ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ดสปสช.เคาะจัดสรรงบบัตรทอง ยืนตามประกาศจัดสรรงบกองทุนบัตรทองปี 58 แต่ให้กันเงินเดือนไว้ที่ระดับประเทศ ไม่เกิน 1% ระดับเขตไม่เกิน 2% หากเขตไหนเกิน 2% แต่ไม่เกิน 5% ให้อนุฯการเงินฯอนุมัติตามเหตุผลความจำเป็นภายใน มี.ค.58 ส่วนกรณีโรคเฉพาะ ให้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายระดับเขต โดยเริ่มที่ ผ่าตัดตาต้อกระจก และ หอบหืด/ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้ทันที โดยเริ่มใน เม.ย.58  ให้ สป.สธ. และสปสช. ติดตามและเสนอข้อมูลบริการระดับเขตต่อเนื่องเพื่อการปรับปรุงระบบ ระยะยาวเร่งรัดจัดตั้ง เคลียริ่งเฮาส์ระดับชาติ เป็นหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่เบิกจ่ายและสนับสนุนข้อมูลพื้นฐานต่อไป

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีวาระสำคัญที่ประชุมได้มีการพิจารณาคือ ประเด็นที่อาจต้องปรับแก้แนวทางการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2558

หลังการประชุม ศ.นพ.รัชตะ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพัฒนาการเงินการคลัง และคณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ที่มีมติล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาดังนี้  

1.การจัดสรรเงินกองทุนฯ ปี 2558 ยังสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องปรับแก้ประกาศกองทุนที่บอร์ดสปสช.มีมติไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น วงเงินระดับเขตของงบผู้ป่วยนอก งบผู้ป่วยใน งบสร้างเสริมสุขภาพ (PP-basic) และการจัดสรรแก่หน่วยบริการที่แยกเป็นรายการต่างๆ บนฐานประชากร โครงสร้างอายุ และผลงานบริการ

2.ในส่วนการปรับปรุงการจัดสรรงบสำหรับหน่วยบริการ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ให้ดำเนินการดังนี้

2.1 การใช้ตัวเลขเงินเดือนมาหักรายได้ของหน่วยบริการ สป.สธ. ให้ใช้ตัวเลข GFMIS บัญชีถือจ่ายเงินเดือนของกรมบัญชีกลางของหน่วยบริการทุกระดับเป็นตัวเลขอ้างอิง และมีการกันเงินไว้เพื่อปรับเกลี่ย สำหรับบริหารระดับประเทศไม่เกิน 1% และระดับเขตไม่เกิน 2% ตามประกาศเดิม สำหรับบางเขตที่อาจต้องกันเงิน 2% แต่ไม่เกิน 5% ให้คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังพิจารณาอนุมัติตามเหตุผลความจำเป็นของเขตนั้นๆ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2558

2.2 เพื่อให้ได้ตัวเลขประมาณการรายรับขั้นต่ำคงที่ของหน่วยบริการ สป.สธ.มีความชัดเจนตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ โดยไม่ให้มีการตั้งหนี้และหักจากเงินที่จะโอนให้ใหม่ อันเกิดจากผลงานต่ำกว่าประมาณการในปลายปีงบประมาณ ให้ประมาณการรายจ่ายในแต่ละหน่วยบริการให้เหมาะสม เพื่อให้จำนวนประมาณการขั้นต่ำมีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของประมาณการทั้งปี ซึ่งจะมีเงินเหลือสำรองไว้ตามจ่ายตามผลงานของหน่วยบริการ นอกจากนี้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุน รพ.สต. และศูนย์สาธารณสุขชุมชนที่มีความจำเป็นสำหรับการให้บริการในพื้นที่ประชากรเบาบางและห่างไกล

2.3 การทำงานระดับเขต ให้มีคณะกรรมการร่วม และปรับปรุงองค์ประกอบ อปสข.ของ สปสช.ให้มีตัวแทนหน่วยบริการทุกสังกัด (ไม่ใช่เฉพาะ สป.สธ.) โดยยังคงสัดส่วนขององค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม และให้นำเสนอในการประชุมบอร์ด สปสช.ครั้งต่อไป

2.4 รายการบริการกรณีเฉพาะ ให้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายได้ในระดับเขต (regional target) โดยเริ่ม 2 กรณีทันที คือ รายการผ่าตัดตาต้อกระจก (cataract) และโรคหอบหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Asthma/COPD) โดยให้เริ่มดำเนินการได้ในไตรมาส 3

2.5 เพื่อให้สามารถบริหารจัดการและพัฒนาการจัดบริการภายในเขตได้อย่างต่อเนื่องในระยะสั้นขอให้ สปสช.และสป.สธ. ติดตามและเสนอข้อมูลบริการให้ระดับเขตให้กับทุกฝ่ายอย่างสม่ำเสมอ ตามความจำเป็นเพื่อการปรับปรุงระบบต่อไป ในระยะยาวขอให้เร่งรัดการจัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่ธุรกรรมเบิกจ่ายระดับชาติ(national data clearing house) ให้สามารถเป็นผู้สนับสนุนข้อมูลพื้นฐานต่อไป โดยให้มีการกำหนดให้ชัดเจน

นอกจากมติดังกล่าวแล้ว ที่ประชุมยังได้เห็นชอบกรอบการตั้งงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2559 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป