ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. เร่งพัฒนาศูนย์รักษาโรคมะเร็งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังพบผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ ปีละ 5,000-6,000 ราย มากสุดโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี ที่พบผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 2,000 รายซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะเขตสุขภาพที่ 7 นับเป็นเมืองหลวงของโรคนี้ เพิ่มศูนย์รักษาที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดและโรงพยาบาลพนมไพร เนื่องจากประชาชนมีพฤติกรรมเสี่ยงในเรื่องการกินปลาน้ำจืดแบบสุกๆ ดิบๆ

วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2558) ที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานบริหารจัดการเขตสุขภาพที่ 7 ประกอบด้วย 4 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และมหาสารคาม ดูแลประชาชนกว่า 5 ล้านคน มีผู้ป่วยรับบริการแบบผู้ป่วยนอกทั้งเขต ปีละ 8.5 ล้านกว่าครั้ง เฉลี่ยวันละเกือบ 6,000 คน ผู้ป่วยในปีละ 5.4 แสนครั้งเฉลี่ย วันละเกือบ 5,000 ราย อัตราการครองเตียงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

ศ.นพ.รัชตะกล่าวว่า การมาตรวจเยี่ยมครั้งนี้ เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และติดตามความก้าวหน้า ความสำเร็จการพัฒนา รวมทั้งรับฟังปัญหาอุปสรรคต่างๆ จากการปฏิบัติงาน ต้องชื่นชมการทำงานในเขตสุขภาพที่ 7 ได้ดำเนินงานตามแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพที่สำคัญ 10 สาขา ได้แก่ อุบัติเหตุ โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ทารกแรกเกิด มะเร็ง 5 สาขาหลัก (สูตินรีเวช ศัลยกรรม อายุรกรรม เด็ก ออร์โธปิดิกส์) ตาและไต ปฐมภูมิฯ โรคเรื้อรัง จิตเวช และทันตกรรม มีการพัฒนาสุขภาพตามกลุ่มวัย และมีเครือข่ายสุขภาพที่เข้มแข็ง ทำงานเชื่อมโยงระบบบริการปฐมภูมิกับชุมชนอย่างมีคุณภาพ ช่วยลดอัตราป่วยและอัตราการเสียชีวิต จากโรคที่อัตราการเสียชีวิตสูงในเขตสุขภาพนี้ เช่นโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคมะเร็ง ลงได้ต่ำกว่าค่ามาตรฐานของประเทศ

ประเด็นความสำเร็จของเขตสุขภาพที่ 7 พบว่า มีการพัฒนาระบบรับ–ส่งต่อผู้ป่วย และการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่มีอัตราการตายสูงในพื้นที่ ได้แก่ อุบัติเหตุฉุกเฉิน โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน บาดเจ็บที่ศีรษะ ทารกแรกเกิด หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะแทรกซ้อน และโรคมะเร็ง (Motorway Fast Track) ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เป็นเครือข่ายที่ไร้รอยต่อ มีตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ จนถึงระดับตติยภูมิ มีศูนย์รับส่งต่อ มีบุคลากรรับผิดชอบโดยตรง เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการรับ-ส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ ใกล้บ้านเกิด มีความปลอดภัย ลดอัตราการเสียชีวิต และความพิการอย่างเท่าเทียมกัน

ศ.นพ.รัชตะกล่าวต่อว่า ในเรื่องโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในเขตสุขภาพที่ 7 นี้ พบผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 5,000 - 6,000 ราย มากที่สุดคือมะเร็งตับและท่อน้ำดี รองลงมาคือมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งปอด ได้จัดระบบการรักษาเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการส่งผู้ป่วยไปผ่าตัดและรังสีรักษา โดยพัฒนาศักยภาพการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น มีตึกรังสีวินิจฉัยรองรับผู้ป่วย เริ่มให้บริการเคมีบำบัดในปี 2557 ในปีนี้จะเพิ่มการรักษาด้วยเครื่องฉายแสงที่ทันสมัย งบประมาณ 67 ล้านบาท รักษามะเร็งได้ทุกชนิด ปลอดภัยสูง จะเริ่มให้บริการ 17 กุมภาพันธ์นี้ ให้บริการฉายแสงในและนอกเวลาราชการวันละ 70 ราย จะลดคิวรอฉายแสงให้สั้นลงจาก 6 เดือนเหลือ 2 เดือนครึ่ง นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มเครื่องฝังแร่มูลค่า 30 ล้านบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เริ่มให้บริการเดือนมีนาคมนี้ ฝังแร่ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกวันละ 4-5 คน

นพ.รัฐวุฒิ สุขมี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 7 กล่าวว่า โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนอันดับ 1 ของเขตนี้ โดยเฉพาะโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี ซึ่งพบผู้ป่วยรายใหม่ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือปีละ 2,000 ราย เป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลก มากสุดที่เขตสุขภาพที่ 7 นี้ ถือว่าเป็นเมืองหลวงของโรคนี้ก็ว่าได้ เนื่องจากมีพฤติกรรมเสี่ยงในเรื่องการกินปลาน้ำจืดแบบสุกๆดิบๆ ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการป้องกันและค้นหาผู้ป่วยตั้งแต่ระยะเริ่มเป็นทั้ง 4 จังหวัด

โดยผลการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง อายุ 30-40 ปีขึ้นไป ด้วยการตรวจอุจจาระ พบไข่พยาธิใบไม้ตับสูงเกินร้อยละ 20 และพบสูงมากในกลุ่มที่อาศัยใกล้แหล่งน้ำ พบถึงร้อยละ 40 ที่สำคัญกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ส่วนใหญ่เมื่อตรวจพบไข่พยาธิและได้รับยารักษาแล้ว จะกลับไปมีพฤติกรรมกินปลาสุกๆ ดิบๆ ทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำๆ จนเกิดอักเสบเรื้อรังของท่อน้ำดีและกลายเป็นมะเร็งตับและท่อทางเดินน้ำดีในที่สุด ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับและท่อทางเดินน้ำดีที่ได้ผลดีในระยะแรกคือการผ่าตัด ซึ่งเป็นการผ่าตัดใหญ่ต้องใช้บุคลากร อุปกรณ์ หอผู้ป่วยหนัก เลือด รองรับ ทำให้ผ่าได้ปีละ 330 ราย จำเป็นต้องพัฒนาศูนย์รักษามะเร็งเพิ่มขึ้นที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดและโรงพยาบาลพนมไพร ขณะเดียวกันจะประสานความร่วมมือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 4 เขตสุขภาพ เพื่อดูแลผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาที่ดีที่สุดร่วมกัน