ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาพันธ์เครือข่ายเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่พบ นพ.รัชตะ หนุนสธ.ขับเคลื่อน ร่าง พ.ร.บ.คุมยาสูบ นำเข้าสู่การพิจารณาของครม.และสนช.โดยเร็ว เพื่อลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ และสร้างสุขภาพดีให้ประชาชน ด้าน นพ.รัชตะ เผย ตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของกฤษฎีกา และสนช. ส่วนกลุ่มที่ยังไม่เห็นด้วย ก็สามารถเข้าร่วมในขั้นตอนของกฤษฎีกา ที่คาดว่าจะใช้เวลา 4-6 เดือน และขั้นตอนของกรรมาธิการได้

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี  ศ.นพ.รัชตะ  รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมหารือกับ ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และคณะว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้เป็นผู้แทนในการหารือร่วมกับสมาพันธ์ฯ ซึ่งทางสมาพันธ์ฯ ได้สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ และสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อร่วมกันหยุดยั้งการสูบบุหรี่ของเยาวชนไทยและสตรีให้ลดลง ซึ่งในระยะยาวจะทำให้สุขภาพอนามัยดีขึ้น 

ศ.นพ.รัชตะกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาหลายคนอาจมองว่าร่างพระราชบัญญัติฯ อาจทำให้บางกลุ่ม เช่นเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบเดือดร้อน ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้ทำการชี้แจงข้อมูลทำความเข้าใจไปแล้วว่า ไม่เป็นความจริง และไม่มีความเหลื่อมล้ำหรือเกินเลยกับกฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดไว้ และเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ได้เชิญ กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ รวมทั้งโรงงานยาสูบแห่งประเทศไทย มาพูดคุยทำความเข้าใจแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเสนอครม. ซึ่งรอหนังสือตอบกลับความเห็นอีกเพียง 2 หน่วยงาน คือกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงการคลัง คาดว่าจะได้ภายในสัปดาห์นี้ และคาดว่าจะเสนอครม. ในสัปดาห์หน้า เพื่ออนุมัติผ่านร่างฯ นำเสนอสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ 

ศ.นพ.รัชตะกล่าวต่อไปว่า การผลักดันการอออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขมิอาจดำเนินการตามลำพังให้สำเร็จได้  ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เนื่องจากมีปัจจัยด้านสังคมอื่นๆ มาประกอบ การดำเนินการรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ที่ผ่านมาจากหลายฝ่าย หลายภาคส่วน นับว่าได้ผล สิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่มากขึ้น แม้ว่ายังไม่เป็นที่พอใจ แต่หากไม่ทำ จำนวนผู้สูบบุหรี่จะมากกว่านี้ อย่างไรก็ตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อาจใช้เวลาต่อไปอีก เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอนของกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งกลุ่มที่ยังไม่เห็นด้วย ก็สามารถเข้าร่วมชี้แจงในอีก 2 ขั้นตอน คือขั้นตอนของกฤษฎีกา ที่คาดว่าจะใช้เวลา 4-6 เดือน และขั้นตอนของกรรมาธิการ