ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช.เร่งขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ แก้ปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น หลังพบไทยติดอันดับ 5 ท้องก่อนวัยในประชาคมอาเซียน กรมสุขภาพจิตจับมือชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดหวังลดตัวเลขท้องไม่พร้อมลง 10% ขณะที่พัฒนาสังคมฯ เร่งรณรงค์ปรับทัศนคติวัยรุ่นและเยียวยาแม่วัยทีน ขณะที่ชาวอุดรธานีเปิดเวทีสมัชชาสุขภาพอุดรธานีระดมพลังลดปัญหา หลังปี 2554 แนวโน้มดี พบอัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นลดลงแล้ว 5%

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช. เจาะประเด็นครั้งที่ 1/2558  “สานพลังสังคม...สกัดท้องวัยทีน" ณ ห้องประชุมสานใจ อาคารสุขภาพแห่งชาติ เพื่อรายงานความก้าวหน้าของฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ.2553 เรื่อง “การแก้ปัญหาวัยรุ่นไทยกับการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม”

.ส.อินฐิรา สายสิญจน์ นักพัฒนาสังคมชำนาญการ สำนักคุ้มครองสวัสดิภาพหญิงและเด็ก กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดข้อมูลจากสถิติสุขภาพโลก 2013 ขององค์การอนามัยโลก พบว่า ไทยมีอัตราการคลอดบุตรของวัยรุ่นระหว่าง 15-19 ปี ต่อหญิงวัยเดียวกัน 1,000 คน อยู่ที่ 47 คน จัดอยู่ในอันดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน แต่ก็ยังมีข้อมูลในทางที่ดีของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ที่พบว่า แม้อัตราการคลอดบุตรของวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-19 ปี จะมีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2546 ถึงปี 2550 แต่หลังจากหลายภาคส่วนร่วมมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง พบสัดส่วนลดลงจากอัตรา 46.60 ปี 2554 เหลือ 41.54  ในปี 2556 พม. เห็นว่าปัญหาเด็กและเยาวชนมีสาเหตุที่หลากหลาย อาทิ ปัญหาครอบครัวที่ขาดการสื่อสารที่ถูกต้อง สื่อและเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้โดยง่าย สภาพแวดล้อม รวมถึงปัญหาการพฤติกรรมเสพติด 3 ประการ ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การติดยาเสพติด และการติดความรุนแรงในหมู่วัยรุ่น พบปัญหาสำคัญจากการขาดวินัยในตนเองของเด็ก ไม่เคารพกติกาของสังคม รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดวุฒิภาวะ

ปี 2556 พม.จึงจัดทำโครงการ “เสริมสร้างคุณภาพเด็กไทยมีวินัยอย่างสร้างสรรค์” เน้นให้ความรู้เยาวชนในสถานศึกษา 40 โรงเรียนใน 4 ภาค ให้มีส่วนร่วมรณรงค์ โดยคัดเลือก “ดีเจทีน” ไปร่วมจัดรายการกับดีเจต้นแบบที่มีชื่อเสียงผ่านสถานีวิทยุ 4 ภาค เพื่อให้เยาวชนได้พูดคุยแนะนำวิธีการป้องกันตนเองจากปัญหากับเพื่อนในวัยเดียวกัน รวมถึงผู้ปกครองที่รับฟังรายการ เป็นโครงการที่มุ่งปลูกจิตสำนึก เปลี่ยนเจตคติ เสริมสร้างวินัยให้เด็กไทยมีพฤติกรรมที่เหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นได้

ในปี 2558 จะมุ่งเน้นสร้างเครือข่ายการทำงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมขับเคลื่อนและมีบทบาทป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นมากขึ้น โดยจัดทำโครงการเสริมสร้างบทบาทผู้นำทางความคิดแก่ผู้นำสตรี ผู้นำชุมชน  รวมถึงการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ “เพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนในกรณีเพื่อนมีปัญหาและมาปรึกษา ย้ำวัยรุ่นที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์หรือคลอดบุตรแล้ว แต่ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ สามารถฝากให้หน่วยงานของ พม. คือ บ้านพักเด็กและครอบครัว ที่มีอยู่ทุกจังหวัดให้ช่วยดูแลให้จนกว่ามารดาวัยรุ่นมีความพร้อมก่อนมารับกลับไปดูแล

ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาใน 3 ส่วน คือระบบโรงเรียน ชุมชน และปรับปรุงการบริการที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่น โดยมีเป้าหมายทั้งในเชิงป้องกันและแก้ไข เพื่อให้เข้าถึงปัญหาได้รวดเร็วก่อนที่เด็กจะตั้งครรภ์หรือตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์อย่างไม่มีคุณภาพ หรือเลือกทิ้งลูกไป

“การตั้งครรภ์ของสตรีในช่วงอายุน้อย ส่งผลกระทบสุขภาพของแม่และเด็ก อีกทั้งยังมีผลต่อคุณภาพชีวิตของแม่วัยรุ่น ส่วนเด็กเกิดใหม่ก็ต้องอยู่ในภาวะเสี่ยง เนื่องจากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด ถ้าสังคมไทยปล่อยให้ปัญหานี้ผ่านไป เท่ากับทุกคนกำลังรอรับคนรุ่นใหม่ที่เกิดจากการส่งต่อปัญหาจากรุ่นสู่รุ่น”

กรมสุขภาพจิตดำเนินโครงการหลักโดยร่วมกับโรงเรียนต่างๆ ปรับการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษา อบรมและทำกิจกรรมร่วมกับผู้ปกครองให้เข้าใจเรื่องเพศในวัยรุ่น และสื่อสารกับบุตรหลานอย่างถูกวิธี และยังได้ผลักดันโครงการ “ 1โรงพยาบาล 1 โรงเรียน” เพื่อส่งต่อเด็กที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมให้มีทางเลือก ทั้งยุติการตั้งครรภ์ หรือตั้งครรภ์ต่อ โดยได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง และจะเจาะกลุ่มโรงเรียนสายอาชีพ อาทิ อาชีวศึกษา จากเดิมมุ่งเน้นโรงเรียนมัธยม เนื่องจากพบว่าเป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พร้อมไปกับขับเคลื่อนร่วมกับชุมชนและภาคประชาสังคมจัดโครงการอำเภอสุขภาพ มุ่งทำกิจกรรมกับเด็กเยาวชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่นอกระบบโรงเรียนและกลุ่มพ่อแม่ในชุมชน

ในปี 2558 นี้ การดำเนินงานจะเน้นเจาะกลุ่มพื้นที่มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นต่อประชากรแตกต่างกัน บางพื้นที่มีสัดส่วนสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศหรือ 75 คนต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งต้องทำมาตรการเข้มข้น บางพื้นที่มีสัดส่วน 50 คน หรือ 20 คน ซึ่งต้องเน้นมาตรการเฝ้าระวัง เป็นต้น โดยมีเป้าหมายให้แต่ละพื้นที่ลดสัดส่วนการท้องในวัยรุ่นลงร้อยละ 10 ภายในปี 2568

นางเพ็ญศิริ ศรีจันทร์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ผู้แทนสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า จังหวัดอุดรธานีเคยมีปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่นในอันดับต้น โดยในปี 2556 มีสัดส่วนแม่วัยรุ่นที่อยู่ในช่วงอายุ 15-19 ปี จำนวน 59 คนจากประชากร 1,000 คน ปี 2557 ลดเหลือ 54คนต่อประชากร 1,000 คน และคาดว่าในปี 2558 จะเหลือประมาณ 39 คนต่อประชากร 1,000 คน เป็นผลมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการปัญหา เพื่อแก้ปัญหาสังคมและหยุดวงจรความเสี่ยง เนื่องจากแม่วัยรุ่นมักถูกจับแต่งงาน มีโอกาสไปสู่ปัญหาหย่าร้าง และเข้าสู่แรงงานที่ไม่มีคุณภาพเพราะไม่มีโอกาสเรียนต่อ เกิดปัญหาเศรษฐกิจตามมา เสี่ยงเข้าสู่การค้าประเวณี เอดส์ ยาเสพติด และสร้างปัญหาอื่นๆ ในสังคม ส่วนเด็กเกิดใหม่ที่เติบโตในครอบครัวที่ไม่มีความพร้อมก็มีความเสี่ยงจะเข้าสู่วงจรเดียวกับพ่อแม่

