ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.เจตน์ ตั้งกระทู้ถาม รมว.สธ. ปัญหาความขัดแย้ง สธ.-สปสช. จี้ตอบ 2 คำถาม 1.เป็นความขัดแย้งส่วนบุคคลหรือโครงสร้าง จะแก้อย่างไร 2.การหางบให้เพียงพอบริการประชาชน ยันบัตรทองเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาวันนี้อยู่ที่งบประมาณไม่พอ 4 ปีงบรายหัวเพิ่มขึ้นแค่ 140 บ. แต่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น กระทบคุณภาพรักษาประชาชน ด้าน นพ.รัชตะ ตอบอยู่ระหว่างแก้ไข

เมื่อวันที่ 5 ก.พ.58 ที่อาคารรัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ครั้งที่ 9/2558 โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานในที่ประชุม โดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. ได้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สปสช. ถาม นพ.รัชตะ รัชตนาวิน รมว.สธ. โดย นพ.เจตน์ ได้ตั้งคำถามว่าปัญหาความขัดแย้งของ 2 หน่วยงานมีมานานแล้ว โดยที่ฝ่ายสธ. มีปลัดสธ. นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด มีผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนจำนวนหนึ่งหนุนหลัง ฝ่ายสปสช.นำโดยเลขาธิการสปสช. มีแพทย์ชนบท ภาคประชาชนด้านสาธารณสุขหนุนหลัง ปัญหามีมาตั้งเริ่มมีกฎหมาย สปสช.ตั้งแต่ปี 2545 เพราะสปสช.เป็นผู้คุมเงิน กระทรวงสาธารณสุขนั้นเป็นคนคุมของ และการบริหารจัดการ มันเลยมีความขัดแย้งเกิดขึ้น สะสมมา จนมาปี 2554 มีเรื่องให้สตง. ตรวจสอบบัญชีของสปสช. พบว่าการใช้เงินของสปสช.มีการฝ่าฝืนมติครม.หลายข้อ จึงทำให้ฝ่ายสาธารณสุขยกขึ้นมาเป็นประเด็น ขณะที่สปสช.ก็อ้างว่าการบริหารจัดการของสปสช. มีกฎหมายเฉพาะเป็นลักษณะกองทุน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการเปิดเผยข้อมูลการบริหารจัดการของสปสช.ต่อโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน ทำให้ไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตรงนี้ รวมทั้งยังมีปัญหาในเรื่องงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาส่วนบุคคล หรือเป็นปัญหาโครงสร้าง จะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร และแนวทางในการบริหารงบประมาณให้เพียงพอในการบริหารและการบริการประชาชนของกระทรวงสาธารณสุขจะทำอย่างไร

ทางด้าน นพ.รัชตะ ตอบกระทู้ของ นพ.เจตน์ว่า ตนเห็นว่า ควรภูมิใจที่ประเทศไทยได้จัดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนเป็นการลดความเลื่อมล้ำ แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศระดับกลางๆ ซึ่งปัญหางบประมาณที่ไม่พอเพียงขอสปสช. จำเป็นต้องได้รับการดำเนินการแก้ไข การเสนองบประมาณขาขึ้นแต่ละปีของสปสช. เป็นการทำงานที่เป็นระบบมีทีมงานที่เป็นองค์ประกอบจากหลายภาคส่วน ร่วมทั้งผู้ให้บริการด้วย ส่วนงบประมาณที่จะได้รับก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งกำลังเงินของรัฐบาล ข้อมูลการใช้บริการที่เพิ่มขึ้นมากน้อยเท่าใด ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ปีนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำงบประมาณที่จะขอในปี 2559

