ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ท่ามกลางความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ชาวเขาหลายเผ่าพันธุ์ทั้ง ม้ง อาข่า ไทยใหญ่ ละหู่ ในอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งชาวเขาเหล่านี้มีภาษาที่ใช้ในชนเผ่าแตกต่างกันไป ดังนั้นการสื่อสารจึงเป็นอุปสรรคของชาวเขาหากจะเข้ามารับบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาล

นายภูไท อยู่ลือ 

นายภูไท อยู่ลือ ตำแหน่งล่ามแปลภาษาต่างประเทศ รพ.แม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เล่าให้ฟังว่า มาทำงานที่ รพ.แม่ฟ้าหลวงเมื่อปี 2543 ในตำแหน่งผู้ดูแลเด็ก และหลังจากนั้นได้เปลี่ยนมาเป็นล่ามภาษาต่างประเทศ เนื่องจากว่า ในแต่ละวันที่ รพ.แม่ฟ้าหลวงจะมีชาวเขาเผ่าต่างๆ เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก ปัญหาที่พบคือ การสื่อสารที่สับสนระหว่าง แพทย์ พยาบาล กับคนไข้ โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ และผู้ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ภาษาที่ใช้จึงเป็นภาษาที่พูดในของเผ่าของเขาเอง ซึ่งต่างจากเด็กและวัยรุ่นที่ปัจจุบันได้เรียนหนังสือจึงพูดสื่อสารภาษากลางได้

ด่านแรกที่จะต้องมาเจอล่าม คือ จุดคัดกรองผู้ป่วย ล่ามต้องสอบถามว่า ใครป่วยเป็นอะไรมา และยังต้องทำหน้าที่ล่ามระหว่างที่แพทย์ทำการรักษาด้วย เพื่อให้ทั้งเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งสองฝ่าย

ปัจจุบันล่ามใน รพ.แม่ฟ้าหลวงมีทั้งหมด 6 คน กระจายไปยังตามจุดต่างๆ ของโรงพยาบาล นายภูไท บอกว่า ล่ามภาษามีความจำเป็นมากๆ สำหรับพื้นที่ที่มีหลายชาติพันธุ์แบบที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง ขณะที่การมีรอยยิ้มและอัธยาศัยที่ดี น้ำเสียงที่เป็นมิตรของล่าม จะช่วยให้บรรยากาศของโรงพยาบาล และผู้ป่วยดีขึ้น

นายภูไท บอกว่า ล่ามที่ดีจะต้องมีหัวใจของการเป็นล่าม ไม่แบ่งแยกชนชั้น เข้ากับผู้อื่นได้ง่าย มีจิตสาธารณะ ในอนาคตจะมีการจัดทำคู่มือล่าม 3 ภาษาคือ จีน อาข่า ละหู่ ไว้แจกจ่ายให้กับบุคลากรของโรงพยาบาล และประชาชน

ในปี 2558 นี้ นายภูไท ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ตำแหน่งล่าม ได้รับเงินเดือน 9,900 บาท การได้เลื่อนตำแหน่งและเงินเดือนเพิ่มนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจภายในครอบครัวของนายภูไทดีขึ้นด้วย และทุกวันนี้เขาไม่ได้ทำหน้าที่ล่ามเพียงอย่างเดียวเท่านั้น พอว่าง เขาจะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลอีกด้วย เพื่อกระจายข่าวสารไปให้ชาวบ้าน ด้วยภาษาประจำเผ่าต่างๆ อีกทั้งยังเป็นวิทยากรรับเชิญไปบรรยายให้กับหน่วยงานต่างๆ เรื่องของปัญหายาเสพติด จนคนในพื้นที่เรียกเขาจนติดปากว่า “หมอภูไท” ซึ่งได้สร้างความภูมิใจให้กับเขาเป็นอย่างมาก และรู้สึกว่า งานที่เขาได้ทำนั้นเป็นงานที่ได้บุญ สร้างความภูมิใจ  เป็นงานที่ได้กุศลเยอะมากจากการช่วยเหลือผู้อื่น

นอกจากนี้นายภูไท ยังใช้เวลาว่างเรียนต่อ เพื่อหาความรู้เพิ่มเติมให้กับตัวเองโดยเริ่มจากการเรียนที่ กศน. ในพื้นที่ จนปัจจุบันเขาได้ศึกษาต่อในระดับ ปวส.

ตลอดระยะเวลา15 ปี ที่นายภูไท ทำงานที่ รพ.แม่ฟ้าหลวงมาโดยตลอด เมื่อถามว่า ทำไม่ไม่เปลี่ยนงานไปทำที่อื่นบ้าง เขาตอบว่า เคยคิดนะ แต่เมื่อคิดอีกทีก็ไม่อยากไปเริ่มต้นใหม่ที่ไหนอีก เพราะเขาเคยรับปากกับผู้อำนวยการคนเก่า ว่าเขาจะอยู่เป็นล่ามที่ รพ.แม่ฟ้าหลวงตลอดไป

อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจของนายภูไทคือ การเป็นคนพื้นที่สูง ไม่มีสัญชาติ ที่จากเดิมแค่ประวัติของคนพื้นที่สูง เผ่าอาข่า เป็นบัตรสีฟ้า ซึ่งเขาโชคดีมากที่ใช้เวลาเพียงปีกว่าๆ ก็ได้สัญชาติไทยมา มีบัตรประชาชน

“เมื่อได้สัญชาติไทยมาแล้ว รู้สึกภูมิใจว่า เราเป็นคนไทยอย่างเต็มตัว แต่เดิมมีคนบอกเราว่า เราจะอยู่ได้เฉพาะในพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวงเท่านั้น แม้ว่าเราจะเป็นคนเผ่าอาข่า แต่เราพูดภาษาไทยได้ เราคิดว่าเราเป็นคนไทย และเคยน้อยใจว่า ทำไมพวกเราจึงมีข้อจำกัดในการเดินทาง ซึ่งความคิดนี้ไม่ใช่แค่เราคิดคนเดียว แต่ตอนนี้เราสามารถไปไหนมาไหนได้แล้ว เพราะเราเป็นคนไทยมีสัญชาติไทยด้วยเหมือนกัน”

สุดท้าย นายภูไท บอกว่า ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เช่น แม่วัยใส เด็กติดเกม ล้วนแล้วมีสาเหตุหลักมาจากสถาบันครอบครัวถ้าเรามีสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง และแข็งแรงปัญหาต่างๆ ก็จะไม่เกิด ทุกวัวนี้ตนจึงให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นอย่างมาก

เรื่องที่เกี่ยวข้อง