“กระบวนการสมัชชาสุขภาพ ทำให้เกิดพื้นที่และกลไกการทำงานของเครือข่ายหลากหลายภาคส่วนทั้งฝ่ายรัฐ วิชาการ ชุมชน และท้องถิ่นในพื้นที่ จากมติการแก้ปัญหาวัยรุ่นไทยกับการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่ปี 2553 ได้มีการขับเคลื่อนลงสู่ระดับจังหวัด โดยในปี 2556 สมัชชาสุขภาพจังหวัดอุดรธานีก็ได้นำประเด็นสุขภาวะเด็กและเยาวชน ซึ่งครอบคลุมเรื่องแม่วัยรุ่น เข้าพิจารณาหาทางออกร่วมกันด้วย และก่อให้เกิดการดำเนินงาน ติดตาม และประเมินผลอย่างต่อเนื่อง”

ที่ผ่านมาจังหวัดอุดรธานีจัดกระบวนการแก้ปัญหา โดยจัดทำยุทธศาสตร์ 5 ด้าน โดยวิเคราะห์จากปัจจัย 5 ด้านประกอบด้วย 1.ปัจจัยแวดล้อมเด็ก คือ ครอบครัว ชุมชน และโรงเรียน 2.ตัวเด็ก โดยพุ่งเป้าสื่อสารใหม่ในเรื่องเพศศึกษา 3.แก้ไขพฤติกรรมเสี่ยง 4.ผลกระทบต่อสุขภาพ และ 5.ผลกระทบสืบเนื่อง โดยมีการติดตามและประเมินผลการทำงานพร้อมกันด้วย

สำหรับการเรียนรู้เรื่องเพศนั้น ทำทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน มุ่งเน้นให้เด็กมีความรู้และมีทักษะในการดูแลตัวเองให้ปลอดภัย และเข้าถึงการบริการสุขภาพได้อย่างรวดเร็วด้วย ขณะเดียวกันก็มีการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้ผู้ใหญ่ในตำบลปรับวิธีคิดและสื่อสารเรื่องเพศในวัยรุ่นใหม่ เพื่อให้เด็กและผู้ใหญ่เข้าใจกันมากขึ้น

ขณะที่ .ส.จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้รับความสนใจจากหลายส่วน และรัฐก็มีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขเรื่องนี้ แต่ในทางปฏิบัติ แต่ละหน่วยงานยังต่างทำหน้าที่ หน่วยงานที่ทำในเชิงป้องกันและแก้ไขยังไม่ไปในทิศทางเดียวกัน และยังไม่ได้มองไปที่เป้าหมายเดียวกันที่ตัวเด็ก

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เน้นทำเชิงป้องกัน ยังมีทัศนคติเดิมๆ ว่าเด็กที่พลาดเป็นเด็กใจแตก ทำให้เด็กไม่กล้า ที่จะเดินไปขอความช่วยเหลือ ดังนั้น ผู้ทำงานเชิงป้องกันต้องเปลี่ยนมุมมองว่าการผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เพื่อให้เด็กกล้ามาปรึกษาในทุกเรื่อง เช่น อาจปรึกษาตั้งแต่มีผู้ชายมาจีบ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยหยุดยั้งความรุนแรงของปัญหา และช่วยหยุดยั้งการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้ ขณะเดียวกันต้องให้เด็กเรียนรู้เรื่องเพศ (literacy) มุ่งเน้นให้ฉลาดรู้เรื่องเพศ เท่าทันเรื่องเพศ ไม่เน้นการข่มขู่

สำหรับการทำงานของมูลนิธิฯ พยายามสร้างสะพานข้ามข้อจำกัด มุ่งปรับทัศนคติของบุคคลที่เกี่ยวข้องให้เห็นว่าเพศในวัยรุ่นเป็นเรื่องธรรมชาติ และเด็กไม่ใช่ตัวปัญหา แต่เป็นผู้ประสบปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือ ขณะเดียวกันมูลนิธิฯ ยังเน้นทำงานเชื่อมโยงเครือข่ายและบูรณาการการทำงานทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานให้บริการให้เด็กเข้าถึงได้อย่างครบวงจร