ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.รัชตะ เข้าร่วมประชุมผู้นำสุขภาพระดับโลกและระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ที่สิงคโปร์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย และการรับมือปัญหาสุขภาพภายหลังปี 2558 จากการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการดูแลผู้อพยพข้ามชาติที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ โดยเร่งสร้างความเข้มแข็งระบบการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การมีส่วนร่วมชุมชน เพื่อสร้างความยั่งยืนระบบการเงินการคลัง

วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2558) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข และคณะ เข้าร่วมประชุมหารือกับผู้นำด้านสุขภาพระดับโลก รวมทั้งผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก รัฐมนตรีสาธารณสุขจากกลุ่มประเทศอาเซียน ในประเด็น ความท้าทายในการให้บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายหลังปี พ.ศ. 2558 (Ministerial Meeting on Universal Health Coverage : the Post 2015 Challenge) ซึ่งประเทศสิงค์โปร์เป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2558

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการให้บริการสุขภาพในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ซึ่งประเทศไทยได้ให้บริการสุขภาพถ้วนหน้าแก่ประชาชนทุกคนในผืนแผ่นดินไทย บริการครอบคลุมทั้งการป้องกัน รักษาและฟื้นฟูอย่างครบวงจร ถึงแม้ว่าจะได้รับการชื่นชมในระดับนานาชาติในเรื่องดังกล่าว แต่ยังต้องมีการพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความท้าทายด้านสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ กว่าทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่ประชาคมโลกกำลังก้าวไปสู่การพัฒนาหลังปี พ.ศ.2558 (ค.ศ. 2015) ซึ่งความท้าทายที่สำคัญในการให้บริการสุขภาพถ้วนหน้า คือ ความต้องการด้านสุขภาพ (demand) ใน 3 ประเด็นใหญ่คือภาระโรคไม่ติดต่อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการให้บริการผู้อพยพข้ามชาติที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ เป็นต้น

“ปัญหาที่กล่าวมา ส่งผลต่อความยั่งยืนทางการเงินการคลังของระบบหลักประกันสุขภาพของไทยอย่างมาก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งในการสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promotion) การป้องกันโรค การมีส่วนร่วมของชุมชน การนำการประเมินความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการประเมินบริการสุขภาพ หรือเวชภัณฑ์ที่จะรวมในชุดสิทธิประโยชน์ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่ามีประสิทธิภาพและสร้างความยั่งยืนระบบการเงินการคลังของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ศ.นพ.รัชตะกล่าว

ศ.นพ.รัชตะ ยังได้กล่าวแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของไทย ในการจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสังคมที่มีผลต่อสุขภาพผ่านสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือสสส. และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำกรอบนโยบายด้านสุขภาพผ่านสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้วย ซึ่งสะท้อนความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบสุขภาพของไทยโดยมีการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาด้านสุขภาพภายหลังปี พ.ศ.2558 ที่ยั่งยืน