ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : เครือข่ายชนเผ่าฯรวมพลร้อง 'ประยุทธ์ '17 กุมภาฯ ขอปรับแก้ตัวเลขคนไทยรอพิสูจน์สถานะอีก 3.8 หมื่นคน

ตามที่ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรียกประชุมตัวแทน 37 องค์กรด้านสาธารณสุขและเครือข่ายแพทย์ตามแนวชายแดน เพื่อหารือแนวทางการช่วยเหลือบุคคลที่มีปัญหาทางสถานะและสิทธิที่ยังตกค้างอยู่อีก 208,631 คน หลังจากก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ให้ สธ.ตั้งกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขแก่บุคคลกลุ่มนี้ 457,409 คน โดยกลุ่มที่ตกค้างนั้น ทาง สธ.มีข้อสรุปว่าจะเสนอเข้า ครม.พิจารณาเพิ่มเติมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แต่ปรากฏว่าล่าสุด สธ.กลับออกมาให้ข่าวว่า จะเสนอกลุ่มดังกล่าวเพียง 170,535 คนเท่านั้น

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นายวิวัฒน์ ตามี่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) กล่าวว่า ทาง 37 องค์กรด้านสาธารณสุข อาทิ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) กลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา และเครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง (คสช.) รู้สึกผิดหวัง เนื่องจากเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นพ.สมศักดิ์เรียกประชุมทางกลุ่มและพูดถึงยุทธศาสตร์ดูแลหลักประกันสุขภาพของบุคคลที่มีปัญหาทางสถานะและสิทธิ ซึ่งทางกลุ่มมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะมียุทธศาสตร์ดูแลระยะยาว แต่ในทางกลับกันก็ต้องดูแลกลุ่มคนในระยะเร่งด่วน ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นคนไทยแต่ยังไม่ได้สถานะบุคคล ทำให้ขาดสิทธิด้านสุขภาพ ทั้งๆ ที่เป็นคนไทยเช่นกัน จึงขอพิจารณาตัวเลขกลุ่มคนที่ตกค้างเพื่อเข้าสู่กองทุนคืนสิทธิที่ สธ.ดูแลอยู่ เดิมมีอยู่ประมาณ 457,409 คน ขอเพิ่มอีก 208,631 คน แต่ล่าสุด สธ.กลับให้ข่าวว่าจะมีการเสนอตัวเลขคนกลุ่มนี้ เพื่อขอมติ ครม.เข้ากองทุนคืนสิทธิเพิ่มเติมเพียง 170,535 คนเท่านั้น

"การเสนอตัวเลขเพียง 170,535 คน ซึ่งเป็นข้อมูลเก่าและน้อยกว่าข้อเท็จจริงถึง 38,096 คน หาก สธ.ไม่ปรับเปลี่ยนตัวเลข ย่อมหมายถึงว่าคนกลุ่มนี้กว่า 3 หมื่นคน จะถูกลอยแพกลายเป็นคนไร้สิทธิ ไม่สามารถเข้ารับบริการสุขภาพได้ตามสิทธิของกองทุนฯที่ สธ.ดูแล ที่สำคัญโรงพยาบาลต่างๆ ก็ต้องรับดูแลเพราะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ถามว่าแล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร" นายวิวัฒน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่ม 38,096 คน เป็นบุคคลรอพิสูจน์สถานะกลุ่มไหน นายวิวัฒน์กล่าวว่า กลุ่มนี้คือลูกหลานของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ พูดง่ายๆ คือ ลูกหลานของกลุ่มตัวเลข 170,535 คนนั่นเอง ซึ่งพวกเขาเกิดในแผ่นดินไทย เป็นคนไทยที่ยังไม่ได้สถานะ แต่พวกเขาสมควรได้รับสิทธิสุขภาพอยู่ในกองทุนคืนสิทธิ ที่สำคัญตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขใหม่ที่ได้มาจากกรมการปกครอง ข้อมูลอัพเดต ณ วันที่ 29 มกราคม 2558 จึงไม่เข้าใจว่าทาง สธ.ทำไมถึงไม่เอาตัวเลขใหม่ แต่ไปเอาตัวเลขเก่าเพื่ออะไร หรือว่าลูกหลานที่เกิดในแผ่นดินไทยไม่สำคัญ

