ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : เลขาธิการสปสช.เตรียมขอมติบอร์ด ให้ กม.จี้โรงพยาบาลต้องขึ้นทะเบียน 'บัตรทอง' อ้างเป็นจุดบริการที่ดีที่สุดใกล้กับประชาชน เผยยังมีกลุ่มใช้สวัสดิการข้าราชการจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนที่ โรงพยาบาลด้วย

ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมใช้มาตรา 6 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อให้หน่วยบริการหรือโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ทำหน้าที่รับขึ้นทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง หลังจากที่ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ.ทำหนังสือส่งมอบหน้าที่ดังกล่าวคืนให้ สปสช.จนเกิดกระแสต่อต้านเพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนนั้น

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากการหารือกับคณะทำงานในการหากลไกมารองรับในกรณีที่ สป.สธ.ให้โรงพยาบาลไม่รับขึ้นทะเบียนบัตรทองจริงนั้น เบื้องต้นมองว่าโรงพยาบาลคือจุดบริการที่ดีที่สุดเพราะใกล้กับประชาชน โดยเฉพาะแรกคลอด ต้องยอมรับว่าเด็กที่คลอดใหม่นั้น ไม่ใช่ว่าพ่อแม่จะเป็นสิทธิบัตรทองหมด ยังมีกลุ่มที่เป็นสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกที่เกิดมาก็ต้องได้รับสิทธิข้าราชการด้วย จึงจำเป็นต้องมีการขึ้นทะเบียน โรงพยาบาลนอกจากจะเป็นจุดออกใบรับรองการเกิดแล้ว ยังต้องทำการขึ้นทะเบียนเพื่อรับรองว่าเป็นสิทธิบัตรทองหรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

"ในเมื่อโรงพยาบาลคือจุดที่เหมาะสมและสะดวกกับประชาชนมากที่สุด ขณะนี้ผมกำลังหารือกับฝ่ายกฎหมายว่า หากใช้มาตรา 6 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ที่ระบุว่าบุคคลใดประสงค์จะใช้สิทธิให้ยื่นคำขอลงทะเบียนต่อสำนักงาน หรือหน่วยงานที่สำนักงานกำหนด นั่นหมายถึงโรงพยาบาลที่ สปสช.ขอให้เป็นหน่วยขึ้นทะเบียนบัตรทองให้ โดยเรื่องนี้ผมจะนำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อหารือและขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเสนอบอร์ด ผมได้มอบหมายให้คณะทำงานมีทั้งฝ่าย สปสช.และ สป.สธ. หารือร่วมกันก่อนว่า สธ.เห็นด้วยหรือไม่ เพราะไม่อยากให้เกิดประเด็นโต้แย้งขึ้นอีก" นพ.วินัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าในการประชุมบอร์ด สปสช. จะได้ข้อสรุปในเรื่องหน่วยขึ้นทะเบียนบัตรทอง นพ.วินัยกล่าวว่า หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น รวมทั้งจะมีการพิจารณาในเรื่องข้อเสนอการจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ สป.สธ.เสนอด้วย แต่ทั้งหมดก็อยู่ที่กรรมการในบอร์ดว่าจะมีมติอย่างไร เนื่องจากบอร์ดมีกรรมการจากทุกภาคส่วน คงบอกข้อสรุปก่อนไม่ได้

เมื่อถามกรณีรองปลัด สธ.ระบุว่า หาก สปสช.ทำไม่ได้ให้แจ้งมา ยินดีเป็นหน่วยขึ้นทะเบียนตามเดิม นพ.วินัยกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ทำได้หรือไม่ แต่โรงพยาบาลคือจุดบริการที่สะดวกรวดเร็วสำหรับประชาชน สิ่งสำคัญต้องอยู่ที่ว่าประชาชนได้รับประโยชน์หรือไม่ หาก สปสช.จะไปจัดหน่วยบริการที่อื่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ก็อาจขอเป็นความร่วมมือ แต่ก็ไม่สะดวกต่อประชาชนอยู่ดี หากใช้บริการอย่างร้านค้าสะดวกซื้อหรือร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ต้องมีค่าบริการ ค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ร้านค้าสะดวกซื้อก็ไม่ได้มีทั่วทุกตำบล

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า ได้มอบตัวแทนคือ นพ.บัญชา ค้าของ ผู้อำนวยการกลุ่มงานประกัน สป.สธ. หารือร่วมกับ สปสช.แล้ว เมื่อถามว่า สปสช.เตรียมใช้ช่องทางกฎหมายให้โรงพยาบาลทำหน้าที่ต่อไป นพ.ณรงค์กล่าวว่า ไม่ทราบ อยู่ที่คณะทำงานไปหารือกัน

นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์ ในฐานะประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า การจะใช้มาตรา 6 มาให้โรงพยาบาลขึ้นทะเบียนให้แทนหน้าที่ของ สปสช.นั้น ไม่ทราบว่ากฎหมายระบุชัดหรือไม่ แต่จริงๆ เรื่องนี้ไม่ยาก เพราะเดิมโรงพยาบาลทำให้อยู่แล้ว หาก สปสช.ยอมรับว่าตัวเองทำไม่ได้ และขอให้โรงพยาบาลช่วยขึ้นทะเบียนให้ ก็ยินดี

นพ.สมคิด สุริยเลิศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ด้วยหน้าที่ที่ชัดเจนเป็นของ สปสช. หาก สปสช.จะดำเนินการเองก็จะดีในแง่ถูกต้องตามหลักหน้าที่ และอาจจะชำนาญกว่าบุคลากรโรงพยาบาลด้วยซ้ำ ช่องทางที่อยากเสนอคือ สปสช.ส่งเจ้าหน้าที่มาประจำโรงพยาบาลเพื่อช่วยเรื่องนี้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่น่าจะดีเช่นกัน

แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุขกล่าวถึงข้อเสนอการจัดสรรเงินแบบใหม่ที่จะเสนอให้กับบอร์ด สปสช. วันที่ 9 กุมภาพันธ์ว่า สำหรับเกณฑ์การจัดสรรเงินให้กับสถานพยาบาลในสังกัด สธ.ปีงบประมาณ 2558 เบื้องต้นในการประชุมของคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังที่มีนายคณิศ แสงสุพรรณ เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาผลการประเมินของเขตสุขภาพที่ 2 และเขตสุขภาพที่ 10 ในการทำตามข้อเสนอการปรับการจัดสรรงบเหมาจ่ายแบบใหม่ พบว่าสามารถทำได้จริง โดยมีการพิจารณาในเรื่องการหักสัดส่วนเงินเดือนของบุคลากร สธ.ออกมาจากงบเหมาจ่ายรายหัว เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาว่าหักเงินเดือนออกมาแล้วกระจายไม่ทั่วถึง เพราะบางโรงพยาบาลก็ได้รับงบนี้น้อย จากงบเหมาจ่ายที่น้อยในหลายพื้นที่

"จากการหารือจะมีการเสนอเรื่องการกันเงินเดือน ดังนี้ 1.จะมีการกันเงินเดือนบุคลากรออกมาในระดับประเทศที่อัตราร้อยละ 1 หรือประมาณ 600 ล้านบาท โดย สป.สธ.จะมีคณะกรรมการพิจารณาการจัดสรรให้แต่ละโรงพยาบาลในกรณีประสบปัญหาทางการเงิน หรือกรณีอื่นๆ และ 2.จะมีการกันเงินออกมาในระดับเขตสุขภาพอัตราไม่เกินร้อยละ 5 เพื่อให้พื้นที่พิจารณาว่าแต่ละเขตควรได้อัตราส่วนเท่าไร บางเขตอาจจะกันแค่ร้อยละ 1 หรือบางเขตอาจจะต้องการกันเงินเต็มเพดานร้อยละ 5 ขึ้นอยู่กับความจำเป็น โดยทั้งหมดจะเสนอต่อบอร์ด สปสช.วันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้" แหล่งข่าวกล่าว

วันเดียวกัน นพ.สุริยา รัตนปริญญา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ขอนแก่น กล่าวถึงกรณี นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท ยืนยันว่าจะไม่ทำหนังสือชี้แจงกรณียื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่าน พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ออกจากตำแหน่งปลัด สธ.ว่า หากไม่ทำหนังสือชี้แจงจริง คงต้องทำหนังสือส่งไปถึง นพ.เกรียงศักดิ์อีกรอบให้ชี้แจงว่าเหตุใดจึงไม่ทำหนังสือชี้แจงต่อผู้บังคับบัญชา อย่างไรก็ตาม หาก นพ.เกรียงศักดิ์ไม่ชี้แจงคงไปบังคับอะไรไม่ได้ และไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แต่ที่ให้ นพ.เกรียงศักดิ์ชี้แจงก็เพราะหากผู้บริหาร สธ.ถามถึงกรณีดังกล่าวจะได้มีข้อมูลตอบ

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558