ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานการณ์ความขัดแย้งในระบบหลักประกันสุขภาพรอบล่าสุด ที่ปะทุขึ้นมาปีกว่า และยังคงยืดเยื้อชนิดที่ไม่แน่ใจว่า ถึงที่สุดแล้วสถานการณ์นี้จะจบลงอย่างไรนั้น ประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วงคือ ความขัดแย้งครั้งนี้อาจจะกำลังทำให้ระบบสุขภาพไทย ซึ่งมีขอบเขตมากกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพหรือระบบประกันสุขภาพภาครัฐ (แต่เป็นส่วนที่สำคัญมากในระบบสุขภาพไทย) ติดกับดักและไม่สามารถพัฒนาเดินหน้าไปได้อย่างที่ควรจะเป็น

ขณะที่มุมมองมองอีกด้าน กลับมองว่า ความขัดแย้งที่เกิดจากความเห็นต่างนั้น จะเป็นตัวที่ก่อเกิดทำให้ระบบสุขภาพของไทยเดินหน้าไปได้ เพราะผ่านการปะทะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนความเห็นต่างจนตกผลึกและนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพในภาพใหญ่ได้

ขณะเดียวกัน เมื่อมองหลักหมุดหมายที่สำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ปี 2558 ถือเป็นปีที่ 13 ที่ไทยสามารถทำให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้า และแน่นอนว่า เป้าหมายไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ แต่ต้องมีการพัฒนาและเดินหน้าต่อไป ซึ่งเป็นไปตามพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งยังคงมีภารกิจที่ท้าทายหลายประการในปัจจุบันและอนาคตสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นภาวะสังคมผู้สูงอายุ ความยั่งยืนด้านการคลัง การขยายตัวของเทคโนโลยี และการตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชน รวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และการสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ในระบบสาธารณสุขในประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ได้เกิดข้อเสนอด้านปฏิรูประบบสาธารณสุขที่หลากหลายและมีทิศทางตลอดจนการมุ่งเน้นเป้าหมายที่แตกต่างกัน กระทรวงสาธารณสุขเสนอการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการสาธารณสุข ผ่านกลไกเขตบริการสุขภาพ โดยเชื่อว่าเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขโดยใช้กลไกด้านการเงินการคลังได้ ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นำเสนอทิศทางการปฏิรูป โดยเน้นที่การกระจายอำนาจ และความเท่าเทียมในการเข้ารับบริการสาธารณสุขดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทั้งสองหน่วยงานหลักในระบบสาธารณสุขให้ความสำคัญกับทิศทางการปฏิรูปที่ต่างกัน โดยฝ่ายหนึ่งมุ่งเน้น การเพิ่มประสิทธิภาพเป็นหลัก และความเท่าเทียมเป็นรอง ขณะที่อีกฝ่ายมุ่งเน้นเรื่องการสร้างความเท่าเทียมเป็นหลัก และประสิทธิภาพเป็นรอง

สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำซีรีย์ (series) ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้าขึ้น โดยสัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานในระบบสาธารณสุข ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียในระบบสุขภาพไทย จำนวน 15 คน เพื่อร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนในประเด็น ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้า และหวังว่าซีรีย์ชุดระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้านี้ จะนำไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมสำหรับทุกฝ่ายในการออกแบบระบบสุขภาพที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทยอย่างแท้จริง 

ตอนที่ 1 ‘นพ.รัชตะ’ ศึกกระทรวงหมอต้องจบบนโต๊ะเจรจา

ตอนที่ 2 ‘นพ.ณรงค์’ เขตสุขภาพ จุดเริ่มต้นปฏิรูประบบสาธาณสุข

ตอนที่ 3 ‘จอน อึ๊งภากรณ์’ อนาคตระบบสุขภาพต้องยุบรวมเหลือกองทุนเดียว

ตอนที่ 4 ต้องลงทุนสร้างระบบปฐมภูมิ วาระปฏิรูปในมุมมอง ‘อัมมาร สยามวาลา’

ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 5 นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์  ได้เวลากระจายอำนาจ รพ.  กระตุกรัฐชัดเจนการเงินการคลัง

นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์

การปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ในช่วง10 กว่าปีที่ผ่านมา มีการออก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ 2545 กระจายอำนาจบริหารการเงินการคลังออกจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาอยู่กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะ“ผู้ซื้อบริการ” โดย สธ. ปรับบทบาทมาเป็น “ผู้ให้บริการ” ทำให้ภาพของระบบสาธารณสุขของไทยพลิกโฉมไปอย่างมากมาย ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนขนาดไหน ก็มีหลักประกันด้านสุขภาพ ไม่ต้องล้มละลายขายบ้านขายรถมาจ่ายค่ารักษาตัวเหมือนในอดีตอีก

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าสำเร็จแค่ครึ่งเดียวเพราะกระจายอำนาจได้เฉพาะเรื่องการเงิน แต่ยังไม่เกิดการกระจายอำนาจบริหารจัดการไปยังหน่วยบริการ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการพูดเรื่องนี้มาโดยตลอด ทั้งข้อเสนอให้กระจายอำนาจในรูปแบบการองค์การมหาชน หรือ สธ.เอง ก็เสนอโมเดลเขตสุขภาพเขตสุขภาพ เป็นต้น แต่ก็ไม่มีการผลักดันจากรัฐบาลอย่างจริงจัง ขณะเดียวกัน การแยกอำนาจบริการการเงินการคลังออกจาก สธ. ก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง สธ.และ สปสช.เกิดความขัดแย้งกันเป็นระยะๆ ด้วย

นอกจากนี้ แม้จะมีการเปลี่ยนรูปแบบจัดการการเงินการคลังภายในตัวระบบเอง แต่ต้นทางงบประมาณก็ยังมาจากการจัดสรรโดยรัฐบาลแบบปีต่อปีเช่นเดิม ซึ่งก็เป็นคำถามถึงความยั่งยืนว่ารัฐจะแบกรับภาระงบประมาณได้นานแค่ไหนในอนาคต และจะมีหลักประกันอย่างไรว่าระบบสุขภาพจะได้รับการจัดสรรงบประมาณเพียงพอตามความจำเป็นอย่างสม่ำเสมอ

ปัจจัยทั้งหมดนี้ นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ กรรมการแพทยสภา ให้ความเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเดินหน้าปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่อีกรอบ ทั้งในมิติของการกระจายอำนาจบริการจัดการ และ การออกแบบหลักประกันด้านการเงินการคลังให้เพียงพอต่อความต้องการของระบบ

อย่าติดกับดักความสำเร็จ

นพ.ศุภชัย ให้ภาพระบบสุขภาพที่พึงปรารถนาในอนาคตว่า ควรเป็นระบบที่ให้บริการอย่างมีคุณภาพ ประชาชนเข้าถึงได้ และมีทางเลือกที่หลากหลายเหมาะสมกับสภาพทางเศรษกิจของแต่ละคน ไม่ควรมีอุปสรรคเมื่อจำเป็นต้องใช้บริการขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคด้านการเดินทาง หรือการเข้าถึง เช่น โรงพยาบาลแน่น รอคิวยาว ค่าใช้จ่ายสูง ฯลฯ

