาระงาน แต่ก็ไม่ได้หนักหนาเพราะทำมานาน แต่ที่จะได้รับผลกระทบคือประชาชน เนื่องจากต้องเดินทางหาการขึ้นทะเบียนให้ลูกที่เกิดใหม่ และหากไปตั้งจุดขึ้นทะเบียนที่ว่าการอำเภอก็จะไม่สะดวก ดังนั้น รพ.คือจุดบริการ ที่ดีที่สุด

เมื่อถามว่าจำเป็นต้องมีค่าตอบแทนให้ รพ.หรือไม่ นพ.วรวิทย์กล่าวว่า จริงๆ ก็ทำกันมานาน ไม่ได้คิดเป็นภาระ แต่หากมีก็ถือเป็นเรื่องดี ยิ่ง รพ.ที่ประสบปัญหาขาดทุนก็ยิ่งดี โดย สปสช.อาจจัดสรรงบประมาณบางส่วนมาสนับสนุน

ส่วนกรณีดังกล่าวว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากปัญหาการเมือง ข้อขัดแย้งระหว่าง สป.สธ.และ สปสช.หรือไม่ นพ.วรวิทย์กล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่ได้ติดตามด้วยซ้ำว่าพวกเขาทะเลาะกันไปถึงไหน หรือคืนดีกันหรือยัง แต่ที่ทราบคือปัญหาเก่ายังไม่ยุติ ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้น อย่างปัญหา รพ.ขาดทุน ก็ยังแก้ไขไม่ได้สักที ล่าสุดมาประเด็นยกเลิกการขึ้นทะเบียนบัตรทองอีก ทางที่ดีทำไมไม่จับมือกันและมาคุยกันดีกว่า ว่าจะหางบประมาณเพิ่มในการพัฒนาระบบสุขภาพอย่างไร เพราะทุกวันนี้ต้องยอมรับว่างบประมาณด้านสาธารณสุขน้อยมาก

ที่มา : นสพ.มติชน จากข่าว แพทย์ดีเด่นวอนยุติศึกสธ.ใช้ 'ม.6' รพ.ทำบัตรทองต่อ นสพ.มติชน วันที่ 5 ก.พ. 2558 (กรอบบ่าย)