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะหารือกับ นพ.สมศักดิ์หรือทางผู้บริหาร สธ.หรือไม่ นายวิวัฒน์กล่าวว่า ไม่อีกแล้ว เพราะเลยขั้นตอนหารือกับทาง สธ. เนื่องจากพูดคุยกันมาหลายครั้ง มีการเสนอตัวเลขอัพเดตแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับความสนใจ ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาด้านสิทธิขั้นพื้นฐานสาธารณสุขของกลุ่มคนไร้สถานะมีความถูกต้อง ในวันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ ทาง 37 องค์กรด้านสาธารณสุขฯจะรวมตัวกันมากกว่า 50 คน ไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อเข้ายื่นหนังสือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบสถานการณ์ปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไข พร้อมกับเร่งรัดให้แก้ไขตัวเลขคนไร้สถานะให้ถูกต้อง ก่อนเสนอเข้า ครม.พิจารณา

วันเดียวกัน 37 องค์กรด้านสาธารณสุขฯได้ออกแถลงการณ์เรียกร้อง สธ.แก้ไขข้อเสนอจัดการสิทธิสุขภาพคนไร้สถานะและสิทธิให้ถูกต้อง เร่งรัดนำเข้า ครม.ขอมีส่วนร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ โดยแถลงการณ์ระบุว่าหลังจาก นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ สธ. และ นพ.สมศักดิ์ รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. หนึ่งในนโยบาย 10 ข้อ ที่ทั้ง 2 ท่านได้ประกาศไว้ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2557 คือ พัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงบริการสำหรับคนพิการ ประชากรที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ แต่ล่าสุด สธ.กลับเสนอตัวเลขบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเพียง 170,535 คน ซึ่งเป็นข้อมูลเก่า และทำให้อีก 38,096 คนต้องตกสำรวจ

ดังนั้น 37 องค์กรด้านสาธารณสุขฯขอเรียกร้อง ดังนี้ 1.นพ.รัชตะ และ นพ.สมศักดิ์ ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของ สธ. แก้ไขตัวเลขจำนวนกลุ่มคนไร้สถานะให้ถูกต้อง โดยให้ใช้ข้อมูลจาก ส่วนการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งแจ้งให้ นพ.สมศักดิ์ รับทราบอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ มี 208,631 คน ประกอบด้วย 1.1 กลุ่มที่มีบัตรประจำตัวประชาชน ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ประเภททะเบียนราษฎร ทร.38 ก โดยเลขประจำตัวหลักที่ 6 และ 7 เป็นเลข 8 และ 9  ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติในกลุ่มชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาอยู่ไทยเป็นเวลานาน แต่ตกสำรวจ  150,076 คน 1.2 กลุ่มบุตรของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่เกิดในประเทศไทยและได้รับการแจ้งเกิด มีสูติบัตร ได้เลข 13 หลักเป็นบุคคลประเภท 0 (บุตรของกลุ่มที่ 1) 56,672 ราย  1.3 กลุ่มคนที่ไม่สามารถพิสูจน์สถานะเกิดซึ่งนายทะเบียนได้จัดทำประวัติให้เป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 0 โดยเลขประจำตัวหลักที่ 6 และ 7 เป็นเลข 0 และ 0 (0-xxxx-00xxx-xx-x) 1,883 คน

2.หลังจากแก้ไขจำนวนกลุ่มคนไร้สถานะที่เป็นข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว คือ 208,631 คน ขอเรียกร้องให้เสนอเพิ่มกลุ่มคนไร้สถานะเข้าไปในกองทุนคืนสิทธินี้ เข้า ครม.โดยทันที โดยไม่ต้องรอนำเสนอเข้าพร้อมกับแผนยุทธศาสตร์การจัดการสิทธิในบริการสาธารณสุขของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในภาพรวม เพราะกลุ่มคนไร้สถานะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ตกหล่น ยิ่งรอนานยิ่งมีผล กระทบกับประชาชน และสร้างภาระให้กับโรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น 3.ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ สธ.ดำเนินการนั้น 37 องค์กร เห็นด้วยในการจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์การจัดการสิทธิในบริการสาธารณสุขของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในภาพรวม แต่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ที่ผ่านมาของ สธ.นั้นขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ สธ.เสนอตัวเลขกลุ่มคนไร้สถานะซึ่งเป็นตัวเลขเก่า และเป็นข้อมูลที่ผิดพลาดให้ ครม.พิจารณา ดังนั้น ขอให้กระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ของ สธ.เปิดกว้างให้ผู้มีส่วนร่วมได้จัดทำแผนดังกล่าว

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558