ขณะที่เมื่อมองระบบในปัจจุบัน นพ.ศุภชัย ให้ความเห็นว่ายังอยู่ระดับที่น่าพอใจหากเทียบกับประเทศที่มีฐานะเศรษกิจใกล้เคียงกับไทย ระบบสุขภาพไทยได้รับการยกย่องเป็นตัวอย่างในต่างประเทศ มีจุดเด่นที่ระบบการเงินการคลัง ทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ  ภายใต้ สปสช. ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ มีบริการเสริมต่างๆในภาคเอกชน รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็ยังไม่สูงมากนักหากเทียบเคียงกับประเทศอื่น มีความครอบคลุมของสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งหมดนี้ถือว่าน่าพอใจในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ส่งผลต่อระบบโดยรวม ปัจจัยระยะสั้น เช่น ความขัดแย้งที่เกิดในระบบ การขาดความคล่องตัวของหน่วยบริการ และการมีส่วนร่วมในระบบของประชาชน ชุมชนท้องถิ่นและสังคม ส่วนปัจจัยที่มีผลในระยะยาวคือเรื่องระบบการเงินการคลังที่รัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่าจะยังรับบทบาทเป็น “ผู้จ่าย” เพียงรายเดียวในระบบต่อไปหรือไม่ ถ้ายังจ่ายอยู่จะหาเงินมาจากไหน และถ้าจะจ่ายไม่ไหว จะมีระบบอะไรมารองรับ

นพ.ศุภชัย ชี้ว่า หากติดกับดัก คิดว่าความสำเร็จที่มีในขณะนี้พอเพียงแล้ว ไม่ยอมก้าวหน้าต่อไป ในอนาคตจะมีปัญหาความขัดแย้งไม่เข้าใจกันขยายกว้างออกไปเรื่อยๆ ทั้งระหว่างแพทย์ พยาบาลกับผู้ป่วย ระหว่างหมอชนบทกับหมอในเมือง ระหว่างบุคลากรในภาครัฐกับภาคเอกชน ซึ่งทำให้ทุกคนไม่มีความสุข

นอกจากนี้ จะเกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างภาครัฐกับเอกชน คนที่มีเงินซื้อประกันสุขภาพเอกชนได้ มีเงินจ่ายเพิ่มได้ ก็จะได้รับบริการที่มีคุณภาพในระดับที่เหนือกว่าคนที่อยู่ในภาครัฐ

ขณะเดียวกัน รัฐก็คงไม่มีความสามารถเป็นผู้จ่ายเงินรายเดียวในระบบสุขภาพไปได้เรื่อยๆ เพราะระบบที่ต้องพึ่งงบประมาณจากรัฐบาลเป็นรายปี รัฐต้องหาเงินภาษีมาแล้วแบ่งไปตามโครงการความเร่งด่วนหลายๆกระทรวง ซึ่งยากที่จะการันตีว่าระบบสุขภาพจะได้ส่วนแบ่งที่ควรจะได้เรื่อยๆ สัดส่วนงบประมาณของระบบสุขภาพจะมีปัญหาถ้าไม่มีแหล่งเงินที่ชัดเจน

“คิดหลวมๆ แค่นี้ ระบบสุขภาพในอีก 10 ปี ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าช่วงนี้เราทำอะไรได้มากแค่ไหน ถ้าทำอะไรไม่ได้ ปล่อยไปเรื่อยๆ ภาพมันก็ไม่ค่อยดี แต่ถ้าเราทำ มันก็ไปถึงจุดที่พึงปรารถนาได้แม้จะไม่ทั้งหมด”นพ.ศุภชัย กล่าว

ทำหน่วยบริการให้คล่องตัว

นพ.ศุภชัย กล่าวต่อไปว่า เมืองไทยมีระบบของรัฐเป็นระบบหลักในการขับเคลื่อนนโยบาย มีกำลังคนเยอะ แต่กลับเป็นระบบที่แข่งขันกับภาคเอกชนได้ยากขึ้นๆ ดึงบุคลากรได้ยาก เนื่องจากระบบบริหารจัดการที่รวมศูนย์ อีกทั้งมีแรงจูงใจต่ำ เกิดสภาพบุคลากรทำงานหลายทาง บางคนเปิดคลินิก บางคนไปทำโรงพยาบาลเอกชน ทั้งๆที่ไม่ได้อยากทำ เพราะวันๆหนึ่งต้องทำงาน 14-15 ชั่วโมง เรื่องนี้ไม่ใช่ความอยากได้เงินมากมาย แต่เพราะงานของรัฐงานเดียวยังการันตีศักดิ์ศรี การันตีสถานะทางสังคมในระดับที่พึงเป็นไม่ได้