นพ.รัชตะ กล่าวว่า เรื่องความขัดแย้งที่เป็นปัญหาเรื่องข้อมูลที่ให้ไม่ตรงกัน ได้มีการแก้ไขปัญหาด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้ข้อมูลตรงกันทุกฝ่าย โดยเชิญ นายอัมมาร สยามวาลา มาเป็นประธาน ในส่วนของการจัดงบที่มีปัญหา ซึ่งจะเห็นว่างบประมาณในปี 2558 ไม่ได้เพิ่มจากปี 2557 ซึ่งสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย เงินเฟ้อ ภาระความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น โดยพยายามจะเสนอให้มีการปรับเพิ่มขึ้นในปี 2559 ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการเพื่อให้มีประสิทธิภาพนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ส่วนกรณีที่มีการเคลื่อนไหวของชมรมโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ต่างๆ จะไม่ส่งข้อมูลให้กับสปสช.เพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายนั้น วันนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข สปสช.และคณะอนุกรรมาธิการการเงินการคลัง จะหารือแก้ปัญหาเรื่องนี้อีกครั้ง

นพ.เจตน์ ได้กล่าวว่า เห็นว่าเรื่องบประมาณเป็นเรื่องสำคัญในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และปัญหาขัดแย้งดังกล่าวนี้มาจากเรื่องเงินเป็นเหตุสำคัญ การปลดปลัดสธ. ปลดเลขาธิการสปสช. ก็ไม่ได้แก้ปัญหานี้ เพราะไม่ใช่สาเหตุของปัญหา ที่ผ่านมา ในรอบ 4 ปี สปสช.ได้ค่าเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นครั้งเดียว 140 บ. ทั้งๆ ที่มีการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างเพิ่มขึ้น แต่งบประมาณที่ได้รับสำหรับการรักษาพยาบาลกลับไม่ได้เพิ่มขึ้น งบปี 56 เท่ากับปี 55 แต่สปสช.ก็ยังบอกว่ามีเท่าไหร่ก็บริหารได้ มีมากก็บริหารมาก มีน้อยก็บริหารน้อย ซึ่งไม่น่าจะใช้หลักการที่ถูกต้อง เพราะต้นทุนการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ทั้งค่าจ้างชั่วคราว ค่าตอบแทนบุคลากรของ รพ.เพิ่มขึ้น แต่เมื่อไปดูพบว่า ค่ายาและเวชภัณฑ์กลับลดลง นั่นหมายถึงว่า คุณภาพการรักษาลดลง ต้นทุนค่ายาลดลง ทั้งที่คนไข้มากขึ้น ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน แต่ค่ายาและเวชภัฑณ์กลับลดลง แสดงว่าคุณภาพลดลง เพราะงบไม่พอ

นพ.เจตน์ กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าปัญหาความขัดแย้งนี้ ไม่ได้อยู่ที่คน แต่อยู่ที่งบในระบบไม่พอ เหมือนผ้าห่มผืนเดียวแย่งไปมา หรืออุปมาเหมือน ไก่จิกกันในเข่ง ดังนั้นต้องหางบมาให้พอ แต่หากถ้ายังคงขัดแย้งและสู้กันอยู่อย่างนี้ ไม่มีทางจะได้เงินจากสำนักงบประมาณแน่ เพราะสำนักงบประมาณมีหลักการว่า ให้น้อยไว้ก่อนถ้าไม่พอใช้ให้ขอเพิ่มจากงบกลาง และเสนอว่า ประเทศไทยต้องมี คณะกรรมการกลางมาคุมในระบบสุขภาพ ในรูปแบบของ national health authority

“ท้ายสุดนี้ ผมขอฝากว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยนั้นเป็นระบบที่ดี หลายประเทศเอาเป็นต้นแบบ เราใช้เงินน้อย แต่มันน้อยเกินไป ทั้งประหยัด รัดเข็มขัด แต่งบประมาณก็ไม่พอ ส่งผลกระทบคุณภาพการรักษา และบริหารจัดการที่เกิดความขัดแย้งขึ้น ทุกคนมีจิตใจที่ดีอยากให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี แต่วิธีการต่างกัน วันนี้ผมเป็นห่วงว่าความขัดแย้งจะบานปลาย สะสม และแตกแยกรุนแรงมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญคือ งบประมาณในระบบต้องเพียงพอ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาคุยกัน” นพ.เจตน์ กล่าว