ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปธ.ชมรม ผอ.รพช. ชี้ “เวทีประชาพิจารณ์ บัตรทอง” เปิดรับฟังความเห็นครอบคลุมทุกภาคส่วน จากนี้เป็นหน้าที่ บอร์ด สปสช.พิจารณาข้อเสนอปรับการบริหารต่อไป เสนอตั้ง “กรมโรงพยาบาลภูมิภาค” ปรับโครงสร้าง สป.สธ. แยกบทบาทผู้ให้บริการ เพื่อถ่วงดุล เหตุปัจจุบัน สธ.ทำหน้าที่ทั้งผู้ให้บริการและตรวจสอบประเมิน เกิดปัญหาธรรมาภิบาลในระบบ  

นพ.พรเจริญ เจียมบุญศรี 

14 ก.พ.58 นพ.พรเจริญ เจียมบุญศรี ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) กล่าวถึงการประชุมรับฟังความเห็นต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระดับประเทศที่ผ่านมาว่า เท่าที่ดูภาพรวมเห็นว่าเป็นเวทีการรับฟังที่ดีและครอบคลุมผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น รพ.สังกัด สธ.  ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้รับบริการ หรือแม้แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เองในฐานะผู้บริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหลังจากนี้ทาง สปสช.คงจะสรุปและพิจารณาว่าข้อเสนอใดที่เป็นไปได้และควรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็คงนำเสนอบอร์ดเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งบอร์ด สปสช.ประกอบด้วยตัวแทนทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนภาครัฐ เอกชน ผู้เชี่ยวชาญ และประชาชน ทำให้สามารถมองข้อเสนออย่างรอบด้านและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนที่ดีได้

นพ.พรเจริญ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอในประเด็นต่างๆ นั้น ทางคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ สปสช. คงจะทำการรวบรวมความเห็นเพิ่มเติมจากพื้นที่ต่างๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ อย่างประเด็นที่ขอให้มีการแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งต้องเข้าใจวิธีคิดก่อนว่า มาจากการมองภาพรวมของเงินเดือนในระบบรักษาพยาบาลทั้งหมด ไม่แต่เฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่รวมถึงในส่วนของประกันสังคม ข้าราชการ เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในระบบได้ 

ทั้งนี้ในเวทีรับฟังความเห็นต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ นพ.พรเจริญ กล่าวว่า ในฐานะชมรม ผอ.รพช. ได้นำเสนอแนวคิดการปรับโครงสร้างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) เนื่องจากปัจจุบัน สป.สธ.มีบทบาทการทำหน้าที่กรมในการดูแล รพ.ในสังกัดกว่า 800 แห่ง และยังทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและประเมินผลหน่วยบริการ จึงเห็นว่าบทบาท สป.สธ.เป็นการทำหน้าที่ของผู้ให้บริการและผู้ตรวจสอบในหน่วยงานเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาในแง่ของธรรมมาภิบาล โดยเฉพาะในแง่ของการประเมินและตรวจสอบที่อาจให้คุณให้โทษ และไม่ตรงไปตรงมาได้ ดังนั้นจึงเสนอให้แยกบทบาทผู้ให้บริการออก โดยจัดตั้งเป็น “กรมโรงพยาบาลภูมิภาค” เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลกัน

“การแยกบทบาทผู้ให้บริการออกจาก สป.สธ. และตั้งเป็นกรม รพ.ภูมิภาคเป็นเพียงแนวคิด ส่วนจะทำได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเห็นว่าระบบจะต้องมีการถ่วงดุลระหว่างผู้ซื้อบริการ (สปสช.) ผู้ให้บริการ และผู้ทำหน้าที่ประเมินและตรวจสอบการใช้งบประมาณ แต่ที่ผ่านมาบทบาทผู้ให้บริการและผู้ทำหน้าที่ประเมินรวมอยู่ในหน่วยงานเดียวกัน จึงทำให้เกิดความโน้มเอียง และผลประโยชน์ทับซ้อนได้” ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนกล่าว

นพ.พรเจริญ กล่าวว่า ที่นำเสนอในเวทีรับฟังความเห็นเพื่อจุดประกายความคิดเท่านั้น เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่าง สป.สธ. และ สปสช. เป็นเรื่องของการบริหารงบประมาณ ซึ่งหากย้อนดูในอดีต สธ.เป็นผู้ทำหน้าที่ทั้งหมด ทั้งเป็นผู้จัดบริการ ผู้ให้บริการ และยังเป็นผู้ประเมินและตรวจสอบ แต่ภายหลังมีปัญหาการจัดสรรงบประมาณที่เกิดการทุจริตขึ้น โดยมีอดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขถูกตัดสินจำคุกมาแล้ว จึงทำให้เกิด สปสช.เพื่อถ่วงดุลทำหน้าที่บริหารงบประมาณขึ้น แต่หลังดำเนินมา 12 ปี ก็มีปัญหาในแง่การบริหารงบประมาณในมุมมองของ สป.สธ. ดังนั้นเมื่อ สป.สธ.มีข้อเสนอเพื่อให้ สปสช.ส่งงบกลับมายัง สป.สธ.เพื่อบริหาร ก็พูดไม่ได้เต็มปากแม้จะมีปัญหาการจัดสรรงบในหน่วยบริการจริงก็ตาม ดังนั้นจึงควรมีหน่วยงานที่ดูแลด้านงบประมาณของหน่วยบริการโดยตรง

“แม้กรมโรงพยาบาลภูมิภาคจะเป็นหน่วยงานภายใต้ สธ. แต่ก็จะมีอธิบดีที่ดูแลโดยตรงที่คอยคานอำนาจ เพราะไม่เช่นนั้นในระบบก็จะมี ปลัด สธ.ทำหน้าที่ทั้งเป็นผู้ออกนโยบายและตรวจสอบประเมิน รพ. ดังนั้นจึงควรแยกบทบาทเพื่อให้ สป.สธ.ทำหน้าที่ในการดูงานด้านระดับนโยบายที่เป็นปัญหาของประเทศจริงๆ” ประธานชมรมผู้อำนวยโรงพยาบาลชุมชน กล่าว

ต่อข้อซักถามว่า ทำไมจึงไม่เสนอแยกกรมโรงพยาบาลภูมิภาคให้เป็นหน่วยงานอิสระจาก สธ. นพ.พรเจริญ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนเห็นด้วย และควรกระจาย รพ.ให้กับ อปท.ดูแล ซึ่งที่ผ่านมาก็มีกฎหมายกระจายอำนาจกำหนดไว้ แต่ที่ผ่านมา สธ.ยังไม่มีการกระจาย รพ.ในสังกัดออกไป ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับผู้บริหาร แต่อาจเป็นปัญหาความไม่มั่นใจของเจ้าหน้าที่หากต้องแยกไปอยู่ภายใต้ อปท. ขณะที่การเมืองยังขาดความเข้มแข็งต่อนโยบายนี้ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงขอเสนอให้เป็นกรมหนึ่งในสังกัด สธ.ไปก่อน ซึ่งพอจะมีความเป็นไปได้บ้าง แต่หากเสนอให้แยกเป็นหน่วยงานต่างหากโครงสร้างนี้คงไม่มีทางเกิดขึ้นได้