“ฉะนั้นระบบตรงนี้ต้องกระจายออกไป ต้องทำให้สถานบริการของรัฐมีการบริหารจัดการที่คล่องตัว ตัดสินใจดำเนินการในเรื่องการใช้จ่ายเงิน เรื่องกิจกรรมต่างๆได้มากขึ้น มีระบบประเมินผลงานที่ตอบสนองต่อท้องถิ่น ไม่ใช่ตอบสนองที่ส่วนกลาง ถ้าผูกไว้ที่ส่วนกลางอย่างเดียวไปไม่ไม่รอด โรงพยาบาลต้องมีอิสระตัดสินใจได้เอง และต้องเป็น Working Place ที่คนทำงานมีความภูมิใจและประชาชนไว้วางใจ ต้องรักษาภาครัฐให้เป็น Benchmark สำหรับภาคเอกชนให้ได้ ไม่ใช่กลายเป็นสถานที่ชั้น 2 สำหรับบุคลากรที่ไม่มีทางไป  ต้องเป็นสถานที่ทำงานที่มีเกียรติ ดึงดูดคนดีได้”นพ.ศุภชัย กล่าว

กรรมการแพทยสภารายนี้ ให้ความเห็นด้วยว่า การทำหน่วยบริการให้คล่องตัวและเข้มแข็ง จะเป็นตัวช่วยควบคุมภาคเอกชนให้อยู่ในรูปในรอยได้เป็นอย่างดี เพราะเอกชนได้เปรียบรัฐอย่างเดียวในเรื่องความคล่องตัว ดังนั้นถ้ารัฐพัฒนาตัวเองให้คล่องตัวขึ้นมา ก็จะสร้างสมดุลย์กับเอกชนได้ กำหนดค่าบริการที่สมเหตุผล จะขึ้นราคาค่าบริการมั่วคงไม่ได้ ในทางกลับกัน ภาคเอกชนทุกวันนี้พัฒนาไปถึงระดับภูมิภาคแล้ว ก็ควรเปิดโอกาสให้ขยายบทบาทในระบบมากขึ้น ไม่ใช่มองด้วยสายตาว่าจะเป็นฝ่ายเอากำไรอย่างเดียว เพราะการรักษาพยาบาลในเมืองไทยก็เป็นส่วนหนึ่งที่นำชื่อเสียง นำรายได้มาสู่เศรษฐกิจประเทศ

ทดลองกระจายอำนาจหลายรูปแบบ

ในส่วนของทางเลือกการกระจายอำนาจนั้น นพ.ศุภชัย เชื่อว่าไม่มีรูปแบบไหนที่เป็น One size fit all ที่ผ่านมามีหลายกระแส เช่น ให้โรงพยาบาลเป็นอิสระแบบโรงพยาบาลบ้านแพ้ว หรือของ สธ.เองที่พยายามกระจายอำนาจออกเป็นเขต ซึ่งก็ยากที่จะพูดว่าแบบไหนดีกว่ากัน แต่ที่สำคัญคือต้องเปิดโอกาสให้ได้ทดลองแนวคิดกันได้แล้ว อย่ามัวแต่พูดแล้วไม่ได้ทำอะไร

“บ้านแพ้วมีจุดดีเยอะ ก็น่าจะมีโรงพยาบาลอื่นๆ ที่มีความพร้อมในระดับบ้านแพ้ว อย่างน้อยๆ 5-10 แห่ง ทดลองในระดับต่างๆแล้วดูว่าเป็นอย่างไร หรือ โรงพยาบาลที่ใหญ่ๆขึ้นมา การบริหารจัดการเป็นพวงแบบเขต ผมคิดว่ามันออกแบบได้ ควรทดลองให้มีความหลากหลาย ไม่ควรที่จะบอกว่าอะไรถูกอันเดียวแล้วเดินอันเดียว มันน่าจะเป็นพลวัตร ค่อยๆไป ค่อยๆสรุป อะไรที่เป็นของแท้มันจะยั่งยืน แต่ต้องเปิดโอกาสให้ทดลอง”นพ.ศุภชัย ให้ความเห็น

นพ.ศุภชัย ยังมองไปถึงการกระจายอำนาจส่วนหนึ่ง ออกไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ด้วยซ้ำ เพราะในระดับนานาชาติ อปท.รับผิดชอบงานสาธารณสุขเยอะมาก งานสาธารณสุขระดับต้นควรไปอยู่กับอปท.ได้ แต่ที่ผ่านมาเรื่องนี้ไม่คืบหน้าเพราะบุคลากรในระบบไม่พร้อม ไม่อยากไปอยู่กับอปท. ฯลฯ แต่อย่างน้อยก็น่าจะมีอปท.ที่พร้อมกระจายอำนาจได้

นพ.ศุภชัย ย้ำว่า เรื่องเหล่านี้คือสิ่งที่อยากให้ลองทำ ขณะที่บทบาทของส่วนกลางนั้นต้องเล็กลง ไม่จำเป็นต้องดูแลทั้งหมด ให้ดูแลเฉพาะหน่วยบริการที่ไปไม่ไหวเท่านั้น ส่วนหน่วยบริการที่เดินหน้าต่อไปได้ ก็ให้เดินหน้าต่อไป

หยุดทะเลาะแล้วหาจุดสมดุลย์

นพ.ศุภชัย ชี้ว่าความขัดแย้งในระบบ ระหว่างสธ.และสปสช. ทำให้ระบบรวนไปหมด เพราะแต่ละฝ่ายจะผลักดันการออกแบบระบบให้เป็นไปตามที่ตัวเองเชื่อและอยากเห็น ไม่ยอมหันหน้าคุยกัน

“สปสช.ก็อย่าติดยึดกับความเชื่อของตัวเอง อย่าหลงกับความสำเร็จที่ผ่านมา เพราะมันไม่การันตีอนาคต มันต้องพูดคุยกันหาจุดสมดุล และอนุญาตให้เกิดความหลากหลายในการพิสูจน์แนวคิดของแต่ละคน เพราะถ้าทะเลาะกันก็ไม่ได้เดินหน้า มันไม่มีระบบที่สมบูรณ์ ไม่ได้ 100%ทำไมไม่ตกลงกันที่ 50-60% ก่อน ที่เหลือก็ทนกันหน่อยแล้วก็พิสูจน์กันไป อัตตามันสูงก็ลดๆลงมา สปสช.มีจุดแข็งเยอะมาก แต่ก็ต้องรู้ว่าทำไมที่ผ่านมามีความขัดแย้งเยอะ กระทรวงก็ต้องดูตัวเองว่าอะไรที่พึงทำอะไรที่ไม่พึงทำ ก็ต้องคุยกัน”กรรมการแพทยสภารายนี้เสนอแนะ

สร้างหลักประกันการเงินการคลัง

อีกประเด็นนอกเหนือจากการกระจายอำนาจบริหารจัดการ นพ.ศุภชัย ยังมองว่าต้องเร่งสร้างความชัดเจนของที่มาของงบประมาณที่จะเข้าสู่ระบบสุขภาพ เพราะแนวโน้มในอนาคตจะต้องใช้เงินมากขึ้นยิ่งกว่านี้ ดังนั้นรัฐบาลต้องทบทวนนโยบาย อย่าหากินกับประชานิยมอย่างเดียว โดยเฉพาะนโยบายการเงินการคลัง ที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าแตะเพราะกลัวเสียชื่อ นี่ก็เป็นกับดักความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วรัฐบาลต้องตอบให้ได้ ว่าจะเป็นผู้จ่ายรายเดียวต่อไปไหวหรือไม่ไหว ถ้ายังจ่ายรายเดียว จะมีระบบอะไรการันตีว่าสถานพยาบาลจะได้งบประมาณเท่าที่ควรได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกแช่แข็งหรือหั่นงบหากรัฐเกิดปัญหาการเงินขึ้นมา

ขณะเดียวกัน ถ้ารัฐบาลบอกว่าจ่ายไม่ไหว ก็ต้องมีความชัดเจนว่าจะจัดสรรเงินที่มีอยู่ลงไปที่จุดไหน เพราะนิยามความเป็นธรรมตีได้หลายอย่าง จะจ่ายทุกคนเท่ากันหรือดูแลคนที่มีรายได้น้อยกว่า

“ผมตีความว่ารัฐบาลมีหน้าที่ดูกระเป๋าตัวเองแล้วดูว่าช่วยใครได้บ้าง เหมือนช่วยชาวนาตอนนี้ จ่ายทุกคนก็ไม่ไหว ก็เอามาจ่ายบางคน ระบบ 30บาทตอนนี้ก็ไม่ใช่ทุกคนได้ใช้ ก็ต้องประเมินกันจริงจังแล้ว”นพ.ศุภชัย กล่าว

ทั้งนี้ นพ.ศุภชัย มองว่า การออกแบบระบบหลักประกันสุขภาพที่ผ่านมา เดิมมองว่าการสร้างระบบที่แยกคนจนคนรวยเป็นไปได้ยาก แต่ปัจจุบันนี้ระบบไอทีดีกว่าเดิม จึงไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะออกแบบว่าคนกลุ่มไหนจะดูแลในระดับคุณภาพที่ดี คนกลุ่มไหนต้องจ่ายล่วงหน้าไว้แล้วถึงเวลาป่วยก็ไม่ต้องจ่ายเยอะ

“มันออกแบบได้ ผมมองว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ อย่าติดกับดักความสำเร็จ เปิดกว้าง ยอมมองดูในเชิงความเป็นจริงว่าจะปรับอะไรได้บ้าง”นพ.ศุภชัย ระบุ

นพ.ศุภชัย เสนอว่ารูปแบบการเงินการคลังที่พึงประสงค์นั้น 1.ต้องมีให้พอ 2.ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ มี value for money และ 3.เป็นธรรม ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วมองไปที่ระบบสวัสดิการสังคมเป็นหลัก โดยเป็นระบบที่สะสมเงินล่วงหน้า ไม่ต้องมาจ่ายเงินตอนป่วยหรือการันตีว่าตอนป่วยจ่ายแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ต้องเป็นระบบที่ดูความสามารถในการจ่ายของแต่ละกลุ่มและเปิดโอกาสให้มีสิทธิเลือกได้ เช่น ถ้าเป็นคนไข้ที่ฐานะยากจน ก็ต้องการันตีคุณภาพให้ได้ ไม่ใช่เป็นระบบชั้น 2 สำหรับคนจน และควรจ่ายเท่าที่จ่ายได้ จ่ายนิดหน่อยเพื่อไม่ให้ใช้บริการโดยไม่คิดถึงคุณค่า ขณะที่ในส่วนของคนที่มีกำลังจ่าย ก็ต้องให้จ่าย เป็นต้น

“มันออกแบบได้ ให้ไปเข้าประกันสังคมหรือซื้อประกันสุขภาพแล้วมาลดภาษีก็ได้ การออกแบบมันไม่ยาก มันมีระบบให้เลือกเยอะมาก”นพ.ศุภชัย กล่าว

ตอนต่อไป ติดตาม 3 กับดักจมปลักระบบสาธารณสุขไทย ‘นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช’

เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 5 มกราคม 2558